ความหมาย โรคผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis)
Contact Dermatitis หรือโรคผื่นระคายสัมผัส คืออาการผื่นแดงบนผิวหนังที่มักทำให้รู้สึกคันและไม่สบายตัว โดยมักเกิดหลังจากผิวหนังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือสารบางอย่างที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ในกรณีที่ผิวหนังชั้นนอกถูกทำลายอาจทำให้เกิดอาการผื่นคันขึ้นได้ง่ายขึ้น
Contact Dermatitis ไม่ใช่โรคติดต่อและไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หากทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารนั้นร่วมกับการดูแลตัวเองจะช่วยให้อาการดีขึ้น โดยทั่วไป ผื่นคันบนผิวหนังจะหายดีภายในระยะเวลาประมาณ 2–4 สัปดาห์
อาการของ Contact Dermatitis
Contact Dermatitis จะเกิดบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับสารก่อให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองโดยตรง โดยมากมักเกิดผื่นคันทันทีหรือภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังสัมผัสสารดังกล่าว และอาการอาจคงอยู่เป็นระยะเวลา 2–4 สัปดาห์
อาการของโรคอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง โดยอาการทั่วไปที่พบได้มีดังนี้
- มีผื่นแดงบนผิวหนัง มักทำให้รู้สึกคัน
- ผิวแห้งแตกหรือผิวลอกเป็นขุย
- ผิวบวมแดงหรือหนาขึ้น ผิวหนังอาจเปลี่ยนเป็นสีคล้ำกว่าปกติ เช่น เป็นสีม่วง น้ำตาลเข้ม หรือเทา
- เกิดตุ่มพุพอง และในบางครั้งอาจมีน้ำเหลืองไหลซึมออกมา
- รู้สึกแสบร้อน ผิวไวต่อแสง หรือมีอาการกดเจ็บบริเวณผิวหนังที่มีอาการ
หากผู้ป่วยสัมผัสสารที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้รุนแรง อย่างสบู่หรือผงซักฟอก อาการมักปรากฏหลังสัมผัสสารเหล่านี้บ่อยครั้ง แต่หากผื่นคันเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ อย่างเครื่องสำอางหรือเครื่องประดับที่ทำจากโลหะ อาการอาจเกิดในระยะเวลา 2–3 วัน
ในกรณีที่มีผื่นคันเกิดขึ้นและลุกลามอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าหรืออวัยวะเพศ อาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 สัปดาห์ หรืออาการข้างต้นส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ การใช้ชีวิตประจำวัน หรือความมั่นใจของผู้ป่วย ควรไปพบแพทย์
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของภาวะร้ายแรง
- รู้สึกเจ็บหรือมีอาการอักเสบของดวงตาและทางเดินหายใจ ซึ่งอาจเกิดจากการสูดดมสารก่อภูมิแพ้
- มีผื่นคันรุนแรงและทำลายเยื่อบุในช่องปากหรือในระบบย่อยอาหาร
- อาการผื่นคันแย่ลงอย่างฉับพลัน รู้สึกเจ็บหรือมีหนองไหลจากผิวหนัง และมีไข้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อของผิวหนัง
สาเหตุของ Contact Dermatitis
Contact Dermatitis เกิดจากการสัมผัสกับสารบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้บนผิวหนัง โดยแบ่งออกได้เป็นสองประเภทหลัก ดังนี้
ผื่นระคายสัมผัสจากสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง (Irritant Contact Dermatitis)
ผื่นระคายสัมผัสชนิดนี้พบได้บ่อยที่สุด โดยเกิดจากผิวหนังปกติมีปฏิกิริยาต่อสารบางชนิดที่ทำลายผิวหนังชั้นนอก ซึ่งทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันผิว ตัวอย่างสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองมีดังนี้
- สารทำความสะอาดทั่วไป เช่น สบู่ แชมพู ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม สารฟอกผ้าขาว คลอรีน เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดท่อน้ำอุดตัน
- พืชบางชนิด ดิน ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง
- ฝุ่นละอองจากขี้เลื่อยหรือขนสัตว์ ปูนซีเมนต์
- น้ำหอมหรือสารกันเสียในเครื่องสำอาง
- ผลิตภัณฑ์ผสมสารฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรีย
- น้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีต่าง ๆ
- สารเคมีอื่น เช่น แอลกอฮอล์ล้างแผล น้ำยาดัดผม สเปรย์พริกไทย น้ำมันก๊าด น้ำมันเครื่อง และน้ำกรดในแบตเตอรี่รถยนต์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการตั้งแต่ครั้งแรกที่สัมผัสสารหรืออาจมีอาการหลังสัมผัสสารเหล่านี้เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพพนักงานทำความสะอาด ช่างเสริมสวย บุคลากรทางการแพทย์ ช่างยนต์ หรือเกษตรกร อย่างไรก็ตาม ร่างกายของผู้ป่วยบางรายอาจสร้างภูมิต้านทานต่อสารระคายเคืองขึ้นได้เมื่อระยะเวลาผ่านไป
ผื่นระคายสัมผัสจากสารก่อภูมิแพ้ (Allergic Contact Dermatitis)
เมื่อผิวหนังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะตอบสนองโดยปล่อยสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ (Inflamatory Chemicals) อย่างฮิสตามีน (Histamine) ทำให้ผิวหนังเกิดอาการแพ้และคัน ตัวอย่างสารก่อภูมิแพ้ที่อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองมีดังนี้
- นิกเกิล มักพบในเครื่องประดับหรือหัวเข็มขัด
- ถุงมือยางหรือผลิตภัณฑ์จากยางอื่น ๆ
- น้ำหอมหรือสารเคมีในเครื่องสำอาง ครีมกันแดด และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เช่น สบู่และผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย
- น้ำยาย้อมผม น้ำยายืดผม หรือน้ำยาทาเล็บ
- น้ำยาฟอกหนัง
- พิษจากพืชบางชนิด เช่น ต้นพอยซันโอ๊ค (Poison Oak) ต้นพอยซันไอวี่ (Poison Ivy) และอาจพบได้ในเปลือกผลมะม่วงและเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น
- ยาบางชนิด อย่างยาปฏิชีวนะชนิดครีมและยาต้านฮิสตามีนชนิดรับประทาน
- สารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ใช้เป็นสารกันเสีย หรือใช้เพื่อฆ่าเชื้อโรค
- สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ อย่างละอองเกสรดอกไม้หรือละอองจากยาฆ่าแมลง
- ของใช้เด็ก เช่น ผ้าอ้อม ทิชชู่เปียกทำความสะอาดผิว (Baby Wipe) และเสื้อผ้าที่มีกระดุมโลหะหรือใช้สีย้อมผ้า เป็นต้น
ตามปกติแล้ว อาการคันจะเกิดเฉพาะบริเวณที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ โดยอาจมีอาการทันทีหากสัมผัสสารที่กระตุ้นการแพ้อย่างรุนแรง หรืออาจมีอาการเมื่อสัมผัสบ่อยครั้งหรือเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ หากร่างกายเกิดการแพ้ขึ้นครั้งหนึ่งแล้ว แม้จะสัมผัสสารก่อภูมิแพ้เพียงเล็กน้อยก็อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ขึ้นได้
การวินิจฉัย Contact Dermatitis
แพทย์จะวินิจฉัยจากการซักถามอาการ ประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและคนในครอบครัว รวมทั้งสิ่งของหรือปัจจัยที่ผู้ป่วยสงสัยว่าอาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ เช่น เครื่องสำอาง สัตว์เลี้ยง กิจกรรมหรืออาชีพที่ทำ จากนั้นแพทย์จะตรวจผิวหนังบริเวณที่มีผื่นคัน และอาจแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมโดยใช้วิธีการทดสอบสารที่ก่อให้เกิดผื่นแพ้สัมผัส (Patch Tests)
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดหรือมีผื่นแพ้ขึ้นซ้ำบ่อยครั้ง แพทย์มักแนะนำให้ทดสอบหาสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ โดยจะปิดพลาสเตอร์ไว้ที่บริเวณหลังของผู้ป่วยและทาสารเคมีต่าง ๆ ที่มีความเข้มข้นสูงในปริมาณเล็กน้อยลงบนผิวหนัง ก่อนจะทิ้งไว้เป็นเวลา 2-3 วัน โดยระมัดระวังไม่ให้โดนน้ำ และควรเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกหรืออยู่ในที่ที่อากาศร้อน จากนั้นแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาวินิจฉัยหาสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้อีกครั้ง
การรักษา Contact Dermatitis
โดยทั่วไป Contact Dermatitis อาจดีขึ้นได้เองหลังจากผิวหนังไม่ได้สัมผัสสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ทั้งนี้ การดูแลตนเองและการใช้ยาจะช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นได้
การดูแลตนเอง
ผู้ป่วยอาจใช้วิธีการดูแลตนเองเพื่อช่วยลดอาการระคายเคืองและบรรเทาอาการอักเสบของผิว ดังนี้
- หลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้ หลังจากการวินิจฉัยและทราบสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ในกรณีที่แพ้โลหะ ควรงดการสวมเครื่องประดับที่ทำจากโลหะหรือหลีกเลี่ยงการสวมใส่ที่สัมผัสผิวโดยตรง
- ตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการเกาผิวหนังที่มีอาการ เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลงหรือทำให้ผิวหนังติดเชื้อได้
- ทำความสะอาดผิวหนังที่สัมผัสสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองด้วยสบู่อ่อน ๆ และน้ำอุ่น
- ประคบเย็นด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำบนผิวหนังที่มีอาการประมาณ 15–30 นาที วันละ 2–3 ครั้ง
- อาบน้ำโดยผสมเบคกิ้งโซดา (Baking Soda) หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของข้าวโอ๊ต ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการของผิวแห้งและคัน
- ล้างมือให้สะอาดและซับน้ำออกให้แห้ง เมื่อรู้สึกว่าผิวแห้งให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของผิวชั้นนอก
- สวมถุงมือเพื่อป้องกันผิวหนังเมื่อต้องสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ในกรณีที่มีอาการแพ้ยางอาจเลือกสวมถุงมือผ้าหรือพลาสติกแทนการสวมถุงมือยาง และควรถอดถุงมือออกเมื่อชื้นเหงื่อ เนื่องจากเหงื่ออาจทำให้อาการคันแย่ลงได้
การใช้ยา
ยาที่ใช้ในการรักษา Contact Dermatitis ประกอบด้วยยาที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปและยาใบสั่งของแพทย์ ดังนี้
- ยาทาแก้คัน เช่น คาลาไมน์โลชั่น (Calamine Lotion) ครีมที่มีส่วนผสมของไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) หรือยาสเตียรอยด์ชนิดขี้ผึ้ง โดยทาบริเวณที่มีอาการวันละ 1–2 ครั้ง ต่อเนื่องประมาณ 2–4 สัปดาห์
- ยาแก้แพ้ในกรณีที่มีอาการคันอย่างรุนแรงหรือต้องการลดอาการแพ้ ได้แก่ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) หรือยาต้านฮิสตามีน
- ยาปฏิชีวนะอาจใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อบนผิวหนังเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
ภาวะแทรกซ้อนของ Contact Dermatitis
โดยทั่วไป Contact Dermatitis มักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ในบางกรณีที่ผิวหนังบริเวณที่มีอาการเริ่มมีหนองไหลซึมออกมาอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ เนื่องจากเป็นสภาวะที่เชื้อราและแบคทีเรียเติบโตได้ดี
การป้องกัน Contact Dermatitis
Contact Dermatitis ป้องกันได้ด้วยการตรวจหาสาเหตุของอาการแพ้และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อความระคายเคืองนั้น ๆ แต่หากเผลอสัมผัสสารที่ตนเองแพ้ ควรรีบล้างทำความสะอาดผิวหนังด้วยสบู่ที่อ่อนโยนและน้ำอุ่นทันที เพื่อป้องกันการเกิดผื่นคันบนผิวหนัง
อย่างไรก็ตาม หากไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ อาจป้องกันตนเองด้วยวิธีต่อไปนี้
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผสมน้ำหอม สี สารกันเสีย หรือผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดแพ้หรือระคายเคืองผิว (Hypoallergenic)
- ใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแรงให้ผิวชั้นนอก ลดความเสี่ยงที่ผิวจะเกิดการแพ้หรือระคายเคือง
- ควรทดสอบการแพ้ทุกครั้งเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยทาที่ผิวหนังบริเวณข้อพับหรือหลังใบหู ทิ้งไว้โดยไม่ล้างออกเป็นเวลา 2–4 วัน หากเกิดการระคายเคืองควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทันที
- สวมถุงมือ เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว เพื่อป้องกันการสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านหรือต้นไม้บางชนิด