โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies Virus) ที่พบในน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ติดเชื้อโรคชนิดนี้ ทั้งจากสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า เช่น สุนัข แมว กระต่าย กระรอก ลิง หรือค้างคาว โดยสาเหตุของการติดเชื้อไวรัสเรบีส์ในประเทศไทยที่พบบ่อยสุดคือ การถูกสุนัขกัด
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคร้ายแรงของมนุษย์ อาการมักปรากฏให้เห็นอย่างรวดเร็วและทำให้เสียชีวิตได้ โดยจากสถิติพบว่าผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตทั้งหมด เพราะปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อการรับมือกับโรคได้อย่างถูกวิธี
สาเหตุและกลุ่มเสี่ยงของโรคพิษสุนัขบ้า
การติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ส่วนใหญ่แล้ว เกิดจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด แต่คนอาจได้รับเชื้อไวรัสจากการถูกสัตว์เลีย ข่วน หรือน้ำลายจากสัตว์ที่ติดเชื้อกระเด็นเข้าสู่บาดแผล เยื่อบุปากหรือตา ซึ่งทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นเดียวกัน
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่เกิดได้กับคนทุกช่วงวัย แต่เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวในป่า และผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ระบาด มักมีโอกาสสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และอาจไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จึงมีความเสี่ยงสูงที่อาจติดเชื้อพิษสุนัขบ้ามากกว่าคนทั่วไป
สังเกตอาการของโรคพิษสุนัขบ้า
เมื่อได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะมีระยะฟักตัวสั้น ๆ ก่อนแสดงอาการของโรคออกมา โดยทั่วไปอาจใช้เพียงไม่กี่วันไปจนถึงประมาณ 2–8 สัปดาห์หรืออาจนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของปลายประสาทที่ตำแหน่งของบาดแผล และระยะทางจากบาดแผลไปยังสมอง เช่น ผู้ที่มีแผลบริเวณใบหน้า ศีรษะ ลำคอ หรือมือ อาจเกิดอาการได้เร็วกว่าการติดเชื้อส่วนอื่น และเมื่อเชื้อเข้าทำลายระบบประสาทส่วนกลาง อาจทำให้เกิดอาการได้ 2 ประเภท ดังนี้
1. อาการประเภทคลุ้มคลั่ง (Furious Rabies)
โรคพิษสุนัขบ้าประเภทคลุ้มคลั่งเป็นประเภทที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการกระวนกระวายและตื่นเต้นต่อสิ่งเร้าได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นแสง เสียง หรือลม สลับกับสภาวะปกติที่พูดคุยรู้เรื่อง และอาจมีอาการอื่น ๆ ดังนี้
- นอนไม่หลับ
- วิตกกังวล
- สับสน เพ้อ และหลอน
- กลืนลำบาก และกล้ามเนื้อกระตุกเกร็งขณะพยายามกลืนอาหารหรือน้ำ
- น้ำลายไหลผิดปกติ
- กลัวน้ำ
- คัน ปวดแสบร้อนในซีกที่ถูกกัด
- ชัก และหมดสติ
โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ที่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าประเภทคลุ้มคลั่งมักเสียชีวิตภายใน 5 วันหลังจากเริ่มมีอาการ
2. อาการประเภทอัมพาต (Paralytic Rabies)
โรคพิษสุนัขบ้าประเภทอัมพาตจะใช้เวลานานกว่าประเภทคลุ้มคลั่งในการแสดงอาการของโรค เมื่อเชื้อไวรัสเรบีส์เข้าทำลายสมองส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการแขนขาอ่อนแรงและอาจลามไปทั่วตัวทั้งซีกซ้ายและขวา จากนั้นจะเป็นอัมพาตและมักเสียชีวิตภายใน 11 วัน
วิธีป้องกันตัวเองเบื้องต้นจากโรคพิษสุนัขบ้าหลังถูกสัตว์กัด
เมื่อถูกสัตว์เลีย ข่วน หรือกัด ไม่ว่าแผลจะใหญ่หรือเล็กก็ตาม หากไม่แน่ใจว่าสัตว์ตัวนั้นฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้วหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้เสมอว่าเป็นสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
- รีบล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด เพื่อล้างเลือดและน้ำลายของสัตว์ออกจากแผล และฟอกแผลด้วยสบู่ 2–3 ครั้ง แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- เมื่อล้างแผลเสร็จ ให้ใช้ผ้าก๊อซซับแผลให้แห้งและเช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่แผล เช่น โพวิโดนไอโอดีน (Povidone Iodine) หรือแอลกอฮอล์ 70%
- กรณีที่แผลใหญ่มากและมีเลือดออกมาก ให้ใช้ผ้าก็อซสะอาดปิดปากแผลเพื่อห้ามเลือด แต่หากบาดแผลไม่ใหญ่มากและมีเลือดออก ไม่ควรปิดแผล ควรปล่อยให้เลือดไหลออกมา ไม่ควรบีบหรือเค้นแผล
- ผู้ป่วยควรไปโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในทันที โดยเฉพาะเด็ก เพื่อรับการตรวจและฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และอาจจำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยัก รับยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดตามอาการ
หากเป็นไปได้ควรจับสัตว์ตัวนั้นขังกรงประมาณ 10–15 วัน และให้อาหารสัตว์ตามปกติ เพื่อเฝ้าสังเกตอาการของสัตว์ หากสัตว์ตายในระหว่างขังให้นำซากมาตรวจพิสูจน์เชื้อภายใน 24 ชั่วโมง โดยติดต่อสำนักงานปศุสัตว์เขต ปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ หรือติดต่อฝ่ายควบคุมโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน กองควบคุมโรคระบาด กรมปศุสัตว์ ในกรณีที่เป็นสัตว์จรจัดหรือสัตว์ป่าไม่จำเป็นต้องติดตามหาสัตว์ตัวนั้น แต่ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มียารักษาโรคพิษสุนัขบ้า แต่หากผู้ป่วยได้รับวัคซีนถูกต้องทันเวลาก็สามารถป้องกันการติดเชื้อนี้ได้ หากโดนกัดบริเวณอวัยวะสำคัญที่มีเส้นประสาทไปเลี้ยงมาก เช่น ศีรษะ ใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ และมีบาดแผลลึกหรือมีขนาดใหญ่ แพทย์จะให้วัคซีนอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ซึ่งทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันทันทีโดยไม่ต้องใช้เวลาในการกระตุ้น
ในกรณีที่ถูกสัตว์ที่เคยฉีดวัคซีนประจำกัดและสัตว์มีอาการป่วย จะต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที แต่หากสัตว์ยังปกติให้สังเกตอาการของสัตว์ต่อไปอีก 10 วัน ถ้าสัตว์ไม่มีอาการผิดปกติก็ไม่จำเป็นต้องรับวัคซีน
สำหรับคนที่ถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ทราบประวัติกัด ให้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันทีให้ครบ 5 เข็ม ใช้เวลาในการฉีดประมาณ 1 เดือน ส่วนใหญ่แล้วเริ่มฉีดวัคซีนในวันแรกที่ถูกสุนัขกัด และวันที่ 3, 7, 14 และ 30 หลังสุนัขกัดตามลำดับ แต่อาจมีความแตกต่างกันตามสูตรของวัคซีนแต่ละชนิด
โรคพิษสุนัขบ้าป้องกันได้อย่างไร
เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสและมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจึงมีความสำคัญมาก โดยมีคำแนะนำดังนี้
- ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้แก่สัตว์เลี้ยงเมื่ออายุ 2–4 เดือน และฉีดซ้ำทุกปีตามที่สัตวแพทย์แนะนำ
- ห้ามนำสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจากป่ามาเลี้ยง หากเก็บลูกสุนัขหรือแมวมาเลี้ยง ต้องรีบนำไปพบสัตวแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าก่อน
- ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงไปในที่สาธารณะ และควรใช้สายจูงเมื่อออกไปเดินนอกบ้าน
- ไม่เข้าใกล้สัตว์ที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ ไม่ควรแหย่หรือรังแกให้สัตว์โมโห ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นอยู่กับสัตว์ตามลำพัง และสอนให้เด็กระมัดระวังเมื่ออยู่ใกล้สัตว์ต่าง ๆ
- ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าล่วงหน้าสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ชนบท ป่า และพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าและผู้ที่ใกล้ชิดกับสัตว์
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคร้ายแรง เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการแล้วมักไม่มีทางรักษาและเป็นอันตรายถึงชีวิต หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าอย่างทันท่วงที จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ควรระมัดระวังไม่ให้ถูกสัตว์กัดหรือข่วน และไปพบแพทย์ทันทีที่ถูกสัตว์กัด เพื่อพิจารณาการรับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน