โรครูมาตอยด์ อาการเริ่มต้น มักเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และไม่รุนแรง ผู้ป่วยมักรู้สึกปวดตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เป็น ๆ หาย ๆ นานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน และอาจรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ผู้ที่สังเกตอาการของตนเองและไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้รักษาและบรรเทาอาการของโรครูมาตอยด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรครูมาตอยด์ หรือโรคข้ออักเสบมาตอยด์ เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อของตัวเองจนเกิดการอักเสบเรื้อรัง ส่งผลต่อกระดูกข้อต่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงระบบอื่น ๆ ด้วย เช่น ผิวหนัง ตา ปอด หัวใจ และหลอดเลือด โรครูมาตอยด์มักพบในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 30– 50 ปี และเพศหญิงมักป่วยเป็นโรครูมาตอยด์มากกว่าเพศชาย
รู้จักโรครูมาตอยด์ อาการเริ่มต้น
อาการเริ่มต้นของโรครูมาตอยด์ที่พบในผู้ป่วยระยะแรกมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยอาจแตกต่างกันเรื่องบริเวณหรือจำนวนข้อต่อที่เกิดอาการ และระยะเวลาที่มีอาการ
อาการเริ่มต้นที่พบได้ในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ มีดังนี้
1. เจ็บหรือปวดตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย
ในระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยอาจค่อย ๆ เริ่มมีอาการเจ็บหรือปวดที่ไม่รุนแรงตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ปวดที่เท้า ข้อมือ แขน สะโพก โดยอาการปวดอาจรุนแรงขึ้นจนไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการปวดที่รุนแรงอย่างเฉียบพลันได้เช่นกัน
2. รู้สึกเหนื่อยล้า หรือไม่มีแรง
ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลียกว่าปกติ อาจรู้สึกอ่อนแรงโดยกะทันหัน จนไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ เช่น ยกของ ขับรถ รวมถึงความรู้สึกอ่อนเพลียคล้ายกับตอนเป็นไข้หวัดด้วย
นอกจากนี้ โรครูมาตอยด์ อาการเริ่มต้นอื่น ๆ อาจทำให้มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้นยิ่งกว่าเดิมได้
3. ข้อฝืดแข็ง
ผู้ป่วยอาจมีอาการข้อต่อฝืดแข็งที่ข้อมือ ข้อเท้า หัวเข่า ไหล่ หรือสะโพก มักรู้สึกเจ็บเมื่อขยับบริเวณข้อต่อที่ฝืดแข็ง จะเจ็บมากในตอนเช้า หรือเมื่อไม่ได้ขยับร่างกายเป็นเวลานาน ผู้ป่วยมักมีอาการเช่นนี้นานกว่า 1 ชั่วโมง และจะเริ่มขยับข้อได้ตามปกติเมื่อเคลื่อนไหวร่างกายเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว
4. ข้อบวม
ผู้ป่วยอาจมีอาการบวมที่ข้อมือ ข้อศอก หัวเข่า ข้อเท้า หรือข้อต่อกระดูกฝ่าเท้าและกระดูกนิ้วมือโดยไม่ทราบสาเหตุ และอาจแย่ลงหากอาการอักเสบรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดข้อร่วมด้วย โดยอาจมีอาการปวดก่อนหรือหลังเกิดอาการบวมก็ได้
หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์อาจแย่ลง โดยเกิดอาการอื่น ๆ อีก เช่น มีไข้อ่อน ๆ รู้สึกชา เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตาแห้ง ปากแห้ง มีปุ่มรูมาตอยด์ เจ็บอก และผิวหนังอักเสบที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย
ผู้ที่มีอาการที่อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรครูมาตอยด์นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ควรบรรเทาอาการด้วยการรับประทานยาแก้ปวดเอง เนื่องจากการใช้ยามากเกินไปเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง และทำให้อาการของโรครูมาตอยด์แย่ลงได้
แม้ว่าโรครูมาตอยด์เป็นโรคที่ไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ แต่ปัจจุบันมีวิธีรักษารูปแบบใหม่มากมาย ที่จะช่วยบรรเทาและชะลอความรุนแรงของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยจึงควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและบรรเทาอาการอย่างเหมาะสม