การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่มีอาการชักแบบผิดวิธีอาจทำให้อาการต่าง ๆ แย่ลง หรือทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บได้ ดังนั้น ควรศึกษาเรียนรู้การปฐมพยาบาลโรคลมชักในเบื้องต้นอย่างถูกต้อง เพราะแม้จะไม่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยหยุดชักได้ แต่ก็อาจช่วยให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากอันตรายหรืออาการบาดเจ็บอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในขณะชักได้
การปฐมพยาบาลโรคลมชัก
วิธีการปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักอาจแตกต่างกันไปตามอาการชักแต่ละประเภท ดังนี้
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับอาการชักทุกประเภท
อาการชักแต่ละประเภทอาจแตกต่างกันไปและเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่นาที ซึ่งการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นที่เหมาะสมกับอาการชักทุกประเภททำได้โดยการอยู่เคียงข้างผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มชักจนอาการสงบลงหรือผู้ป่วยฟื้นตัว หลังจากนั้นจึงพาผู้ป่วยไปอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัย และหากผู้ป่วยเริ่มมีสติพอพูดคุยได้ ให้ค่อย ๆ อธิบายผู้ป่วยอย่างง่าย ๆ ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น พร้อมกับคอยบอกให้ผู้ป่วยใจเย็น ๆ ทำใจให้สบาย และเมื่อผู้ป่วยดีขึ้นแล้วจึงค่อยโทรเรียกรถพยาบาลหรือญาติผู้ป่วยให้มารับตัวไปดูแลอย่างปลอดภัยต่อไป
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับอาการชักแบบชักกระตุกและเกร็ง (Tonic-Clonic Seizures)
โดยส่วนใหญ่ เมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการชัก หลายคนมักเข้าใจว่าเป็นอาการชักแบบชักกระตุกและเกร็ง ซึ่งวิธีเช็คว่าผู้ป่วยมีอาการอยู่ในประเภทชักกระตุกและเกร็งหรือไม่นั้น ทำได้โดยทดสอบการตอบสนองของผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยประเภทชักกระตุกและเกร็งจะไม่สามารถสนทนาโต้ตอบได้ ไม่ตอบสนองต่อการโบกมือในระดับสายตาหรือแม้แต่การเขย่าตัว หลังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ระยะเกร็ง (Tonic Phase) ที่กล้ามเนื้อจะเริ่มเกร็งตัวจนทำให้ผู้ป่วยตัวแข็งคล้ายแผ่นกระดานนานประมาณ 30-60 วินาที แล้วจึงเริ่มเข้าสู่ระยะชักกระตุก (Clonic Phase) ที่อาจนานหลายวินาทีหรือหลายนาที
โดยวิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักแบบชักกระตุกและเกร็ง มีดังนี้
- พาผู้ป่วยไปอยู่ในบริเวณพื้นอาคารที่ค่อนข้างกว้าง และจัดการให้บริเวณนั้นปลอดของแข็งหรือของมีคมอย่างเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากแก้ว รวมถึงดูแลไม่ให้มีคนมามุงหรือมาล้อมรอบบริเวณดังกล่าว เพื่อป้องกันผู้ป่วยได้รับอันตรายหรือได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติม
- หากผู้ป่วยสวมใส่เน็กไท ให้คลายเน็กไทรอบคอออกให้หลวมอย่างระมัดระวัง
- หากผู้ป่วยสวมแว่นตา ให้ค่อย ๆ ถอดแว่นตาออกอย่างระมัดระวัง
- หาหมอนหรือวัตถุอื่น ๆ ที่นุ่มมาหนุนรองศีรษะให้ผู้ป่วย
- พลิกตัวผู้ป่วยให้ตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้นและป้องกันการสำลัก
- โทรเรียกรถพยาบาลหากผู้ป่วยชักนานเกิน 5 นาที
ทั้งนี้ หากอาการต่าง ๆ เริ่มสงบลง ผู้ป่วยจะมึนงงและรู้สึกเซเล็กน้อย ก่อนจะกลับมาพูดคุยได้เป็นปกติอีกครั้ง ซึ่งในบางกรณี ผู้ป่วยอาจจำไม่ได้ว่าตัวเองทำอะไรไปหรือเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างในขณะชัก
ข้อควรระวังในการปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชัก
หลายคนอาจมีความเชื่อความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชัก ซึ่งในความเป็นจริงการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักในเบื้องต้นมีข้อห้ามต่าง ๆ ดังนี้
- ห้ามนำสิ่งของใส่เข้าไปในช่องปากขณะผู้ป่วยเกิดอาการชัก เพราะผู้ป่วยอาจพลาดกัดมือ หรือวัตถุดังกล่าวอาจทำให้ฟันของผู้ป่วยเสียหายได้ และควรหันศรีษะของผู้ป่วยตะแคงไปข้างใดข้างหนึ่งเพื่อป้องกันการสำลัก
- ห้ามปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่คนเดียว
- ห้ามตรึงแขนขาของผู้ป่วยหรือพยายามหยุดอาการชัก
- ห้ามทำซีพีอาร์ (CPR) เพราะผู้ป่วยจะเริ่มกลับมาหายใจได้เองหลังอาการชักสงบลง
- ห้ามให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารจนกว่าจะกลับมาเป็นปกติโดยสมบูรณ์
ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หรือไม่หลังมีอาการชัก ?
เนื่องจากการชักแต่ละแบบก็แตกต่างกันออกไป บางประเภทอาจมีอาการดีขึ้นได้จากการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นอย่างถูกวิธี แต่บางอาการก็อาจต้องรับการรักษาทางการแพทย์ในทันที ซึ่งผู้ป่วยโรคลมชักที่ต้องได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน มีลักษณะดังนี้
- ชักนานเกิน 5 นาที
- มีไข้
- เป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย
- กำลังตั้งครรภ์
- เป็นเด็กที่เพิ่งเคยแสดงอาการชักเป็นครั้งแรก
- ได้รับบาดเจ็บระหว่างที่ชัก
- ไม่ได้สติหลังจากอาการชักสงบลง
- หยุดหายใจหลังจากอาการชักสงบลง