ความหมาย โรคเท้าปุก
โรคเท้าปุก เป็นโรคความผิดปกติที่เท้าซึ่งมักเกิดกับเด็กตั้งแต่แรกเกิด ส่งผลให้มีเท้าบิดผิดรูปหรือผิดตำแหน่ง และอาจเกิดกับเท้าเพียงข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ โดยแพทย์จะแนะนำให้เด็กที่เป็นโรคนี้เข้ารับการรักษาทันทีหลังคลอด เพราะหากปล่อยไว้จนเด็กเข้าสู่วัยที่เริ่มยืนหรือเดินได้แล้ว อาจก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงถึงขั้นไม่สามารถเดินได้ แต่เด็กส่วนใหญ่ก็จะหายเป็นปกติได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด
อาการของโรคเท้าปุก
ผู้ป่วยโรคเท้าปุกจะมีลักษณะขาและเท้าที่ผิดปกติ ดังนี้
- เท้าโค้งงอผิดรูป หลังเท้าพลิกลงพื้น และส้นเท้าบิดเข้าด้านใน หากไม่ได้รับการรักษาอาจพบว่าเท้าบิดเข้าด้านในมากขึ้น จนเด็กต้องใช้หลังเท้าเป็นจุดรับน้ำหนักขณะยืนหรือเดิน
- กล้ามเนื้อน่องของขาข้างที่มีเท้าผิดปกติจะเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่
- เท้าข้างที่ผิดปกติมีขนาดเล็กกว่าเท้าข้างที่เป็นปกติโดยเฉลี่ยประมาณ 0.5 นิ้ว
ทั้งนี้ เท้าที่บิดผิดรูปมักไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ แต่ผู้ป่วยควรรีบเข้ารับการรักษาทันที เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการยืนหรือการเดินในอนาคตได้
สาเหตุของโรคเท้าปุก
โรคเท้าปุกเกิดจากการมีเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณเท้าสั้นกว่าปกติ ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ก่อให้เกิดความผิดปกติดังกล่าวได้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าเด็กที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมต่อไปนี้ อาจเสี่ยงต่อโรคเท้าปุกมากกว่าเด็กคนอื่น ๆ
- เด็กที่มีบุคคลใกล้ชิดภายในครอบครัวเคยเป็นโรคเท้าปุก โดยเฉพาะพ่อแม่หรือพี่
- เด็กที่เป็นโรคพิการแต่กำเนิดที่มีความผิดปกติของกระดูก อย่างโรคสไปนาไบฟิดา (Spina Bifida) ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อที่เกี่ยวพันรอบกระดูกสันหลังไม่เชื่อมต่อกัน
- ทารกในครรภ์ที่อาศัยอยู่ในมดลูกที่มีน้ำคร่ำไม่เพียงพอ
- ทารกที่คุณแม่สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด หรือเกิดการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์
การวินิจฉัยโรคเท้าปุก
โดยปกติแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเท้าปุกจากการสังเกตลักษณะผิดปกติของเท้าทารกได้ตั้งแต่แรกเกิด หรืออาจต้องใช้การอัลตราซาวด์ตรวจดูลักษณะเท้าของทารกตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์ ดังนั้น คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์กับโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ได้มาตรฐาน และไปพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อตรวจดูพัฒนาการของทารกในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพราะหากพบความผิดปกติใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับทารกแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนรักษาล่วงหน้าและเริ่มทำการรักษาให้เร็วยิ่งขึ้น
การรักษาโรคเท้าปุก
การรักษาโรคเท้าปุกสามารถทำได้ 2 วิธีหลัก ดังนี้
- การดัดเท้าและเข้าเฝือก โดยปกติแพทย์จะแนะนำให้เด็กที่มีอาการไม่รุนแรงให้เข้ารับการรักษาภายใน 2 สัปดาห์หลังคลอด โดยให้เข้าเฝือกแบบพอนเซตี้ (Ponseti Method) คือ การดัดเท้าที่มีลักษณะผิดปกติให้กลับมาเป็นปกติทีละน้อยด้วยการเข้าเฝือกแข็งเพื่อคงรูปเท้าเอาไว้และเปลี่ยนเฝือกทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ หลังจากนั้นเด็กจะต้องใส่เฝือกอ่อนหรืออุปกรณ์ดามเท้า เพื่อช่วยป้องกันเท้าคืนตัวผิดรูปอีก ซึ่งจะต้องใส่ไว้ตลอดเวลาในช่วง 3 เดือนแรกหลังจากถอดเฝือกแข็ง ยกเว้นตอนอาบน้ำ จากนั้นจึงใส่เฉพาะตอนกลางคืนต่อไปอีกจนอายุประมาณ 4-5 ปี
- การผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่มีเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณเท้าสั้นและตึงจนไม่สามารถดัดเท้าได้ แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดยืดเส้นเอ็นบริเวณเข่าและเท้า หรือผ่าตัดย้ายเอ็นกล้ามเนื้อเพื่อให้สามารถดัดเท้ากลับมาเป็นรูปร่างปกติได้ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่อาจจำเป็นต้องผ่าตัดยืดเส้นเอ็นร่วมกับผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก โดยแพทย์จะใช้แผ่นโลหะหรือสลักเกลียวยึดเท้าเอาไว้ในตำแหน่งที่ต้องการ หลังจากนั้นจึงเข้าเฝือกแข็งเพื่อค่อย ๆ ดัดเท้าให้มีรูปร่างเป็นปกติต่อไป
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเท้าปุก
ผู้ป่วยโรคเท้าปุกที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องแต่เนิ่น ๆ มักสามารถยืนหรือเดินได้ตามปกติโดยไม่มีอาการอื่นแทรกซ้อน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจประสบปัญหาเคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่สะดวก หรือหารองเท้าที่พอดีกับเท้าได้ยาก เพราะเท้าข้างที่ผิดปกติมักมีขนาดเล็กกว่าเท้าข้างที่ปกติ
ส่วนผู้ป่วยที่ไม่รีบเข้ารับการรักษา อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงดังต่อไปนี้
- โรคข้ออักเสบ ซึ่งเป็นการอักเสบบริเวณข้อต่อ ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดตามข้อและมีอาการข้อติดแข็ง
- ลักษณะการเดินผิดปกติ เพราะใช้ด้านข้างเท้าหรือหลังเท้าเป็นจุดรับน้ำหนักแทนการใช้ฝ่าเท้า ทำให้ปวดเท้าและใส่รองเท้าไม่ได้ นอกจากนั้น การเดินที่ผิดปกติอาจส่งผลให้เกิดแผลหรือตาปลาที่เท้าตามมาด้วย
- ผู้ป่วยอาจรู้สึกกังวลต่อภาพลักษณ์ของตนเอง จนอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจได้ในอนาคต
การป้องกันโรคเท้าปุก
ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดของโรคเท้าปุกได้ การป้องกันโรคนี้จึงทำได้ค่อนข้างยาก ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเท้าปุกของทารกในครรภ์ได้โดย หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่ และไม่เสพยเสพติด