ความหมาย โลหิตจาง (Anemia)
โลหิตจาง (Anemia) หรือภาวะซีด เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดน้อยกว่าปกติ ทำให้นำออกซิเจนไปยังเซลล์และเนื้อเยื่อในอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ผิวซีดหรือผิวเหลือง
ภายในเม็ดเลือดแดงจะมีฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ทำหน้าที่ในการลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปเซลล์และเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย แต่เมื่อร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยลง ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอจนเกิดความผิดปกติในการทำงานตามมา โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางอาจมาจากการเสียเลือด การสร้างเม็ดเลือดแดงที่ลดลง หรือเม็ดเลือดแดงถูกทำลายมากขึ้น
อาการของภาวะโลหิตจาง
ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจะมีอาการแตกต่างกันไปออกไปตามสาเหตุ ตั้งแต่อาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงรุนแรง หรือในบางรายอาจไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ จนกว่าภาวะโลหิตจางรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาการผิดปกติเป็นผลมาจากการทำงานของหัวใจที่หนักขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนจากเลือดมากขึ้น โดยอาการที่พบส่วนมาก ได้แก่
- รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย แม้จะเป็นการทำกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวัน
- มีอาการตัวซีด อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น
- หายใจลำบากขณะออกแรง
- มึนงง วิงเวียนศีรษะ
- ปวดหัว
- มีอาการมือและเท้าเย็น
- ผิวซีดหรือผิวเหลือง
- เจ็บหน้าอก ใจสั่น
- ในขั้นรุนแรงอาจทำให้หัวใจทำงานหนักจนหัวใจล้มเหลว
สาเหตุของภาวะโลหิตจาง
ภายในเม็ดเลือดแดงประกอบด้วยโปรตีนชื่อฮีโมโกลบินเป็นองค์ประกอบหลัก มีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปยังเซลล์ในร่างกาย ซึ่งกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดงของผู้ใหญ่มักถูกสร้างขึ้นในไขกระดูกตามปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการในการลำเลียงออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ภายในร่างกาย
เซลล์เม็ดเลือดแดงทั้งหมดจะถูกสร้างขึ้นจากเซลล์เม็ดเลือดแดงต้นกำเนิดก่อนเจริญเติบโตเป็นเม็ดเลือดแดงตัวอ่อนและพัฒนาจนเป็นเม็ดเลือดแดงตัวแก่ในเพียงไม่กี่วัน จากนั้นจึงถูกปล่อยเข้าสู่หลอดเลือด ซึ่งเม็ดเลือดแดงที่อยู่ในหลอดเลือดนี้จะมีอายุประมาณ 120 วัน ก่อนจะถูกกำจัดออกไปโดยม้าม ตับ และไขกระดูก แล้วจึงเริ่มกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่อีกครั้ง เพื่อทดแทนของเก่าที่ถูกกำจัดไป
เมื่อเกิดความผิดปกติในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง หรือความปกติเกี่ยวกับเม็ดเลือดแดง จะส่งผลให้เซลล์เนื้อเยื่อในร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เกิดความผิดปกติขึ้น โดยมีสาเหตุจากหลายประการ
การเสียเลือด
เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในภาวะโลหิตจาง จากการเสียเลือดออกจากร่างกายทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเสียเลือดแบบฉับพลัน เช่น อุบัติเหตุ การผ่าตัด การคลอดบุตรและการแท้งบุตร การตกเลือด
หรือเป็นการเสียเลือดทีละน้อยที่เรียกว่าจากหลายสาเหตุ เช่น เสียเลือดจากการมีประจำเดือน เป็นโรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดการเสียเลือดอย่างโรคริดสีดวงทวารหรือโรคพยาธิปากขอ ซึ่งการสูญเสียเลือดแบบเรื้อรังนี้ยังก่อให้เกิดอาการขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency Anemia) ตามมาภายหลังได้
การสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง
หลายปัจจัยส่งผลให้เม็ดเลือดแดงในเลือดน้อยลง ดังนี้
- การขาดสารอาหาร เป็นผลมาจากการรับประทานอาหารที่ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 หรือกรดโฟลิก ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่จําเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง การขาดธาตุเหล็กเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยทั่วไปในภาวะโลหิตจาง
- ฮอร์โมน ภายในเลือดจะมีฮอร์โมนที่ชื่อว่า อิริโธรโพอิติน (Erythropoietin) ที่ผลิตได้จากไต มีหน้าที่ในการกระตุ้นไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดแดง แต่เมื่อร่างกายมีฮอร์โมนชนิดนี้ต่ำกว่าปกติจะส่งผลให้เกิดภาวะเลือดจางได้
- ภาวะโรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังหรือการรักษาโรคเรื้อรังบางโรคจะส่งผลกระทบต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง โดยการทำลายไขกระดูก เช่น โรคมะเร็งบางชนิด การติดเชื้อ HIV โรคไตวายเรื้อรัง หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
- การตั้งครรภ์ ภาวะโลหิตจางสามารถเกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์ 6 เดือนแรก เนื่องจากการขาดสารอาหารประเภทธาตุเหล็กและกรดโฟลิก รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในเลือด
โรคเกี่ยวกับไขกระดูก ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวข้องกับไขกระดูก เช่น ไขกระดูกฝ่อ มะเร็งในไขกระดูก หรือการติดเชื้อในไขกระดูก จะส่งผลต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงเช่นกัน เนื่องจากไขกระดูกมีหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดแดง เกร็ดเลือด และเม็ดเลือดขาว เมื่อไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดได้ จึงทำให้ปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดลดน้อยลง
การทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ
การทำลายเม็ดเลือดแดงที่เป็นผลมาจากการติดเชื้อหรือโรคในกลุ่มที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกหรือถูกทำลายไปเร็วกว่าปกติ เช่น ม้ามเกิดการขยายหรือโตขึ้น โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemias) รูปร่างเม็ดเลือดแดงผิดปกติ (Sickle Cell Anemia) การขาดเอนไซม์และยาบางชนิด ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
การวินิจฉัยภาวะโลหิตจาง
แพทย์จะวินิจฉัยผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการชักประวัติเบื้องต้น ประวัติครอบครัวและการรักษาทางการแพทย์ และการตรวจร่างกาย เพื่อหาสาเหตุและการตรวจทางห้องปฏิบัติที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติที่สำคัญประกอบด้วย
การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC)
เป็นการนับปริมาณเม็ดเลือดแดงว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ โดยวัดจากปริมาณฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงการตรวจดูลักษณะเม็ดเลือดว่ามีรูปร่าง ขนาด หรือสีที่ปกติหรือไม่ เพื่อจำแนกประเภทของภาวะโลหิตจางได้
ค่าปกติของฮีโมโกลบินตามเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดไว้สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน–6 ปีจะพบประมาณ 11 กรัมต่อเดซิลิตร และเด็กอายุ 6–14 ปี จะพบประมาณ 12 กรัมต่อเดซิลิตร ส่วนผู้ใหญ่จะพบประมาณ 12.5 กรัมต่อเดซิลิตรในเพศหญิง และ 13.5 กรัมต่อเดซิลิตรในเพศชาย
ในกรณีวัดด้วยค่าความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงอัดแน่นหรือค่าฮีมาโตคริต (Hematocrit: Hct) ค่าฮีมาโตคริตปกติสำหรับผู้ใหญ่ในผู้ชายอยู่ระหว่างร้อยละ 40-52 และในผู้หญิงอยู่ระหว่างร้อยละ 35-47 ทั้งนี้เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะซีดด้วยการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละสถาบัน
การตรวจวิเคราะห์ชนิดและปริมาณฮีโมโกลบิน (Hemoglobin Electrophoresis)
เป็นการตรวจดูชนิดของฮีโมโกลบินในเลือด ซึ่งมีประโยชน์ในการช่วยวิเคราะห์ประเภทของภาวะโลหิตจางที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้
การตรวจนับปริมาณเม็ดเลือดแดงตัวอ่อน (Reticulocyte Count)
เป็นการนับจำนวนเม็ดเลือดแดงตัวอ่อนที่พบอยู่ในเลือด เพื่อตรวจดูการสร้างเม็ดเลือดแดงตัวอ่อนจากไขกระดูกว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
การตรวจไขกระดูก
หากตรวจเลือดแล้วพบว่าเกล็ดเลือด เซลล์เม็ดเลือดแดง หรือเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยอยู่ในระดับที่ต่ำหรือสูงเกินไป แพทย์อาจต้องทำการตรวจไขกระดูกเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจมีการตรวจระดับธาตุเหล็กในเลือดและร่างกาย เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีภาวะขาดธาตุเหล็กเกิดขึ้นหรือไม่ หรือการตรวจหาเลือดปนในอุจจาระ เพื่อช่วยประเมินเภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ติ่งเนื้อ หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่
การรักษาภาวะโลหิตจาง
ภาวะโลหิตจางมีลักษณะอาการไม่เฉพาะเจาะจงที่บอกได้ชัดเจน จึงจำเป็นต้องทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด การรักษาภาวะโลหิตจางยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประเภทของโลหิตจาง สาเหตุการเกิด ระดับความรุนแรง ซึ่งเป้าหมายของการรักษา คือ การเพิ่มความสามารถในการลำเลียงออกซิเจนในร่างกายได้มากขึ้น โดยการรักษาจะประกอบไปด้วย
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและวิตามินเสริม
เนื่องจากภาวะโลหิตจางบางประเภทเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารอาหารไม่เพียงพอ หรือภาวะบางอย่างจากโรค แพทย์จะแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงและวิตามินต่าง ๆ โดยเฉพาะวิตามินบี 12 กรดโฟลิก และวิตามินซีที่มีส่วนช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง เครื่องใน อาหารทะเล ผักใบเขียวเข้ม ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ไข่ และนม
รับประทานยาหรือฮอร์โมน
แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายรับประทานยา ฮอร์โมน หรือวิธีทางแพทย์อื่น ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถผลิตเม็ดเลือดแดงได้มากขึ้นหรือรักษาภาวะโลหิตจางจากบางสาเหตุ เช่น
- รับประทานยาปฏิชีวนะในการรักษาอาการติดเชื้อ
- การให้ฮอร์โมนบางประเภท เพื่อช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนในผู้ที่ประจำเดือนมามากผิดปกติ
- การฉีดฮอร์โมนอิริโธรโพอิติน เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงที่ไขกระดูก
- การทำคีเลชั่นบำบัด (Chelation Therapy) เพื่อขับธาตุเหล็กส่วนเกินออกจากร่างกาย
เปลี่ยนถ่ายเลือด
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางรุนแรงหรือมีระดับของฮีโมโกลบินต่ำกว่า 8 กรัมต่อเดซิลิตร แพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยวิธีการเปลี่ยนถ่ายเลือด โดยการรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยเพิ่มระดับของฮีโมโกลบินให้สูงขึ้น และยังช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยให้ดีขึ้นด้วย
ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดและไขกระดูก
แพทย์อาจมีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดและไขกระดูกให้ผู้ป่วย โดยจะนำเซลล์ต้นกำเนิดปกติไปแทนเซลล์ที่มีความผิดปกติ เพื่อช่วยให้การสร้างเม็ดเลือดแดงมีปริมาณมากขึ้น
ผ่าตัด
การผ่าตัดจะช่วยรักษาการเสียเลือดมากในอวัยวะนั้น ๆ จากโรคเรื้อรังบางชนิด แต่ในกรณีที่ตรวจไม่พบอาการเลือดออกจากอวัยวะอื่น แต่มีอาการซีดรุนแรงและม้ามโต แพทย์อาจพิจารณาให้ตัดม้ามออก เนื่องจากเกิดการทำลายเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติในม้าม ทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายในปริมาณมาก
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะโลหิตจาง
หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องหรือปล่อยให้เป็นเรื้อรัง ภาวะโลหิตจางอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เนื่องจากการลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทำได้ไม่ดี เช่น เหนื่อยง่ายกว่าปกติในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่าย แผลหายได้ช้า หรือท้องเสีย โดยอาการเหล่านี้มักไม่ร้ายแรง
ในกรณีที่มีโรคประจำอื่นร่วมด้วยอย่าง การติดเชื้อ HIV โรคเอดส์ โรคมะเร็ง อาจส่งผลให้การรักษาโรคทำได้ไม่เต็มที่ และมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนใหม่ได้ บางรายที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) จากการที่หัวใจต้องส่งเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายมากขึ้น ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ ไม่สม่ำเสมอ เต้นเร็วหรือช้าเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหัวใจโตหรือเกิดอาการหัวใจวายได้
ทั้งนี้ ภาวะโลหิตจางจากโรคทางพันธุกรรมบางโรค เช่น โลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย หรือโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงผิดปกติ หากมีความผิดปกติระดับรุนแรงมากสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงเสียชีวิตได้
การป้องกันภาวะโลหิตจาง
ภาวะโลหิตจางเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้และไม่ได้ การป้องกันภาวะโลหิตจางเบื้องต้น จากสาเหตุที่พบได้ทั่วไปสามารถทำได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้
- เลือกรับประทานอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก วิตามิน และสารอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ตับหมู นม ไข่ เลือดหมู ธัญพืช โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ทารกและวัยรุ่น
- รับประทานวิตามินเสริม โดยขอคำปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ สำหรับผู้ที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร
- ผู้สูงอายุหรือผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติ ควรพบแแพทย์เป็นระยะ เพื่อตรวจสอบภาวะโลหิตจาง เนื่องจากการรับประทานอาหารประเภทโปรตีนและวิตามินที่ไม่เพียงพอ
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นภาวะโลหิตจางควรปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการส่งผ่านภาวะโลหิตจางทางพันธุกรรม
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์อาจป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจางด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย และอาจรับประทานวิตามินบำรุงครรภ์ โฟลิค และธาตุเหล็ก เพื่อช่วยรักษาระดับเซลล์เม็ดเลือดแดงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนการใช้วิตามิน หรืออาหารเสริมใด ๆ เสมอ และไปตามนัดฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ