โลหิตจางกับอาหารที่ควรเลือกรับประทาน

โลหิตจางเกิดจากร่างกายมีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ สาเหตุหลักอย่างหนึ่ง คือ การขาดสารอาหาร ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง และช่วยรักษาภาวะโลหิตจางได้ด้วย

โลหิตจาง

โลหิตจาง ที่มีสาเหตุจากการขาดสารอาหารนั้นมักพบได้ 3 ชนิด คือ โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ขาดกรดโฟลิค และขาดวิตามินบี 12 ซึ่งแต่ละชนิดมีแนวทางการรับประทานอาหารที่ต่างกันออกไป ดังนี้

โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก  

ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดง หากได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ จะทำให้ร่างกายผลิตฮีโมโกลบินได้น้อยลง และส่งผลต่อการลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ธาตุเหล็กพบได้ในผักและเนื้อสัตว์ แต่ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก และอาหารทะเลได้ดีกว่าธาตุเหล็กจากพืช ผัก ไข่ ถั่ว และนม ทั้งนี้ ปริมาณของธาตุเหล็กที่ควรได้รับในแต่ละวันขึ้นอยู่กับเพศ อายุ และปัญหาสุขภาพของแต่ละคนด้วย

แหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็ก ได้แก่

  • ผักใบเขียว ยิ่งผักมีสีเขียวเข้มยิ่งอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก เช่น ผักโขม คะน้า บร็อคโคลี่ เป็นต้น อีกทั้งการรับประทานผักใบเขียวร่วมกับอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม มะนาว องุ่น สตรอว์เบอร์รี่ พริกหยวก และมะละกอ จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้น
  • ผลไม้อบแห้ง เช่น ลูกเกด ลูกพรุน เป็นต้น
  • เนื้อสัตว์ รวมถึงเนื้อสัตว์ปีกทุกชนิด ซึ่งล้วนประกอบไปด้วยธาตุเหล็ก โดยเฉพาะเนื้อแดง และหากรับประทานเนื้อสัตว์ร่วมกับผักใบเขียว จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน
  • ตับ อุดมไปด้วยธาตุเหล็กและกรดโฟลิค นอกจากตับแล้ว อวัยวะส่วนอื่น ๆ ก็มีธาตุเหล็กสูงด้วย เช่น หัวใจ ไต และลิ้น อย่างไรก็ตาม การรับประทานตับเพื่อเสริมธาตุเหล็กอาจไม่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารชนิดนี้ เพื่อความปลอดภัยของมารดาและทารกในครรภ์
  • อาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้ง หอยนางรม หอยตลับ และหอยลาย ล้วนเป็นแหล่งอาหารของธาตุเหล็ก อีกทั้งปลาส่วนใหญ่ก็ยังประกอบไปด้วยธาตุเหล็ก โดยเฉพาะปลาตาเดียว ปลาซาดีน ปลาทูน่า และปลาแซลมอน
  • ธัญพืช เช่น ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วลันเตา ถั่วลิสง ถั่วพิตาชิโอ เฮเซลนัต แมคคาเดเมีย อัลมอนด์ งา เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น
  • อาหารอื่น ๆ เช่น ไข่ ซีเรียล ขนมปังโฮลเกรน ดาร์กช็อกโกแลต โกโก้ เชอร์รี่ในน้ำเชื่อม ผงกะหรี่ และอาหารเสริมธาตุเหล็ก เป็นต้น

แม้การรับประทานอาหารดังกล่าวจะช่วยเสริมปริมาณธาตุเหล็กในร่างกาย แต่ไม่ควรรับประทานอาหารเหล่านี้ร่วมกับสารอาหารบางชนิดซึ่งอาจขัดขวางและยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น

  • แคลเซียม พบได้ในนม ชีส รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำจากนม ดังนั้น ไม่ควรดื่มนมพร้อมกับการรับประทานอาหารหรือยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก
  • แทนนิน พบได้ในผักที่มีใบเขียวเข้ม เครื่องเทศ ชา กาแฟ จึงไม่ควรดื่มชาหรือกาแฟพร้อมมื้ออาหารหรือหลังมื้ออาหารทันที
  • ไฟเตท พบได้ในผักใบเขียวและผักที่มีรสฝาด เช่น ขี้เหล็ก กระถิน ถั่วเหลือง ข้าวฟ่าง ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด ข้าวที่ไม่ขัดสี  เป็นต้น
  • โพลีฟีนอล พบได้ในผักที่มีใบเขียวเข้ม ขมิ้นชัน รวมถึงสมุนไพรหลายชนิด

ส่วนทารกที่มีภาวะโลหิตจางจะได้รับอาหารเสริมธาตุเหล็กในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 1 ปี การดื่มนมแม่เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารหลากชนิดที่จำเป็นต่อร่างกายรวมทั้งธาตุเหล็กด้วย โดยห้ามให้ทารกดื่มนมวัวทั่วไปที่ไม่ใช่สำหรับทารก เพราะร่างกายของทารกในวัยนี้ยังไม่สามารถย่อยนมวัวได้เท่าที่ควร อาจให้ทารกเริ่มรับประทานอาหารเสริม ผัก และผลไม้ที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก หรือนมเสริมธาตุเหล็กสำหรับทารกเมื่อมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป
  • ทารกอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป นมแม่ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับทารกในวัยนี้ แต่อาจเสริมด้วยการให้นมหรือให้เด็กรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กได้ เช่น เนื้อไก่ ไข่ ตับ ข้าวโอ๊ต ผักโขม คะน้า หรือผักใบเขียวชนิดอื่น ๆ

หากการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กยังไม่เพียงพอ เด็กบางคนอาจต้องรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กร่วมด้วย ดังนั้น ควรไปพบกุมารแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับอาหารเสริมที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน หากไม่แน่ใจ ห้ามให้อาหารเสริมแก่เด็กด้วยตัวเอง เนื่องจากการได้รับธาตุเหล็กในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะพิษต่อร่างกายได้

โลหิตจางจากการขาดกรดโฟลิค

กรดโฟลิคเป็นสารอาหารจำเป็นต่อการสร้างเซลล์ต่าง ๆ รวมถึงเซลล์เม็ดเลือดแดงด้วย แต่ร่างกายไม่สามารถกักเก็บกรดโฟลิคไว้ได้มากนัก จึงจำเป็นต้องรับประทานกรดโฟลิคให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งอาหารที่อุดมไปด้วยกรดโฟลิค ได้แก่ ตับ ข้าวกล้อง หน่อไม้ฝรั่ง ผักโขม คะน้า บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กระเจี๊ยบเขียว ผักกาดหอม ถั่วเขียว ถั่วลันเตา เป็นต้น

นอกจากนี้กรดโฟลิคยังพบได้ในปริมาณพอสมควรตามผลไม้สด ไข่ นม โยเกิร์ต ชีส มันฝรั่ง ขนมปัง ข้าวโอ๊ต ปลาแซลมอน และเนื้อวัว โดยไม่ควรปรุงอาหารที่ประกอบไปด้วยกรดโฟลิคให้สุกมากเกินไป เพราะความร้อนอาจทำให้อาหารเสียคุณค่าทางโภชนาการ และหากผู้บริโภคมีอาการขาดวิตามินบี 12 ร่วมด้วย อาจส่งผลให้ร่างกายดูดซึมกรดโฟลิคไปใช้ได้ไม่เต็มที่

โลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12

วิตามินบี 12 เป็นสารอาหารอีกชนิดหนึ่งที่จำเป็นในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง หากขาดวิตามินบี 12 นอกจากจะทำให้โลหิตจางแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคโลหิตจางชนิดร้ายแรง (Pernicious Anemia) หรืออาจเกิดความเสียหายต่อเส้นประสาท จึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมวิตามินบี 12 ให้ร่างกาย เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ตับ ไข่ นม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยรักษาโรคโลหิตจางได้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หากจำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริม รวมทั้งเข้ารับการรักษาโรคโลหิตจางอย่างเหมาะสม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยโลหิตจางแต่ละชนิดด้วย