ให้น้ำเกลือ (Sodium Chloride Solution for Intravenous) เป็นวิธีการทดแทนสารน้ำที่จำเป็นและสารโซเดียมคลอไรด์ด้วยสารละลายน้ำเกลือให้ร่างกายผ่านทางเส้นเลือด อันเนื่องมาจากผู้ป่วยมีภาวะร่างกายขาดน้ำ มีภาวะเกลือแร่ในร่างกายต่ำจากการได้รับเกลือแร่ไม่เพียงพอ หรือสูญเสียเกลือแร่จากอาการป่วย และไม่สามารถดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
น้ำเกลือ สารละลายน้ำเกลือ หรือโซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride: NaCl) คือ สารน้ำที่มีส่วนผสมของโซเดียมคลอไรด์ ซึ่งเป็นสารประกอบภายในร่างกายที่มีประโยชน์ต่อระบบต่าง ๆ เช่น ช่วยในกระบวนการดูดซึมและลำเลียงสารอาหารในลำไส้เล็ก รักษาความดันโลหิต รักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย ช่วยในการหดเกร็งและคลายตัวของกล้ามเนื้อ และช่วยนำสัญญาณส่งผ่านสารสื่อประสาท
แพทย์จะให้น้ำเกลือในกรณีใด
แพทย์จะให้น้ำเกลือด้วยการเจาะเส้นเลือดของผู้ป่วย แล้วให้น้ำเกลือเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่เหมาะสม โดยจะให้น้ำเกลือในกรณีต่อไปนี้
- ผู้ป่วยที่ไม่สามารถดื่มน้ำได้เองในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- สูญเสียเกลือแร่จากอาการป่วย เช่น มีไข้สูง อาเจียน ท้องร่วง
- ทดแทนสารน้ำในร่างกายของผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะร่างกายขาดน้ำ
- ทดแทนสารในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดสารโซเดียมคลอไรด์
- เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา โดยอาจให้น้ำเกลือร่วมกับยารักษาชนิดอื่นที่เข้ากันได้ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะทางน้ำเกลือ การให้เกลือแร่อื่นทางน้ำเกลือ
- ในระหว่างการรักษาอาการป่วยที่รุนแรง เช่น ภาวะช็อก อาจต้องให้น้ำเกลือเพื่อรักษาระดับความดันโลหิตให้คงที่
- ผู้ป่วยมีอาการป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพใด ๆ ที่แพทย์มีดุลยพินิจว่าควรเพิ่มสารน้ำเพื่อช่วยบรรเทาอาการป่วย
ข้อควรระวังในการให้น้ำเกลือ
สิ่งที่ควรระมัดในระวังก่อนพิจารณาให้น้ำเกลือมีดังต่อไปนี้
- ไม่ควรให้น้ำเกลือกับผู้ป่วยที่เคยมีอาการแพ้สารประกอบใด ๆ ในน้ำเกลือ
- ยาบางชนิดอาจมีปฏิกิริยาต่อน้ำเกลือ ดังนั้น จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงการรักษาและยาที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการให้น้ำเกลือ
- ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงในการให้น้ำเกลือแก่ผู้ป่วยสูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจ โรคไต หรือภาวะความดันโลหิตสูง
- ในระหว่างที่ให้น้ำเกลือ แพทย์อาจต้องตรวจเลือดเพื่อดูอาการและปฏิกิริยาที่อาจเป็นผลข้างเคียงจากการรักษา
- สำหรับผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร ต้องปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงของการให้น้ำเกลือก่อนเสมอ เพราะโซเดียมคลอไรด์ในน้ำเกลืออาจถูกส่งผ่านและเกิดผลกระทบต่อทารกได้
- หากได้รับน้ำเกลือในปริมาณที่มากเกินไปจนมีอาการป่วยที่แสดงออกมา หรือมีปัญหาในการหายใจ หายใจลำบากหรือหอบเหนื่อย ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
ขั้นตอนการให้น้ำเกลือ
ก่อนให้น้ำเกลือ ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์และภาวะที่กำลังเผชิญอยู่ก่อนการให้น้ำเกลือ เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมินและวางแผนรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะภาวะอาการเหล่านั้นอาจมีผลกระทบต่อการรักษาด้วยการให้น้ำเกลือ และอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมาได้
ตัวอย่างภาวะสำคัญที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ ได้แก่
- เป็นโรคภูมิแพ้ แพ้ยา แพ้อาหาร หรือแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ
- กำลังตั้งครรภ์ กำลังให้นมบุตร หรือกำลังวางแผนมีบุตร
- มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ ความดันโลหิตสูง มีโพแทสเซียมในเลือดสูง
- เป็นผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับหัวใจ ไต หรือตับ เช่น ตับบวม ไตบวม หรือไม่สามารถเก็บรักษาโซเดียมไว้ในปริมาณที่ร่างกายต้องการได้
ในขั้นตอนการให้น้ำเกลือ แพทย์จะให้น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% หรืออาจให้น้ำเกลือผสมกับตัวยาอื่นเพื่อประสิทธิผลทางการรักษาผ่านการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ หรืออาจต่อสายให้น้ำเกลือค่อย ๆ ซึมเข้าสู่กระแสเลือดในปริมาณที่เหมาะสมกับการรักษาอาการป่วยนั้น ๆ หรือให้น้ำเกลือที่มีน้ำตาลกลูโคสร่วมด้วยหากผู้ป่วยมีภาวะอ่อนเพลีย รับประทานอาหารไม่ได้
ทั้งนี้ ปริมาณและชนิดของน้ำเกลือขึ้นอยู่กับอาการป่วย อายุ น้ำหนัก และการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย
ผลข้างเคียงในการให้น้ำเกลือ
การให้น้ำเกลือ อาจมีผลข้างเคียงทั่วไป อย่างอาการปวด หรือเกิดรอยนูนแดงบริเวณที่ฉีดน้ำเกลือ และผู้ป่วยจะปัสสาวะบ่อยขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้การให้น้ำเกลือจะมีประสิทธิผลทางการรักษาในผู้ป่วยส่วนใหญ่ แต่ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญได้ในผู้ป่วยบางราย เช่น
- วิงเวียนศีรษะ
- ปวดบวมบริเวณที่ถูกฉีดน้ำเกลือเข้าไปมากขึ้นเรื่อย ๆ หรืออาการปวดบวมนั้นไม่หายไป
- มีอาการแพ้ เช่น มีไข้ มีผดผื่นแดง หรือมีผื่นคัน หน้าบวม ปากบวม ลิ้นบวม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
- ภาวะชัก
- ความดันโลหิตสูง
- ภาวะโซเดียมในเลือดสูง
- ภาวะความผิดปกติของเกลือแร่ในเลือด
- ภาวะคั่งน้ำ
- ภาวะหัวใจล้มเหลว
- ภาวะเลือดออกในโพรงสมองในทารกแรกเกิด
- ไตได้รับความเสียหาย