สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cells) คือเซลล์ชนิดพิเศษที่พบได้ทุกช่วงเวลาของการเจริญเติบโตในสิ่งมีชีวิตหรือในห้องทดลอง มีความสามารถในการแบ่งตัวออกเป็นเซลล์เกิดใหม่ที่เรียกว่าเซลล์ลูก (Daughter Cells) ได้อย่างไม่จำกัดและต่อเนื่อง นอกจากนี้ สเต็มเซลล์ยังสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์อื่น ๆ เกือบทุกชนิดในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเซลล์สมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ หรือเม็ดเลือดแดง สเต็มเซลล์จึงมีหน้าที่สำคัญในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน และเปลี่ยนแปลงทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพภายในร่างกาย
แหล่งของสเต็มเซลล์
เซลล์ต้นกำเนิดอาจพบได้จาก
- สเต็มเซลล์จากเลือดในรกเด็ก (Umbilical Cord Blood) ซึ่งเป็นเลือดที่หลงเหลืออยู่ในสายรก (Placenta) สเต็มเซลล์ชนิดนี้สามารถนำมาเก็บไว้ใช้ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดได้ในภายหลัง
- สเต็มเซลล์จากตัวอ่อน (Embryonic Stem Cells) พบในตัวอ่อนที่อยู่ในระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst) มีอายุอยู่ในระหว่าง 3-5 วัน และมีจำนวนเซลล์ทั้งหมด 150 เซลล์ เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ได้เกือบทุกชนิดในร่างกาย จึงมักถูกนำมาใช้ซ่อมแซมอวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหายจากโรคต่าง ๆ ยกเว้นโรคที่เกี่ยวกับดวงตา เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อม (Macular Degeneration)
- สเต็มเซลล์จากเซลล์เนื้อเยื่อโตเต็มวัย (Adult Stem Cells) พบได้น้อยในเนื้อเยื่อโตเต็มวัย อาทิ เซลล์ในไขกระดูก หรือไขมัน ซึ่งจะมีคุณสมบัติการเติบโตหรือซ่อมแซมที่จำกัดกว่าสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน โดยสเต็มเซลล์เนื้อเยื่อโตเต็มวัยสามารถเปลี่ยนสภาพไปเป็นเซลล์เฉพาะในเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น สเต็มเซลล์ของเลือด สามารถเปลี่ยนเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว รวมทั้งเกล็ดเลือด
- เซลล์เนื้อเยื่อโตเต็มวัยที่ถูกปรับเปลี่ยนให้มีคุณสมบัติของสเต็มเซลล์ตัวอ่อน เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมเซลล์โตเต็มวัยให้ทำงานคล้ายกับสเต็มเซลล์ตัวอ่อน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการรับรองทางการแพทย์ว่าการใช้เซลล์ปรับเปลี่ยนนี้เกิดผลข้างเคียงหรือไม่
- สเต็มเซลล์จากไขกระดูก เนื้อเยื่อฟองน้ำเหลวที่แกนกลางกระดูกเป็นแหล่งสเต็มเซลล์จำนวนมาก โดยเฉพาะที่บริเวณกระดูกสะโพก เซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูกจะมีหน้าที่หลักในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ที่ไหลเวียนไปทั่วร่างกาย
- สเต็มเซลล์ปริกำเนิด (Perinatal Stem Cells) สามารถพบได้จากน้ำในถุงน้ำคร่ำ แม้สเต็มเซลล์ชนิดนี้อาจสามารถปรับตัวกลายเป็นเซลล์ชนิดอื่น ๆ ได้ แต่ปัจจุบันก็ยังคงต้องศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์
- สเต็มเซลล์จากพืช เช่น แอปเปิล เป็นต้น
ประโยชน์ของสเต็มเซลล์
สเต็มเซลล์นั้นมีประโยชน์ทั้งด้านการแพทย์และและด้านความงาม ซึ่งแตกต่างกันไปตามการนำไปใช้ ดังนี้
ประโยชน์ด้านการแพทย์
เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดสามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นเซลล์ชนิดอื่นได้ จึงถูกนำมาใช้รักษาและใช้ศึกษาโรคชนิดต่าง ๆ โดยปัจจุบันได้มีการรับรองการใช้สเต็มเซลล์เพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติในระบบเลือดเท่านั้น เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) หรือโรคโลหิตจาง (ทาลัสซีเมีย) โดยการรับรองมาตรฐานดังกล่าวนั้นรวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ของเซลล์ต้นกำเนิดไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การใช้รักษาโรค แต่ยังนำมาใช้ในการศึกษาวิจัยที่อาจส่งผลดีในอนาคต ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการวิจัยได้โดยผ่านสถานบริการสาธารณสุขที่ดำเนินการวิจัยอย่างถูกต้อง ทั้งนี้การใช้ประโยชน์อาจประกอบด้วย
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ เช่น ไขกระดูก หรือเลือดจากรกเด็ก นำมาใช้รักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งที่ส่งผลต่อระบบเลือดหรือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลม่า โรคโลหิตจางชนิดไขกระดูกฝ่อ หรือโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดอาการรุนแรง เป็นต้น
- รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดไมอิลอยด์ (Acute Myeloid Leukemia) ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ (SCT) เพื่อช่วยฟื้นฟูไขกระดูกให้กลับมาสร้างเม็ดเลือดใหม่ได้ตามปกติ โดยการฝ่อของไขกระดูกนั้นเกิดจากใช้ยาเคมีบำบัดปริมาณสูงในระหว่างกระบวนการรักษา
- รักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma) ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ เพื่อฟื้นฟูไขกระดูกสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะโรคสงบ ให้กลับมาผลิตเม็ดเลือดใหม่ได้ปกติ ภายหลังจากที่ไขกระดูกถูกทำลายโดยยาเคมีบำบัดปริมาณสูงร่วมกับการฉายแสง
- ใช้ในการทดลองยา เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยหรือประสิทธิภาพของยา
- ใช้ศึกษาการพัฒนาเซลล์มะเร็ง และการเกิดโรคชนิดอื่นในเซลล์
- ใช้ศึกษาหาสาเหตุของความบกพร่องทางพันธุกรรม
ประโยชน์ด้านความงาม
ปัจจุบันยังไม่มีผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ของการใช้สเต็มเซลล์เสริมความงามให้เห็นชัดเจน ว่าได้ผลจริงหรือเท็จ ทั้งในเรื่องความเสี่ยง หรือประสิทธิภาพของการต่อต้านริ้วรอยจากการใช้สเต็มเซลล์ ถึงแม้จะมีหลักฐานเพียงชิ้นเดียวคือการฉีดไขมันที่ใบหน้า (Lipo-Filling) ซึ่งเป็นศัลยกรรมความงามโดยการใช้สเต็มเซลล์เพื่อยกใบหน้าให้กระชับ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการชะลอวัยที่ยั่งยืน
ผลิตภัณฑ์ความงามที่มีส่วนประกอบของสเต็มเซลล์นั้น ยังคงอยู่นอกเหนือจากข้อยืนยันทางด้านวิทยาศาสตร์ แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้สูงว่าในอนาคต สเต็มเซลล์อาจถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านความงามก็ตาม ดังนั้น การมีวิจารณญาณที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการตัดสินใจว่าจะเชื่อการโฆษณาหรือไม่
ความเสี่ยงจากการใช้ หรือปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เป็นกระบวนการรักษาที่มีความเสี่ยง ดังนี้
- ภาวะเซลล์ใหม่ต้านร่างกาย (GvHD) มักเกิดจากการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้อื่่น (Allogeneic Transplants) เป็นการทำลายเซลล์ในร่างกายของผู้ป่วยโดยเซลล์ที่ปลูกถ่าย
- ปริมาณเม็ดเลือดลดจำนวนลง ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคโลหิตจาง ภาวะเลือดออกมาก รอยจ้ำเขียว และเพิ่มโอกาสเกิดการติดเชื้อสูงขึ้น
- ผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด ไม่ว่าจะเป็นอาการผมร่วง อ่อนเพลีย เจ็บป่วย และเป็นหมัน
ความเสี่ยงจากการเสริมความงามด้วยสเต็มเซลล์
การใช้สเต็มเซลล์เสริมความงามอาจก่อให้เกิดความเสี่ยง ได้แก่
- เซลล์อาจเกิดการติดเชื้อ ปนเปื้อน ถูกทำลาย หรือกลายพันธุ์ร้ายแรง เนื่องจากสเต็มเซลล์สามารถแบ่งตัวอย่างต่อเนื่อง จนในบางกรณีอาจเกิดการกลายพันธุ์ หรือมีลักษณะคล้ายคลึงกับเซลล์มะเร็ง
- การใช้สเต็มเซลล์ในบริเวณที่ไม่ใช่สภาพแวดล้อมแท้จริงที่เซลล์เคยอยู่ อาจก่อให้เกิดการแบ่งตัวมากเกินไปจนเป็น เนื้องอก หรือเซลล์อาจย้ายตำแหน่งไปยังบริเวณอื่นแทน
ธนาคารสเต็มเซลล์
ธนาคารสเต็มเซลล์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเก็บรักษาสเต็มเซลล์จากรกของทารก เพื่อสำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในอนาคต หากผู้ฝากเป็นโรคที่จำเป็นต้องใช้สเต็มเซลล์ในการรักษา ยิ่งไปกว่านั้นสเต็มเซลล์ของผู้ฝากยังอาจใช้ได้กับญาติได้อีกด้วย โดยวิธีการเก็บจะเป็นการเก็บเลือดที่เหลืออยู่ในรกภายหลัง คลอดทารกโดยเก็บเอาไว้ในธนาคารสเตมเซลล์ของเอกชน ทั้งนี้ธนาคารสเต็มเซลล์อาจมีข้อดีและข้อเสีย ได้แก่
ข้อดีของการทำธนาคารสเต็มเซลล์
การทำธนาคารสเต็มเซลล์มีข้อดี ดังนี้
- การเก็บสเต็มเซลล์อาจสามารถนำมาใช้ในการรักษาในอนาคตได้
- สเต็มเซลล์จากเลือดรกสามารถใช้รักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบเลือด หรือภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติได้ ซ้ำยังสามารถเข้ากันได้กับร่างกายของผู้ป่วย เนื่องจากมาจากเลือดในรกที่เก็บไว้แต่กำเนิด
- การรักษาโรคโดยการใช้สเต็มเซลล์จากเลือดรก มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง
ข้อเสียของการทำธนาคารสเต็มเซลล์
การทำธนาคารสเต็มเซลล์มีข้อเสีย ดังนี้
- ผู้ป่วยอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้สเต็มเซลล์ที่เก็บไว้ในธนาคารมารักษาโรค เนื่องจากการเกิดโรคเกี่ยวกับระบบเลือด หรือภูมิคุ้มกัน อย่างเช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพราะผู้ที่สมาชิกในครอบครัวไม่เคยมีประวัติว่าเป็นนั้นมีโอกาสเป็นโรคนี้เพียง 1 ใน 217 เท่านั้น
- ปัจจุบันยังไม่มีข้อบ่งชี้ในการนำเซลล์ต้นกำเนิดที่เก็บแช่แข็งไว้มาใช้ในการรักษา อีกทั้งยังไม่มีการรับรองว่าสามารถนำมารักษาโรคชนิดอื่น ๆ ได้จริง เว้นแต่โรคที่เกี่ยวกับระบบเลือดหรือความผิดปกติทางพันธุกรรมของระบบเลือดเพียงเท่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้สเต็มเซลล์จากผู้บริจาครายอื่น เพราะผู้ป่วยไม่อาจนำสเต็มเซลล์ของตนเองมารักษาได้เนื่องจากเซลล์มีความผิดปกติทางพันธุกรรม
- สเต็มเซลล์จากเลือดรกเด็กอาจไม่สามารถนำมาใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง เช่น โรคกล้ามเนื้อเจริญผิดเพี้ยน (Muscular Dystrophy) หรือความบกพร่องของกระดูกสันหลัง (Spina Bifida)
- มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างแพง
- ธนาคารเลือดส่วนตัว อาจทิ้งเลือดจากรกในกรณีที่ผู้ป่วยหรือญาติไม่มีความต้องการเก็บอีกต่อไป
การรับรองสเต็มเซลล์ในไทย
เท่าที่ผ่านมามีการใช้สเต็มเซลล์เพียงแค่ในการรักษาโรคเกี่ยวกับเม็ดโลหิต เช่น มะเร็งเม็ดเลือด หรือธาลัสซีเมีย เท่านั้น เนื่องจากสเต็มเซลล์ยังเป็นเรื่องใหม่จึงยังไม่มีกฏหมายเฉพาะควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยได้อย่างครบถ้วน
อย่างไรก็ตาม มีการยกร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับสเต็มเซลล์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ซึ่งผ่านการทำประชาพิจารณ์ในช่วงปี พ.ศ.2558 เป็นที่เรียบร้อย และในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการหารือเพื่อปรับปรุงสาระหลักของกฏหมาย ร่วมกับแพทยสภา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งสาระสำคัญของร่างกฏหมายฉบับนี้ในเบื้องต้นอาจประกอบด้วย
- การจัดตั้งคณะกรรมการเซลล์ทางการแพทย์และคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อตรวจสอบและควบคุมการให้บริการของแพทย์หรือทันตแพทย์ ให้สามารถทำได้เฉพาะในสถานที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฏหมายเท่านั้น
- การกำหนดข้อห้ามการโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เซลล์ที่เกินความจริง ห้ามมิให้มีนายหน้าหรือเอเจนซี่เรียกรับผลประโยชน์ตอบแทน ตลอดจนการควบคุมมาตรฐานการดำเนินการผลิตภัณฑ์เซลล์ ห้องปฏิบัติการ และธนาคารเซลล์
- บทลงโทษตามฐานความผิดที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการเพิกถอนการขึ้นทะเบียน การอุทธรณ์ หรือการลงโทษอื่น ๆ
- ส่งเสริมการพัฒนาเกี่ยวกับเซลล์ทางการแพทย์
ผลิตภัณฑ์สเต็มเซลล์
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ออกประกาศห้ามใช้เซลล์ เนื้อเยื่อ หรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากร่างกายมนุษย์ เพื่อเป็นส่วนประกอบในการผลิตเครื่องสำอาง การประกาศห้ามดังกล่าวอาจทำให้ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดบางรายพยายามเลี่ยงการโฆษณาไปใช้ข้อความอื่น ๆ แทน เช่น ซีรัมหรือครีมที่มีส่วนประกอบของสเต็มเซลล์รกแกะ หรือสเต็มเซลล์จากพืช
แม้ว่าสารที่ผลิตออกมาจากสเต็มเซลล์ที่คาดว่าอาจมีส่วนช่วยในความงาม แต่การคาดการณ์ดังกล่าวก็ยังไม่มีความชัดเจนมากเท่าใดนัก กล่าวคือโปรตีนที่หลั่งจากเซลล์ต้นกำเนิดส่วนมากจะเป็นสารช่วยการเจริญเติบโต (Growth Factor) หรือสารจำพวกไซโตไคน์ (Cytokine) ซึ่งอาจสลายตัวในอุณหภูมิห้อง และสูญเสียสภาพได้เร็วภายใน 1-2 วัน แม้ว่าจะถูกเก็บแช่แข็งเอาไว้ก็ตาม เนื่องจากการละลายเพื่อนำมาใช้งานจะทำให้โปรตีนเกิดการเสื่อมสภาพ
การใช้วิจารณญาณก่อนการตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ข้องเกี่ยวกับส่วนผสมดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ควรคำนึงถึงเสมอ