เวลาสั่งน้ำมูกหรือจามออกมาแต่ละครั้งเคยสังเกตกันไหมว่า สีน้ำมูกของเรานั้นเป็นสีอะไร เป็นสีใส สีขาว สีเหลือง สีเขียว หรือเป็นสีอื่นนอกเหนือจากนี้ บางทีเห็นแล้วก็ชวนให้รู้สึกเครียดและวิตกกังวลไม่น้อย จนอาจคิดไม่ตกว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นอะไรกันแน่
ในแต่ละวัน เยื่อบุทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร อาทิ ช่องปาก จมูก โพรงไซนัส คอ หลอดลมหรือปอดอาจผลิตน้ำมูกได้มากถึง 1–1.5 ลิตร เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่อวัยวะดังกล่าว โดยจะช่วยดักจับสารแปลกปลอมในอากาศก่อนจะเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจอย่างสารก่อภูมิแพ้ ฝุ่นควัน หรือเชื้อโรค และเป็นดั่งเกราะป้องกันการติดเชื้ออย่างแบคทีเรียหรือไวรัสด้วย เนื่องจากมีส่วนประกอบของแอนติบอดี ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ใช้ต่อสู้กับเชื้อโรค น้ำมูกที่มีลักษณะเป็นเมือกเหนียว จึงเอื้อต่อการทำหน้าที่ต่าง ๆ เหล่านี้
ส่วนลักษณะของน้ำมูกนั้นจะขึ้นอยู่กับความชุ่มชื้นหรือปริมาณน้ำในน้ำมูก หากมีปริมาณน้ำผสมอยู่มาก น้ำมูกจะเหลวมากและไหลออกมาได้ง่าย แต่หากมีปริมาณน้ำเพียงเล็กน้อย น้ำมูกอาจจะหนา เหนียวข้น และค้างอยู่ภายในโพรงจมูกได้
ความหมายของสีน้ำมูกแต่ละสี
คนสุขภาพดีทั่วไปล้วนแล้วแต่มีน้ำมูก แต่อาจเป็นสีใสและมักถูกกลืนลงคอจึงไม่ทันได้สังเกตเห็น แต่ในบางครั้งสีน้ำมูกก็เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย โดยน้ำมูกแต่ละสีอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น
-
น้ำมูกสีใส
แม้น้ำมูกสีใสจะบ่งบอกถึงการมีสุขภาพดี แต่จริง ๆ แล้วไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะอาจแสดงถึงการป่วยเป็นภูมิแพ้อากาศ ไข้ละอองฟาง โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ในขณะตั้งครรภ์ หรือการติดเชื้อในทางเดินหายใจที่ไม่รุนแรง โดยผู้ป่วยอาจมีน้ำมูกเหลวใสไหลออกมาหรือไหลลงคอ ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น คันตา น้ำตาไหล ไอ จาม คันจมูก คอ หรือเพดานปาก เป็นต้น
-
น้ำมูกสีขาว
รู้หรือไม่ ไซนัสอักเสบ ไข้หวัดหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจทำให้หลาย ๆ คนคัดจมูกและมีน้ำมูกสีขาวขุ่น เนื่องจากเยื่อบุภายในโพรงจมูกเกิดการบวมและอักเสบ ทำให้น้ำมูกขังอยู่ภายในโพรงจมูกเป็นเวลานาน จึงสูญเสียน้ำภายในน้ำมูกหรือความชุ่มชื้นไป ส่งผลให้น้ำมูกหนา เหนียว และมีสีขุ่นมากขึ้นนั่นเอง
-
น้ำมูกสีเหลืองหรือเขียว
หากสังเกตเห็นน้ำมูกสีเหลืองหรือเขียวนั่นหมายถึง ภูมิต้านทานของเรากำลังต่อสู้กับการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในทางเดินหายใจไม่ว่าจะเป็นไวรัสหรือแบคทีเรีย โดยมีเซลล์เม็ดเลือดขาวเป็นกำลังหลักในการทำหน้าที่นี้ ซึ่งจะผลิตเอนไซม์บางชนิดออกมากำจัดเชื้อโรคในระบบอวัยวะดังกล่าว ทำให้สีน้ำมูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว
-
น้ำมูกสีแดงหรือน้ำตาล
การบาดเจ็บบริเวณจมูก การสั่งน้ำมูกอย่างแรง การล้วงแคะจมูกเป็นประจำ หรืออาการจมูกแห้งอาจเป็นสาเหตุของเส้นเลือดในโพรงจมูกแตก ทำให้มีเลือดออกในจมูก น้ำมูกจึงมีสีแดงของเลือดปะปนอยู่ด้วย อีกทั้งปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้น ฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ และอาการบวมของโพรงจมูกในช่วงตั้งครรภ์ก็อาจส่งผลให้คุณแม่บางรายมีน้ำมูกปนเลือดเช่นกัน ในกรณีที่น้ำมูกมีสีน้ำตาลอาจเกิดจากเลือดที่แห้งแล้วหรือการสูดดมสิ่งสกปรกมาก่อน
-
น้ำมูกสีดำ
น้ำมูกสีดำนั้นอาจเกิดจากการติดเชื้อราที่รุนแรงอย่างไซนัสอักเสบจากเชื้อราชนิดลุกลามและชนิดไม่ลุกลาม โดยอาจพบได้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากการสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด หรือการอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะทางอากาศด้วย
อย่างไรก็ตาม สีน้ำมูกไม่อาจฟันธงสาเหตุได้อย่างชัดเจน เนื่องจากปัญหาในระบบทางเดินหายใจนั้นก่อให้เกิดอาการที่คล้ายคลึงกันไม่มากก็น้อย ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยสังเกตเห็นความผิดของน้ำมูกควรไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลตนเองเบื้องต้นหากอาการป่วยที่เป็นอยู่ไม่รุนแรง หรือเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงและการรักษาที่เหมาะสมหากอาการป่วยทวีความรุนแรงหรือคงอยู่เป็นเวลานาน