กรุ๊ปเลือดหรือหมู่เลือด (ฺBlood Type) คือ ตัวบอกความแตกต่างของเลือด ทราบได้จากการเจาะตรวจเลือด โดยดูจากจากสารที่มีชื่อว่า แอนติเจน (Antigens) เป็นสำคัญ ซึ่งกรุ๊ปเลือดถือเป็นสิ่งจำเป็นที่คนเราควรรู้เนื่องจากจะช่วยให้แพทย์หยิบยื่นความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที่ในกรณีมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดซึ่งต้องมีการเปลี่ยนถ่ายเลือด (Blood Transfusion)
ปกติแล้วเลือดของมนุษย์มีส่วนประกอบ ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือดแดง (Red Rlood Cells) เซลล์เม็ดเลือดขาว (White Blood Cells) เกล็ดเลือด (Platelets) และน้ำเลือด (Plasma) โดยความแตกต่างของเลือดที่นำมาระบุเป็นกรุ๊ปเลือดดูจากสาร 2 ชนิด คือ แอนติบอดี (Antibodies) และแอนติเจน (Antigens) ในเลือด โดยแอนติบอดีมีอยู่ในน้ำเลือดทำหน้าที่ป้องกันและต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย เช่น เชื้อโรค เป็นต้น ส่วนแอนติเจน คือโมเลกุลของโปรตีนที่พบอยู่ผิวบริเวณด้านนอกของเซลล์เม็ดเลือดแดง
ทั้งนี้ ความแตกต่างของเอนติเจนในแต่ละคนจะถูกถ่ายทอดกันมาทางพันธุกรรม โดยหากพ่อหรือแม่มีกรุ๊ปเลือดใด เด็กจะมีกรุ๊ปเลือดเหมือนพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งได้
ชนิดของกรุ๊ปเลือด
ชนิดของกรุ๊ปเลือดสแบ่งออกได้ตามระบบของกรุ๊ปเลือด ซึ่งมีทั้งหมด 2 ระบบใหญ่ ๆ ได้แก่
ระบบเอบีโอ (ABO System) เป็นระบบที่นิยมใช้มากที่สุด ซึ่งแบ่งกรุ๊ปเลือดออกเป็น 4 ชนิด คือ
- กรุ๊ปเลือด A คือกรุ๊ปเลือดที่มีแอนติเจนชนิดเอ (A Antigens) ที่เซลล์เม็ดเลือดแดง และมีสารแอนติบอดีชนิด แอนติ-บี (Anti-B) ในพลาสม่า
- กรุ๊ปเลือด B คือกรุ๊ปเลือดที่มีแอนติเจนชนิดบี (B Antigens) ที่เซลล์เม็ดเลือดแดง และมีสารแอนติบอดีชนิด แอนติ-เอ (Anti-A) ในพลาสม่า
- กรุ๊ปเลือด O คือกรุ๊ปเลือดที่ไม่มีแอนติเจน แต่มีแอนติบอดีทั้งชนิด แอนติ-เอ และ แอนติบี ในพลาสม่า
- กรุ๊ปเลือด AB คือกรุ๊ปเลือดที่มีแอนติเจนทั้งชนิดเอ และบี แต่ไม่มีแอนติบอดีชนิดเอและบีในพลาสม่า
ระบบอาร์เอช (Rh System) ในบางกรณีเซลล์เม็ดเลือดแดงอาจมีแอนติเจนชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น แอนติเจนชนิด อาร์เอชดี (RhD Antigens) ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
- อาร์เอชบวก (Rh Positive - Rh+) ผู้ที่กรุ๊ปเลือดดังกล่าวจะมีแอนติเจนชนิดอาร์เอช (Rh antigens) และสามารถรับเลือดได้ทั้งชนิดอาร์เอชบวก และ อาร์เอชลบ
- อาร์เอชลบ (Rh Negative - Rh-) ผู้ที่มีกรุ๊ปเลือดนี้จะไม่มีแอนติเจนชนิดอาร์เอชที่เซลล์เม็ดเลือดแดง และสามารถรับเลือดได้แค่เพียงชนิดอาร์เอชลบเท่านั้น
ทั้งนี้ระบบเลือดแบบอาร์เอช แบ่งการระบุกรุ๊ปเลือดของผู้ป่วยออกเป็น 8 กรุ๊ปดังนี้
- เอ อาร์เอชบวก (A+)
- เอ อาร์เอชลบ (A-)
- บี อาร์เอชบวก (B+)
- บี อาร์เอชลบ (B-)
- โอ อาร์เอชบวก (O+)
- โอ อาร์เอชลบ (O-)
- เอบี อาร์เอชบวก (AB+)
- เอบี อาร์เอชลบ (AB-)
โดยกรุ๊ปเลือด โอ อาร์เอชลบ เป็นกรุ๊ปเลือดที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกกรุ๊ปเลือด เพราะเข้ากันได้กับทุกกรุ๊ปเลือด จึงมักถูกใช้ในกรณีฉุกเฉิน เมื่อแพทย์ไม่ทราบกรุ๊ปเลือดของผู้ป่วย
กรุ๊ปเลือดสำคัญอย่างไร ?
เราาทุกคนควรทราบกรุ๊ปเลือดของตัวเอง เนื่องจากจะช่วยเวลาเจ็บป่วย ทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ในกรณีของการบริจาคเลือด บริจาคอวัยวะ และในกรณีของผู้ป่วยต้องเข้ารับการเปลี่ยนถ่ายเลือด ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างการผ่าตัดหรือการเข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ทราบ หรือแจ้งกรุ๊ปเลือดผิด อาจส่งผลอันตรายต่อผู้ป่วยได้ เช่น หากผู้ป่วยมีเลือดกรุ๊ปบี แต่ได้รับเลือดกรุ๊ปเอ แอนติบอดีชนิดเอที่อยู่ในน้ำเลือดผู้ให้ก็จะไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดที่มีแอนติเจนชนิดเอของผู้รับ จนทำให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วย นอกจากนี้กรุ๊ปเลือดก็ยังมีความสำคัญต่อผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ หรือวางแผนการตั้งครรภ์ด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้พร้อมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ได้
ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ กรุ๊ปเลือดยังถูกนำมาใช้เพื่อระบุความเกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมว่าเป็นญาติพี่น้องกันหรือไม่ อีกทั้งยังช่วยในการระบุตัวผู้ก่อคดีในกรณีที่เกิดเหตุอาชญากรรมได้อีกด้วย
หากไม่ทราบกรุ๊ปเลือด ควรทำอย่างไร ?
วิธีที่ช่วยให้ทราบกรุ๊ปเลือดได้อย่างถูกต้องที่สุด คือการตรวจกรุ๊ปเลือด ซึ่งเป็นวิธีการตรวจเลือดที่ช่วยให้ผู้เข้ารับการตรวจทราบว่าตนเองมีกรุ๊ปเลือดใด โดยในการตรวจกรุ๊ปเลือดนั้นมักจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือด หรือหลังจากการบริจาคเลือด โดยนำตัวอย่างเลือดที่ได้จากการบริจาคไปตรวจด้วยวิธีการคัดแยกกรุ๊ปเลือด อย่างไรก็ตามหากบุคคลทั่วไปต้องการทราบกรุ๊ปเลือดของตัวเองก็สามารถไปตรวจได้เลย
การตรวจกรุ๊ปเลือดมีความสำคัญมากกับสตรีมีครรภ์ เพราะหากแม่มีกรุ๊ปเลือดอาร์เอชลบและพ่อมีกรุ๊ปเลือดอาร์เอชบวก เด็กอาจมีแนวโน้มที่มีกรุ๊ปเลือดชนิดอาร์เอชบวก มีโอกาสเสียชีวิตในครรภ์ได้ ซึ่งจะทำให้แม่ต้องได้รับยา Rh immunoglobulin (RhoGAM) โดยยาชนิดนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้แม่สร้างแอนติบอดีที่ไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดของทารกในกรณีที่เลือดของแม่เล็กเด็กเกิดการผสมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์
ขั้นตอนในการตรวจกรุ๊ปเลือด
การตรวจกรุ๊ปเลือดนั้นมีขั้นตอนเหมือนกับการตรวจเลือดโดยทั่วไป แต่แตกต่างกันที่ก่อนเข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องงดอาหาร หรืองดน้ำแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อเข้ารับการตรวจ พยาบาลจะรัดที่ต้นแขนด้วยยางยืด หรือสายรัด เพื่อให้เห็นเส้นเลือดดำได้ชัดยิ่งขึ้น และทำให้ง่ายต่อการใช้เข็มเจาะลงไปที่เส้นเลือดดำ จากนั้นพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเจาะเลือดจะนำสำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดบริเวณที่จะเจาะเลือด และนำเข็มที่ผ่านการฆ่าเชื้อเจาะลงไปยังบริเวณดังกล่าวเพื่อเก็บตัวอย่างเลือด แต่ถ้าเจาะแล้วไม่ได้เลือดตามที่ต้องการก็อาจต้องเปลี่ยนบริเวณที่เจาะและเปลี่ยนเข็มเจาะเลือด ในขณะที่เก็บตัวอย่างเลือด พยาบาลจะปลดสายรัดที่ต้นแขนออกเมื่อได้ปริมาณเลือดตามที่ต้องการ แล้วจึงนำเข็มออก และปิดทับบริเวณที่เจาะเลือดด้วยสำลี หรือพลาสเตอร์ปิดแผล จากนั้นพยาบาลจะแนะนำให้ผู้เข้ารับการตรวจเลือดไปนั่งรอผลการตรวจต่อไป
ความเสี่ยงจากการตรวจกรุ๊ปเลือด
การตรวจกรุ๊ปเลือดเป็นวิธีการตรวจที่ไม่อันตราย แต่อาจพบความเสี่ยงบ้างเล็กน้อย ได้แก่
- เกิดรอยฟกช้ำตรงบริเวณที่เจาะเลือด
- เป็นลม หรือวิงเวียนศีรษะ
- บางกรณีอาจเกิดหลอดเลือดดำบวมอักเสบหลังจากเจาะเลือด
- ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด หรือผู้ที่รับประทานยาแอสไพริน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาละลายลิ่มเลือด เลือดอาจไหลไม่หยุดได้
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย หากผู้ป่วยมีปัญหาการแข็งตัวของเลือด หรือมีประวัติว่าเคยเกิดรอยฟกช้ำ หรือเส้นเลือดดำบวมอักเสบ ควรแจ้งแพทย์ เพื่อที่จะได้เพิ่มความระมัดระวังในการเจาะเลือดมากขึ้น
กรุ๊ปเลือดใดเข้ากันได้บ้าง ?
เนื่องจากความแตกต่างของแอนติเจนในเลือดจึงทำให้ผู้ที่มีความแตกต่างของกรุ๊ปเลือดบางกรุ๊ปไม่สามารถรับเลือดของกรุ๊ปอื่นได้ แต่บางกรุ๊ปก็รับเลือดของกรุ๊ปอื่นได้ เช่น
- กรุ๊ปเลือดเอ อาร์เอชลบ (A- Blood Type) รับเลือดกรุ๊ปเอ อาร์เอชลบ (A-) และ กรุ๊ปเลือด โอ อาร์เอชลบ (O-) ได้
- กรุ๊ปเลือดเอ อาร์เอชบวก (A+ Blood Type) รับเลือดกรุ๊ปเอ อาร์เอชลบ (A-) เอ อาร์เอชบวก (A+) โอ อาร์เอชลบ (O-) และ โอ อาร์เอชบวก (O+) ได้
- กรุ๊ปเลือดบี อาร์เอชลบ (B- Blood Type) รับเลือดกรุ๊ปบี อาร์เอชลบ (B-) และ กรุ๊ปเลือด โอ อาร์เอชลบ (O-) ได้
- กรุ๊ปเลือดบี อาร์เอชบวก (B+ BloodType) รับเลือดกรุ๊ปบี อาร์เอชลบ (B-) บี อาร์เอชบวก (B+) โอ อาร์เอชลบ (O-) และ โอ อาร์เอชบวก (O+) ได้
- กรุ๊ปเลือดเอบี อาร์เอชลบ (AB- Blood Type) รับเลือดกรุ๊ปเอบี อาร์เอชลบ (AB-) และ กรุ๊ปเลือด โอ อาร์เอชลบ (O-) ได้
- กรุ๊ปเลือดเอบี อาร์เอชบวก (AB+ Blood Type) รับเลือดกรุ๊ปเอบี อาร์เอชลบ (AB-) เอบี อาร์เอชบวก (AB+) เอ อาร์เอชลบ (A-) เอ อาร์เอชบวก (A+) บี อาร์เอชลบ (B-) บี อาร์เอชบวก (B+) โอ อาร์เอชลบ (O-) และ โอ อาร์เอชบวก (O+) ได้
- กรุ๊ปเลือด โอ อาร์เอชลบ (O- Blood Type) รับเลือดได้เพียงเลือดกรุ๊ป โอ อาร์เอชลบ (O-) เท่านั้น
- กรุ๊ปเลือด โอ อาร์เอชบวก (O+ Blood Type) รับเลือดกรุ๊ปโอ อาร์เอชลบ (O-) และ โอ อาร์เอชบวก (O+) ได้