ไข่ตก คือภาวะที่ร่างกายปล่อยไข่ออกจากรังไข่ไปยังท่อนำไข่เพื่อปฏิสนธิกับอสุจิ ซึ่งเป็นภาวะสุขภาพที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นประจำทุกเดือน โดยวันที่ประจำเดือนมาวันแรกนั้นนับเป็นช่วงเริ่มต้นของรอบเดือน ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนฟอลลิเคิล สติมูเลติง (Follicle-Stimulating Hormone: FSH) ออกมาเพื่อกระตุ้นให้ไข่สุกและช่วยสร้างเยื่อบุมดลูกให้หนาขึ้นในช่วงวันที่ 2-14 ของรอบเดือน ซึ่งเรียกว่าระยะก่อนตกไข่ ส่วนช่วงไข่ตกจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11-21 ของรอบเดือน ในช่วงนี้ร่างกายจะมีระดับฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing Hormone: LH) สูงขึ้น และมูกช่องคลอดลื่นมากขึ้น เพื่อให้อสุจิเข้ามาผสมกับไข่ได้ แต่หากไข่ไม่ได้ผสมกับอสุจิ เยื่อบุมดลูกจะสลายกลายเป็นเลือดประจำเดือน
สัญญาณไข่ตกมีอะไรบ้าง ?
โดยทั่วไป ช่วงก่อนหน้าและระหว่างที่ไข่ตกนั้นฮอร์โมนจะแปรปรวน ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ผู้หญิงหลายคนมักมีอาการคัดเต้านม ปวดศีรษะ หรืออารมณ์ไม่คงที่ นอกจากนี้ อาจปรากฏอาการอื่น ๆ อันเป็นสัญญาณของไข่ตกร่วมด้วย ดังนี้
- มูกช่องคลอดลื่นขึ้น เมื่อใกล้ตกไข่ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้น ส่งผลให้มูกช่องคลอดลื่นและใส ทำให้อสุจิผ่านเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ง่าย อย่างไรก็ดี ผู้หญิงแต่ละคนมีปริมาณและลักษณะของมูกในช่องคลอดในช่วงไข่ตกแตกต่างกันไป หากต้องการตรวจดูว่ามูกช่องคลอดเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อาจลองสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอดและปาดมูกออกมา จากนั้นใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งสัมผัสมูกแล้วยืดออกดู หากมูกยืดได้และลื่นเหมือนไข่ขาวดิบ แสดงว่าอยู่ในช่วงไข่ตก
- ไวต่อกลิ่น หญิงบางรายอาจมีอาการไวต่อกลิ่นในช่วงครึ่งหลังของรอบเดือน
- เจ็บเต้านม เมื่อฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลให้เต้านมและหัวนมไวต่อสัมผัส รู้สึกเจ็บ หรือคัดเต้านมได้
- ปวดท้องน้อย อาการปวดท้องน้อยจากไข่ตก หรือเรียกอีกอย่างว่า Mittelschmerz จะทำให้ปวดท้องน้อยอ่อน ๆ โดยปวดข้างใดข้างหนึ่ง แต่จะไม่ปวดซ้ำข้างเดิมในแต่ละครั้ง อาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นสั้น ๆ หรือนานเป็นชั่วโมง และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอด มีตกขาว หรือคลื่นไส้ร่วมด้วย ซึ่งมักไม่รุนแรงและเกิดขึ้นระยะสั้น ๆ ผู้ที่ปวดท้องน้อยในช่วงไข่ตกอาจรับประทานยาต้านอักเสบเพื่อบรรเทาอาการ แต่หากยังรู้สึกปวดหรือปวดรุนแรงขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย เพราะอาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซีสต์ในรังไข่ เป็นต้น ทั้งนี้ อาจทำบันทึกอาการช่วงไข่ตกในแต่ละเดือน เพื่อดูว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณไข่ตกทั่วไปหรือผิดปกติอย่างไร
- มีตกขาว ช่วงไข่ตกอาจเกิดตกขาว เป็นจุดหรือตกขาวสีน้ำตาลได้ เนื่องจากถุงไข่ฟอลลิเคิลซึ่งล้อมรอบไข่ที่กำลังเจริญเติบโตนั้นแตกออก ส่งผลให้มีเลือดไหลออกมาเล็กน้อย หากเลือดค้างอยู่นานอาจทำให้ตกขาวมีสีน้ำตาล ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตราย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีตกขาวลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือท้องนอกมดลูก
- แรงขับทางเพศมากขึ้น ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงไข่ตกอาจมีความต้องการทางเพศสูงขึ้น
- ปากมดลูกเปลี่ยนแปลง เมื่อร่างกายตกไข่ ปากมดลูกจะสูงขึ้น นุ่มขึ้น และเปิดออกมากกว่าเดิม ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวตรวจดูได้ โดยยืนในท่าเตรียมสอดผ้าอนามัยแบบสอด จากนั้นใช้นิ้วมือสัมผัสช่องคลอดตนเอง ช่วงก่อนไข่ตกปากมดลูกจะนุ่มคล้ายริมฝีปาก แต่หลังผ่านช่วงไข่ตกไปแล้ว ปากมดลูกจะแข็งเหมือนสันจมูก ทั้งนี้ อาจเข้ารับการตรวจปากมดลูกจากสูตินรีแพทย์โดยตรงก็ได้
คำนวณระยะไข่ตกอย่างไร ?
การคำนวณระยะไข่ตกทำได้หลายวิธี ได้แก่ นับวันตามปฏิทิน ทดสอบด้วยชุดทดสอบการตกไข่ วัดอุณหภูมิร่างกาย สังเกตมูกช่องคลอด ตรวจสอบระยะเวลาการตกไข่ และจดบันทึกอาการ ซึ่งแต่ละวิธีมีรายละเอียด ดังนี้
- นับวันตามปฏิทิน เป็นการคำนวณภาวะไข่ตกที่ง่าย โดยจดบันทึกวันที่ประจำเดือนเริ่มมาและวันที่ประจำเดือนหมด เหมาะกับผู้ที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ เนื่องจากจะเกิดภาวะไข่ตกตรงกันทุกเดือน ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นประมาณ 14 วันก่อนประจำเดือนมา โดยเริ่มนับย้อนจากวันแรกของประจำเดือนครั้งต่อไปเป็นจำนวน 14 วัน อย่างไรก็ดี วิธีนี้ไม่ค่อยแม่นยำนัก เนื่องจากภาวะไข่ตกไม่ได้เกิดก่อนประจำเดือนมา 14 วันเสมอไป
- ทดสอบด้วยชุดทดสอบการตกไข่ เป็นชุดทดสอบที่ใช้วัดระดับฮอร์โมนลูทิไนซิง ซึ่งช่วยคำนวณการตกไข่ได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากภาวะไข่ตกเกิดขึ้นหลังจากฮอร์โมนลูทิไนซิงพุ่งขึ้นสูงไปแล้วประมาณ 10-12 ชั่วโมง โดยฮอร์โมนนี้จะสูงขึ้นเป็นเวลา 14-27 ชั่วโมง ในวันที่ 14-15 ของรอบเดือน เพื่อช่วยให้ไข่สุกเต็มที่ การตรวจทำได้โดยปัสสาวะลงบนแท่งทดสอบและนำไปเทียบกับรูปในคู่มือผลิตภัณฑ์ เพื่อดูว่าแถบสีบนแท่งทดสอบมีลักษณะใกล้เคียงกับช่วงไข่ตกหรือไม่ หากปรากฏค่าบนแถบสีไม่ชัดเจนหรือไม่แน่ใจว่าอยู่ในช่วงไข่ตกหรือไม่ ควรทดสอบอีกครั้งภายใน 12 ชั่วโมง ทั้งนี้ ควรตรวจซ้ำในเวลาเดิมทุกวัน เพื่อผลการทดสอบที่แม่นยำ รวมทั้งงดน้ำเป็นเวลา 4 ชั่วโมงก่อนตรวจ เพื่อให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นและตรวจหาฮอร์โมนลูทิไนซิงได้ง่าย
- วัดอุณหภูมิร่างกาย โดยทั่วไปแล้ว อุณหภูมิร่างกายขณะพัก (Basal Body Temperature: BBT) จะมีระดับสม่ำเสมอในช่วงต้นของรอบเดือน แต่เมื่อใกล้ช่วงไข่ตก อุณหภูมิร่างกายจะต่ำลงเล็กน้อยและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประมาณ 0.4-1 องศาเซลเซียส ผู้ที่ต้องการคำนวณภาวะไข่ตกอาจใช้เทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิทัลวัดอุณหภูมิร่างกายหลังตื่นนอนเป็นประจำทุกวัน ซึ่งปกติอุณหภูมิอาจขึ้นลงต่างกันบ้างเล็กน้อยในแต่ละวัน หากช่วงใดอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอ แสดงว่ากำลังอยู่ในช่วงตกไข่ ผู้ที่วางแผนมีบุตรควรจดบันทึกอุณหภูมิร่างกายในช่วงไข่ตกไว้ทุกเดือน เพื่อดูว่าช่วงใดเป็นช่วงที่ร่างกายมีแนวโน้มตั้งครรภ์ได้สูง
- สังเกตมูกช่องคลอด ส่วนใหญ่ผู้หญิงมีมูกช่องคลอดออกมาทุกเดือน ซึ่งอาจมีเพียงเล็กน้อยหรือมีมูกหนาและเหนียว โดยในช่วงไข่ตกจนถึงช่วงสิ้นสุดของภาวะนี้ จะมีมูกช่องคลอดออกมามาก รวมทั้งมูกมีลักษณะใส ลื่น และยืดได้เหมือนไข่ขาวดิบ
- ตรวจสอบระยะเวลาการตกไข่ (Fertility Monitor) วิธีนี้ช่วยระบุช่วงเวลา 5 วันที่เจริญพันธุ์ได้ดีที่สุด โดยใช้เครื่องวัดระดับฮอร์โมนลูทิไนซิงและเอสโตรเจน
- จดบันทึกอาการ ภาวะไข่ตกส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับร่างกาย บางคนอาจมีอาการปวดบีบที่ท้องเพียงเล็กน้อยหรือปวดหลังข้างเดียว อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้อาจไม่ใช่สัญญาณของการตกไข่เสมอไป จึงควรจดบันทึกช่วงเวลาที่เกิดสัญญาณไข่ตกไว้ ควบคู่กับการคำนวณภาวะไข่ตกด้วยวิธีอื่น
ไข่ตกสำคัญกับการตั้งครรภ์อย่างไร ?
รอบเดือนของผู้หญิงเริ่มตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมาไปจนถึงวันแรกของประจำเดือนครั้งถัดไป ส่วนใหญ่รอบเดือนของผู้หญิงอยู่ในช่วง 21-35 วัน แต่บางคนอาจมีช่วงรอบเดือนยาวหรือสั้นกว่านี้ วันแรกที่ประจำเดือนมาจะนับเป็นวันที่ 1 ของรอบเดือน ภาวะไข่ตกมักเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 11-21 ของรอบเดือนนั้น ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายพร้อมต่อการเจริญพันธุ์อย่างเต็มที่ โดยมีฮอร์โมนลูทิไนซิงพุ่งขึ้นสูง ส่งผลให้รังไข่ปล่อยไข่ที่สุกแล้วออกมาภายใน 24-36 ชั่วโมง และไปยังท่อนำไข่เพื่อรับการปฏิสนธิ ระหว่างนี้ผู้หญิงจะมีมูกช่องคลอดลื่นและใสขึ้น เพื่อช่วยให้อสุจิเข้ามาผสมกับไข่ได้ง่าย นอกจากนี้ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนออกมาสร้างเยื่อบุมดลูกให้หนาขึ้น เพื่อรองรับตัวอ่อนที่ได้รับการปฏิสนธิ
หากไข่ปฏิสนธิกับอสุจิ ร่างกายจะผลิตโปรเจสเตอโรนออกมาเรื่อย ๆ เพื่อรองรับการเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์จนกระทั่งเกิดรก ผู้ที่วางแผนมีบุตรและมีเพศสัมพันธ์ในช่วงไข่ตกควรสังเกตอาการตั้งครรภ์ และเริ่มตรวจครรภ์ภายใน 7-10 วันหลังจากผ่านช่วงไข่ตก ทั้งนี้ หากไข่ไม่ได้ปฏิสนธิกับอสุจิ ระดับฮอร์โมนดังกล่าวจะลดลง จากนั้นไข่จึงสลายตัวเมื่อผ่านไป 24 ชั่วโมง ส่วนเยื่อบุมดลูกจะเริ่มสลายตัวหลังจากผ่านช่วงไข่ตกไปประมาณ 12-16 วัน และขับออกมาเป็นเลือดประจำเดือน แล้วกลับไปเริ่มต้นรอบเดือนใหม่ ซึ่งภาวะไข่ตกถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้หญิง เนื่องจากช่วยให้เข้าใจสุขภาพและความเปลี่ยนแปลงของร่างกายมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการวางแผนมีบุตร และป้องกันการตั้งครรภ์