การรักษาไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่ (Flu, Influenza)
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงส่วนใหญ่จะค่อย ๆ หายเป็นปกติได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการป่วยในเบื้องต้น โดยยาที่แพทย์หรือเภสัชกรมักแนะนำให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ใช้มีดังนี้
ยาลดอาการคัดจมูก
ยานี้ใช้สำหรับบรรเทาอาการบวมของหลอดเลือดในจมูก ลดอาการคัดจมูก และน้ำมูกไหล
ยาต้านฮิสตามีน
ยาต้านฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้ เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดสารฮิสตามีน ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบและอาการแพ้ ใช้เพื่อรักษาอาการจาม คันจมูก หรือน้ำตาไหล
ยาแก้ไอและกำจัดเสมหะ
อาการไอจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อาจมีเสมหะร่วมด้วย จึงอาจใช้ยากลุ่มขับเสมหะที่กระตุ้นให้ร่างกายผลิตเสมหะมากขึ้น และกระตุ้นให้ไอเพื่อให้ร่างกายขับเสมหะออกมาได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อเสมหะถูกขับออกมาแล้วก็จะทำให้อาการไอลดลง
หรืออาจใช้ยากลุ่มละลายเสมหะ เช่น ยาคาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine) ยาบรอมเฮกซีน (Bromhexine) ยาอะซิทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) โดยยากลุ่มนี้จะช่วยลดความข้นเหนียวของเสมหะ จึงช่วยทำให้ขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น โดยปริมาณยาอาจขึ้นอยู่กับอายุและโรคประจำตัวของผู้ป่วย
ยาต้านไวรัส
ในประเทศไทยมีการใช้ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) และยาซานามิเวียร์ (Zanamivir) เพื่อออกฤทธิ์ยับยั้งการกระจายตัวของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A และ B ภายในร่างกาย ซึ่งจะใช้ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย และเสี่ยงต่อการติดเชื้อสายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้น
แพทย์จะจ่ายยาต้านไวรัสสำหรับรับประทานประมาณ 5 วัน ยาโอเซลทามิเวียร์สามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป ในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ก็สามารถรับยาโอเซลทามิเวียร์ได้เช่นกัน ส่วนยาซานามิเวียร์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยอายุ 7 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ การใช้ยาต้านไวรัสจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากยาต้านไวรัสอาจส่งผลข้างเคียงตามมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ปวดหัว คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ ท้องร่วง หากพบอาการข้างเคียงที่รุนแรงควรรีบแจ้งแพทย์และเข้ารับการรักษาเพิ่มเติม
นอกจากนี้ แพทย์ไม่แนะนำให้รับประทานยาทามิฟลู (Tamiflu) ซึ่งยาชนิดนี้ต้องให้แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น หากไม่มีอาการไข้หรือมีไข้แต่ไม่รุนแรงนัก เพราะจะทำให้ดื้อยาและเกิดอาการข้างเคียงอย่างการเกิดภาพหลอนตามมาได้
ยาปฏิชีวนะ
โดยปกติยาประเภทนี้จะไม่มีผลต่อการรักษาไวรัสโดยตรง แต่แพทย์มักแนะนำให้ใช้เพื่อรักษาภาวะแทรกซ้อนอย่างปอดอักเสบจากเชื้อรา
นอกจากการรับประทานยา ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงตามเดิม
- นอนหลับอย่างเพียงพอเพื่อพักฟื้นร่างกาย
- ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพราะอาการไข้ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ
- งดการออกไปในที่สาธารณะเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ หากต้องออกไปในที่สาธารณะ ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อทางอากาศ อย่างการไอและจาม
- หากมีอาการระคายคอหรือเจ็บคอ อาจใช้สเปรย์พ่นคอหรือยาอม โดยสามารถใช้ได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการในระยะแรก