การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่ (Flu, Influenza)
การวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่สามารถทำได้ดังนี้
การวินิจฉัยด้วยตนเอง
ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการป่วยของตนเอง หากพบว่ามีไข้สูง หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ เป็นหวัด คัดจมูก ปวดหัว และอ่อนเพลีย อาจคาดได้ว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ ควรสังเกตอาการบ่งชี้ของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงด้วย ซึ่งหากมีอาการต่อไปนี้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เช่น อาการปอดบวม การติดเชื้อที่หู หอบหืด และหลอดลมอักเสบ
การวินิจฉัยโดยแพทย์
แพทย์จะตรวจร่างกายและสังเกตอาการที่เกิดขึ้น เพื่อวางแผนรักษาตามอาการ ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะถูกนำมาใช้ต่อเมื่อแพทย์มีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการป่วย และต้องการยืนยันผลการวินิจฉัยอย่างแน่ชัด เช่น
- Rapid Influenza Diagnosis Tests (RIDTs) แพทย์จะเก็บตัวอย่างเชื้อจากน้ำมูกในจมูกหรือเสมหะในลำคอของผู้ป่วยไปตรวจ เป็นวิธีที่ทราบผลการตรวจอย่างรวดเร็วภายใน 30 นาที แต่วิธีการนี้ไม่สามารถตรวจพบไวรัสที่มีความเข้มข้นต่ำได้ และสามารถแยกไวรัสได้เพียงชนิด A และ B เท่านั้น ในบางครั้งผู้ป่วยจึงยังติดเชื้อแม้จะมีผลตรวจออกมาเป็นลบ
- Reverse Transcription-Polymerase Chain Reaction (RT-PCR) เป็นการเก็บสารคัดหลั่งในโพรงจมูกหรือในลำคอของผู้ป่วยแล้วนำเชื้อในสารคัดหลั่งไปเพาะเลี้ยง มักทำเมื่อตรวจไม่พบเชื้อในกรณีที่ใช้ชุดทดสอบแบบแรก แต่แพทย์ยังคงสงสัยว่าได้รับเชื้อจริงหรือจำเป็นต้องได้รับการยืนยันที่แน่นอนเพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งจำเป็นต้องรอผลการเพาะเชื้อประมาณ 3–7 วัน
- Fluorescent Antibody เป็นการตรวจหาแอนติเจนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ผ่านการส่องกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งหากพบจุลชีพของไวรัสจะมองเห็นเป็นจุดเรืองแสง