ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่ (Flu, Influenza)
อาการแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคไข้หวัดใหญ่เป็นผลมาจากหลายปัจจัย แต่ที่แยกได้ชัดเจนคือ สภาพร่างกายที่แตกต่างกัน ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคแตกต่างกัน
ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนและการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นได้ง่าย คือ เด็กแรกเกิด ผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่อยู่ในระหว่างรักษาตัวเป็นเวลานาน ๆ ผู้ที่คอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ
ส่วนผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน โรคทางกล้ามเนื้อประสาท โรคเกี่ยวกับปอดและหัวใจ นอกจากจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนขณะป่วยไข้หวัดใหญ่แล้ว ยังมีความเสี่ยงสูงที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่จะส่งผลให้อาการของโรคเดิมทรุดหนักลง
อาการแทรกซ้อนที่พบจากการป่วยไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ หายใจเร็ว หายใจช่วงสั้น ๆ มีปัญหาในการหายใจ เรียกไม่ตื่น ไม่รู้ตัว ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง อาการไข้หวัดทุเลาลงแต่กลับมาเป็นอีกครั้ง โดยมีอาการป่วยรุนแรงกว่าเดิม เจ็บปวดหรือแน่นหน้าอกและช่วงท้อง เวียนหัวเฉียบพลัน ครั่นเนื้อครั่นตัว หรืออาเจียนบ่อย ๆ
สำหรับผู้ปกครองอาจต้องสังเกตและเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนในผู้ป่วยเด็กบางรายด้วย เช่น รับประทานอาหารไม่ได้ ดื่มน้ำน้อย ผิวเปลี่ยนเป็นสีคล้ำลง มีไข้ร่วมกับมีผดผื่นคัน หรือมีอาการแพ้ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ส่วนโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ก็เช่น การติดเชื้อในอวัยวะต่าง ๆ อย่างการติดเชื้อในหูและไซนัส หลอดลมอักเสบ ปอดบวม ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจวาย นอกจากนี้ยังมีโรคแทรกซ้อนบางโรคที่พบในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ แต่พบได้น้อย เช่น ทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคสมองอักเสบ และไข้ชัก