ไข้หูดับ (Streptococcus Suis Infection) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในตัวหมูหรือปนเปื้อนในเนื้อหมูดิบ ผู้ป่วยมักมีไข้ ปวดศีรษะ บางรายอาจเกิดอาการแทรกซ้อนอย่างหูดับหรือสูญเสียการได้ยิน และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
ไข้หูดับมักพบในคนที่รับประทานเนื้อหมูที่ยังดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ โดยเฉพาะเมนูลาบ หลู้ หมูกระทะ จิ้มจุ่ม หรือชาบู และคนที่ทำงานใกล้ชิดกับหมูหรือเนื้อหมูที่ปนเปื้อนเชื้อ โรคนี้มักพบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย แต่สามารถป้องกันได้หากเรารับประทานเนื้อหมู เลือดหมู และเครื่องในหมูที่ปรุงสุก รวมทั้งมีวิธีการป้องกันขณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับตัวหมูหรือเนื้อหมูอย่างถูกต้อง
ไข้หูดับเกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร
ไข้หูดับเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Suis ที่อยู่ในตัวหมู โดยแบคทีเรียชนิดนี้สามารถแพร่กระจายจากหมูสู่คนได้จากการรับประทานเนื้อหมู เลือดหมู และเครื่องในหมูที่ดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ และการสัมผัสเนื้อหมูหรือตัวหมูที่มีเชื้อโรคปนอยู่ ซึ่งเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลหรือรอยถลอกบริเวณผิวหนัง
เชื้อแบคทีเรียต้นเหตุไข้หูดับอาจใช้เวลาฟักตัวภายใน 2–3 ชั่วโมงไปจนถึงหลายสัปดาห์ จากนั้นผู้ป่วยมักมีไข้ในช่วงแรกแล้วจึงดำเนินไปสู่อาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น ปวดศีรษะ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน แพ้แสง เวียนศีรษะ รู้สึกสับสน หรือคอแข็ง
ในบางรายอาจเกิดภาวะเยื่อบุหัวใจอักเสบหรือภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งผลให้อวัยวะภายในเกิดการอักเสบ มีจ้ำเลือดใต้ผิวหนัง ช็อก หรือเสียชีวิต
ผู้ป่วยยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนจากไข้หูดับได้ เช่น มีปัญหาด้านการได้ยินหรือสูญเสียการได้ยินถาวรในผู้ป่วยที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบมาก่อน ภาวะช็อก ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ไตวายเฉียบพลัน ภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ หรือกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (Toxic Shock Syndrome: TSS) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือด
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการรักษาและหายจากอาการป่วยแล้วอาจมีอาการผิดปกติต่อเนื่องในระยะยาว ไม่ว่าจะกล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียการทรงตัว ไปจนถึงสูญเสียการได้ยินชั่วคราวหรือถาวร ซึ่งหลายคนเรียกกันว่าหูดับนั่นเอง
วิธีการรักษาและป้องกันไข้หูดับ
ไข้หูดับเป็นโรคที่รักษาได้ โดยแพทย์จะเน้นรักษาแบบประคับประคองอาการของผู้ป่วยไม่ให้รุนแรงยิ่งขึ้น เช่น รับประทานยาลดไข้อย่างยาพาราเซตามอล ให้สารน้ำเพิ่มเติม ใช้เครื่องช่วยหายใจเมื่อระบบหายใจล้มเหลว หรือเข้ารับการฟอกไตหากมีปัญหาไตวายเฉียบพลัน
นอกจากนั้น แพทย์ยังให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย ตัวยาที่แพทย์อาจสั่งจ่าย เช่น ยาเพนิซิลลิน จี (Penicillin G) ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosporins) อย่างยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) หรือยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) โดยผู้ป่วยแต่ละคนจะใช้เวลาในการรักษาตัวต่างกันไป
ในเบื้องต้นเราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงของไข้หูดับได้ด้วยการระมัดระวังในการรับประทานหรือปรุงอาหารที่มีเนื้อหมูเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งระมัดระวังเมื่อต้องทำงานที่ใกล้ชิดกับหมู ดังนี้
- ไม่รับประทานอาหารที่ใช้เนื้อหมู เลือดหมู และอวัยวะภายในของหมูที่ยังดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบเป็นส่วนประกอบโดยเด็ดขาด
- เลือกเนื้อหมูสดที่มีสีแดงธรรมชาติ ปราศจากรอยช้ำเลือด กลิ่นเหม็น และตัวอ่อนของพยาธิที่มีลักษณะเป็นก้อนคล้ายเม็ดสาคู
- เลือกเนื้อหมูจากร้านค้า ตลาดสด หรือห้างสรรพสินค้าที่น่าเชื่อถือ ผ่านมาตรฐานด้านความสะอาดและปลอดภัย และมีการจัดเก็บเนื้อหมูในอุณหภูมิที่เหมาะสม
- ล้างมือให้สะอาดก่อนการเตรียม การปรุง และการรับประทานเนื้อหมู ล้างเนื้อหมูบริเวณที่สกปรกก่อนนำมาประกอบอาหาร และล้างเครื่องครัวที่มีการใช้งานเพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจาย สำหรับผู้ที่มีบาดแผลหรือรอยถลอกที่มือควรสวมถุงมือก่อนเสมอ
- ปรุงเนื้อหมูให้สุกด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 63–71 องศาเซลเซียส ระยะเวลาประมาณ 2–3 นาที หลังจากปรุงเนื้อหมูจนสุกแล้วให้ทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที ค่อยรับประทานหรือหั่นชิ้นเนื้อ เพื่อให้ความร้อนช่วยฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนอยู่ให้หมดก่อน
- ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับหมู เนื้อหมู หรือซากหมู เช่น คนชำแหละสัตว์ พนักงานในโรงฆ่าสัตว์ คนดูแลฟาร์มหมู หรือสัตวแพทย์ ควรสวมชุดและอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคอย่างถุงมือ ผ้ากันเปื้อน หน้ากากอนามัย หรือแว่นตานิรภัยเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อหรือตายผิดปกติ โดยเฉพาะหากยังไม่ได้สวมถุงมือหรืออยู่ในชุดป้องกันที่เหมาะสม ในกรณีที่พบหมูป่วยหรือตายผิดปกติควรแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ในพื้นที่เข้าตรวจสอบโดยเร็ว
ในกรณีที่มีไข้หลังรับประทานเนื้อหมูดิบและกึ่งสุกกึ่งดิบ สัมผัสกับหมูหรือเนื้อหมูที่สงสัยว่าติดเชื้อนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับหมู ผู้ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยที่กำลังรักษาโรคมะเร็ง ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากปัญหาสุขภาพอย่างโรคเบาหวาน การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โรคตับ หรือโรคไต รวมถึงสตรีมีครรภ์ เด็ก และผู้สูงอายุ