ไทรอยด์เป็นพิษและภาวะขาดไทรอยด์ส่งผลต่อน้ำหนักอย่างไร ?

ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) และไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือภาวะขาดไทรอยด์ เป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับต่อมไทรอยด์บริเวณส่วนหน้าของคอ ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งควบคุมระบบเมตาบอลิซึมหรือการเผาผลาญพลังงานของร่างกายโดยช่วยนำพลังงาน วิตามิน และฮอร์โมนอื่น ๆ มาใช้ รวมทั้งควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในร่างกายด้วย

ไทรอยด์เป็นพิษ

หากร่างกายมีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์จะส่งผลกระทบต่ออัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกายและก่อให้เกิดปัญหาน้ำหนักตัวตามมา การเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อมโยงของภาวะไทรอยด์เป็นพิษและไฮโปไทรอยด์กับน้ำหนักตัวจะช่วยให้เกิดความเข้าใจและดูแลอาการป่วยได้ถูกต้องมากขึ้น

ไทรอยด์ส่งผลต่อน้ำหนักตัวอย่างไร

ฮอร์โมนไทรอยด์นั้นช่วยให้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกายพัฒนาและเจริญเติบโตขึ้นอย่างเป็นปกติ ทั้งยังควบคุมการเก็บสำรองและเผาผลาญพลังงาน ส่งผลให้ระดับพลังงานในร่างกายสมดุล เมื่อประสบปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์จึงทำให้ระบบเมตาบอลิซึมทำงานผิดปกติ จนกระทบต่อการเผาผลาญพลังงานและส่งผลต่อน้ำหนักตัวตามไปด้วย โดยปัญหาต่อมไทรอยด์ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

ไทรอยด์เป็นพิษ คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานหนัก โดยหลั่งฮอร์โมนไทรอกซิน (Thyroxine: T4) และฮอร์โมนไตรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine: T3) ออกมามากเกินไป มักเกิดจากโรคเกรฟส์ (Graves’ Disease) ต่อมไทรอยด์อักเสบ หรือก้อนเนื้อที่่ต่อมไทรอยด์ รวมทั้งสาเหตุอื่นที่พบได้ไม่บ่อย เช่น เนื้องอก การรับประทานอาหารหรือยาที่มีไอโอดีนปริมาณมาก เป็นต้น

ไทรอยด์เป็นพิษส่งผลให้อัตราการทำงานของระบบเมตาบอลิซึมเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยจะเผาผลาญพลังงานและสลายไขมันในร่างกายได้มาก รวมทั้งมีน้ำหนักตัวและระดับคอเลสเตอรอลลดลง นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ กินจุขึ้น หัวใจเต้นเร็ว มือสั่น รู้สึกร้อนและเหงื่อออกเสมอ กล้ามเนื้ออ่อนล้าหรือเจ็บ ถ่ายหนักบ่อย วิตกกังวลหรือหงุดหงิด และประจำเดือนมาไม่ปกติ นอกจากนี้ ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษส่วนใหญ่มักมีอาการตาโปน ซึ่งส่งผลให้ตาปิดไม่สนิทและอาจมีปัญหาด้านสายตาตามมา

ไฮโปไทรอยด์ คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติและผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อการทำงานของร่างกาย ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทำงานผิดปกติ โดยภาวะนี้มักเกิดจากต่อมไทรอยด์อักเสบแบบฮาชิโมโต (Hashimoto's Thyroiditis) ซึ่งเกิดจากต่อมผลิตภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง ทั้งนี้ ไฮโปไทรอยด์อาจมีสาเหตุมาจากการรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษด้วยการกลืนสารรังสีไอโอดีน (Radioactive Iodine) การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ หรือการใช้ยารักษาโรคบางชนิด ส่วนสาเหตุที่พบไม่บ่อย ได้แก่ ความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์แต่กำเนิด ปัญหาเกี่ยวกับต่อมใต้สมอง หรือภาวะขาดไอโอดีน

ไฮโปไทรอยด์ส่งผลให้อัตราการทำงานของระบบเมตาบอลิซึมลดลง ผู้ป่วยจึงเผาผลาญพลังงานและสลายไขมันได้น้อย รวมทั้งมีน้ำหนักตัวและระดับคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ อาจมีอาการหรือความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ทางร่างกายตามมา ได้แก่ เหนื่อยง่าย สมรรถภาพร่างกายลดลง รู้สึกหนาวผิดปกติ ผิวแห้ง เล็บเปราะ ท้องผูก และประจำเดือนมาไม่ปกติ

อย่างไรก็ตาม วิธียืนยันอาการป่วยของโรคที่ชัดเจนและถูกต้องคือเข้ารับการวินิจฉัยกับแพทย์โดยตรง แพทย์จะซักถามอาการ ตรวจขนาดต่อมไทรอยด์ และดูว่ามีปัญหาสุขภาพดวงตาที่อาจแสดงถึงความผิดปกติของต่อไทรอยด์หรือไม่ รวมทั้งตรวจเลือด เพื่อวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ นอกจากนี้ แพทย์อาจทำอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์หรือเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติร่วมด้วย

ไทรอยด์เป็นพิษและไฮโปไทรอยด์ควรดูแลอย่างไร

ผู้ป่วยภาวะไทรอยด์เป็นพิษและไฮโปไทรอยด์สามารถดูแลอาการป่วยได้ด้วยตนเอง โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิต ดังนี้

  • การรับประทานอาหาร
    • เสริมโปรตีน เลือกรับประทานอาหารที่มีโปรตีนมากขึ้น เพื่อทดแทนน้ำหนักและมวลกล้ามเนื้อที่สูญเสียไป รวมทั้งรับประทานอาหารอื่น ๆ ในปริมาณพอเหมาะ เพื่อป้องกันน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากเกินไป โดยอาจปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเกี่ยวกับการวางแผนรับประทานอาหารแต่ละมื้อ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนและเหมาะสม
    • รับประทานผักมากขึ้น เลือกรับประทานผักในแต่ละมื้ออาหารให้มากขึ้น เนื่องจากผักช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ อีกทั้งยังมีแคลอรี่ต่ำ นอกจากนี้ อาจรับประทานผลไม้ ถั่วต่าง ๆ หรือโยเกิร์ตในปริมาณพอเหมาะ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารต่าง ๆ อย่างครบถ้วน
    • เลี่ยงไอโอดีน ไม่ควรบริโภคอาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของไอโอดีนสูง เช่น สาหร่าย อาหารมีส่วนผสมของสาหร่าย เม็ดฟู่สำหรับละลายในน้ำดื่ม รวมทั้งเลี่ยงรับประทานยาสมุนไพรและอาหารเสริมที่มีไอโอดีนสูง
    • งดคาเฟอีน กาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอาจทำให้อาการป่วยแย่ลง เช่น หัวใจเต้นเร็ว ทำให้กระวนกระวาย หรือไม่มีสมาธิ
  • แนวทางการใช้ชีวิต
    • ผ่อนคลายความเครียด ควรหาเวลาพักผ่อนหรือทำงานอดิเรกที่ช่วยให้เพลิดเพลินและผ่อนคลายมากขึ้น
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะกระตุ้นอัตราการเผาผลาญของระบบเมตาบอลิซึมให้แก่ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ อีกทั้งช่วยเสริมสร้างกระดูก กล้ามเนื้อ และหัวใจให้แข็งแรง
    • พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับจะช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอให้เป็นปกติ
    • หยุดสูบบุหรี่ ผู้ป่วยโรคเกรฟส์ซึ่งเป็นภาวะไทรอยด์เป็นพิษชนิดหนึ่ง ควรงดสูบบุหรี่เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารและพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ โดยผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษอาจได้รับยาลดฮอร์โมนไทรอยด์อย่างเมไทมาโซล หรือโพรพิลไทโอยูราซิล และอาจรักษาด้วยการกลืนสารรังสีไอโอดีน หรือผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกไป ส่วนผู้ป่วยภาวะไฮโปไทรอยด์จะได้รับยาบำบัดภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเรียกว่ายาเลโวไทรอกซีน