ไมโครพลาสติก (Microplastics) คือพลาสติกขนาดเล็กที่พบได้ทั่วไปในส่วนประกอบของวัสดุต่าง ๆ อาจมีความแตกต่างกันในด้านสสาร ความหนาแน่น ส่วนประกอบ ขนาดและรูปทรง โดยจากการศึกษาพบว่าผู้คนอาจมีความเสี่ยงต่อการที่พลาสติกจะเข้าสู่ร่างกายสัปดาห์ละประมาณ 5 กรัมเลยทีเดียว ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีการระบุคำจำกัดความทางวิทยาศาสตร์ของไมโครพลาสติกอย่างชัดเจน แต่โดยทั่วไปแล้วหมายถึง พลาสติกที่มีขนาดน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ส่วนพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ไมครอนมักจะเรียกว่า นาโนพลาสติก
ไมโครพลาสติกนั้นกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมและสิ่งของต่าง ๆ จากการย่อยสลายทางกล (Mechanical Degradation) หรือการเผาไหม้ของพลาสติก อย่างเสื้อผ้าที่ทำจากใยสังเคราะห์ ฝุ่นจากยางของยานพาหนะ สีทาพื้นถนน การทำลายสิ่งของขนาดใหญ่ โดยอาจเข้าสู่ร่างกายได้โดยไม่ต้องดูดซึมและเป็นอันตรายต่อร่างกาย บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับไมโครพลาสติกเพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม
ไมโครพลาสติกอันตรายอย่างไร?
ในปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า ไมโครพลาสติกขนาดเล็กอยู่ในอวัยวะที่ทำหน้าเกี่ยวกับการกรองภายในร่างกายมนุษย์ โดยพบอยู่ในตัวอย่างเนื้อเยื่อของปอด ตับ ม้าม และไตที่นำมาทดสอบ อีกทั้งยังมีการศึกษาอื่น ๆ ตรวจพบไมโครพลาสติกจำนวน 20 ชิ้นต่ออุจจาระ 10 กรัม ผู้เชี่ยวชาญจึงมีความกังวลต่อสารเคมีในพลาสติกเหล่านี้ว่าอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น โดยมีความกังวลว่า สารเคมีเหล่านี้อาจมีส่วนต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วน การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ภาวะมีบุตรยาก และเป็นสารก่อมะเร็งคล้ายกับแร่ใยหินอีกด้วย
ไมโครพลาสติกพบได้ที่ไหนบ้าง?
ปัจจุบันไมโครพลาสติกนี้สามารถพบได้ในแม่น้ำ ทะเล น้ำประปา และน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อน อีกทั้งยังอาจปะปนอยู่ในอากาศและอาหารประเภทต่าง ๆ มากมาย
นอกจากเข้าสู่ร่างกายมนุษย์แล้ว ไมโครพลาสติกยังอาจเข้าสู่ร่างกายของสัตว์หลายชนิดโดยเฉพาะสัตว์ทะเล โดยมีรายงานการตรวจพบไมโครพลาสติกในอาหารทะเลอย่างหอยนางรม กุ้ง หมึก ปู และปลาซาร์ดีน เนื่องมาจากการปนเปื้อนสารนี้ในสิ่งแวดล้อม รวมถึงน้ำในมหาสมุทร แม้ว่ายังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน แต่นักวิทยาศาสตร์ก็มีความกังวลว่าการปนเปื้อนเหล่านี้จะเป็นพิษในทางกายภาพและทางสารเคมีต่อร่างกายมนุษย์
นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่า ไมโครพลาสติกสามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการสูดหายใจในระหว่างการทำงาน เช่น การย่อยสลายพรมหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำจากใยสังเคราะห์นั้นสามารถทำให้เกิดละอองขนาดเล็กและอาจทำให้ผู้ที่ทำงานในสายการผลิตนั้น ๆ สัมผัสกับละอองดังกล่าวได้
ป้องกันไมโครพลาสติกอย่างไรได้?
ไมโครพลาสติกเป็นวัสดุอันตรายที่ไม่สามารถป้องกันการเข้าสู่ร่างกายได้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากไมโครพลาสติกอาจปนเปื้อนอยู่ในน้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด และในอากาศ แต่ทั้งนี้การลดการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง ใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ ใช้ขวด จาน หรือชามที่เป็นเซรามิก โลหะหรือวัสดุอื่น ๆ ที่ไม่ได้ทำมาจากพลาสติก ก็เป็นวิธีที่จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับไมโครพลาสติกโดยรวมได้ไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาพลาสติกเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ต้องใช้ทั้งความรู้ความเข้าใจของประชาชน นวัตกรรมทางการผลิต ความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับความตระหนักในการมีส่วนร่วมในด้านระบบนิเวศ พร้อมกับคำนึงถึงปัญหาสุขภาพของประชาชนในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับเทศบาลท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก