ไม้เท้า หรือที่หลายคนมักเรียกว่าไม้เท้าคนแก่ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้แก่ผู้ที่เดินไม่สะดวก มีปัญหาด้านการทรงตัวและเสี่ยงต่อการล้ม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อีกทั้งยังช่วยให้การทำกิจกรรมในแต่ละวันสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากผู้สูงอายุ ไม้เท้ายังเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดเข่า และผู้ที่มีอาการปวดหรือบาดเจ็บบริเวณขา สะโพก เข่าและเท้า ดังนั้น การเลือกใช้ไม้เท้าอย่างเหมาะสมหรือการใช้ไม้เท้าอย่างถูกวิธีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรถูกมองข้ามเพราะอาจส่งผลถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ไม้เท้าได้
วิธีเลือกไม้เท้า
ไม้เท้ามีหลากหลายรูปแบบ ดังนั้น ควรคำนึงถึงระดับความแข็งแรง ระดับการทรงตัวและสมรรถภาพทางกายให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานก่อนการเลือกซื้อ โดยวิธีเลือกไม้เท้าให้เหมาะสม ควรพิจารณาจาก 3 สิ่ง ดังต่อไปนี้
1. ประเภทของไม้เท้า
สำหรับผู้สูงอายุ อาจลองใช้ไม้เท้าขาเดียวเพื่อช่วยทรงตัวขณะเดิน โดยไม้เท้าขาเดียวจะช่วยให้การเดินมีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น สำหรับไม้เท้า 4 ขาอาจเหมาะสำหรับผู้ที่กำลังรักษาโรคหลอดเลือดสมองหรือมีปัญหาด้านการทรงตัว เนื่องจากมีฐานที่กว้างเพื่อช่วยในการทรงตัวและลดความเสี่ยงจากการล้ม แต่ไม้เท้าชนิดนี้มีน้ำหนักค่อนข้างเยอะ จึงอาจไม่เหมาะสำหรับบางคน
2. ด้ามจับของไม้เท้า
การเลือกด้ามจับของไม้เท้าควรเลือกด้ามจับที่มีขนาดและรูปทรงพอดี จับแล้วรู้สึกกระชับมือ สำหรับผู้ที่มีอาการข้ออักเสบบริเวณนิ้วมือหรือผู้ที่ปัญหาในการหยิบจับสิ่งของ ควรเลือกด้ามจับที่มีขนาดใหญ่เพื่อให้สามารถจับได้ง่ายขึ้น การใช้ด้ามจับที่เหมาะสมอาจช่วยป้องกันความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับข้อต่อ อาการชาหรืออาการปวดมือและนิ้วมืออีกด้วย
3. ขนาดของไม้เท้า
การเลือกไม้เท้าควรเลือกขนาดที่เหมาะสมกับร่างกาย โดยส่วนบนของไม้เท้าควรอยู่ในระดับรอยพับของข้อมือเมื่อยืนตรง ข้อศอกควรงอประมาณ 15–20 องศาเมื่อถือไม้เท้า หรืออาจงอข้อศอกมากขึ้นเล็กน้อยหากใช้ไม้เท้าเพื่อการทรงตัวเป็นหลัก นอกจากนี้ อาจลองเลือกใช้ไม้เท้าที่สามารถปรับระดับความสูงได้ เพื่อปรับความยาวหรือความสั้นให้เหมาะสมกับการใช้งาน
วิธีใช้ไม้เท้าอย่างปลอดภัย
สำหรับผู้ที่เริ่มต้นฝึกใช้ไม้เท้า ควรมีผู้ดูแลอยู่ใกล้เคียงเพื่อคอยให้ความช่วยเหลือเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นในขณะฝึกได้ การใช้ไม้เท้าอย่างเหมาะสมและปลอดภัย อาจลองฝึกตามขั้นตอนเหล่านี้
การวางตำแหน่งไม้เท้า
การวางตำแหน่งไม้เท้าขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเดิน การขึ้นบันไดหรือการใช้เก้าอี้ ควรถือไม้เท้าไว้ที่ฝั่งตรงข้ามขาที่มีอาการอ่อนแรง ปวดหรือบาดเจ็บเพื่อช่วยในการทรงตัว เช่น หากขาข้างซ้ายมีอาการบาดเจ็บ ควรถือไม้เท้ามือขวา
การเดินและการหมุนตัว
หากไม่เคยใช้ไม้เท้ามาก่อน ควรฝึกเดินพร้อมไม้เท้าอย่างช้า ๆ จนกว่าจะคุ้นชิน โดยวิธีการใช้ไม้เท้าขณะเดิน สามารถทำได้ดังนี้
- วางไม้เท้าด้านข้างของฝั่งตรงข้ามขาที่อ่อนแรงหรือบาดเจ็บ เยื้องไปด้านหน้าเล็กน้อยประมาณ 2 นิ้ว
- เริ่มการเดินด้วยการก้าวขาข้างที่อ่อนแรงหรือบาดเจ็บไปด้านหน้าและขยับไม้เท้าไปพร้อมกัน โดยไม้เท้าจะช่วยผ่อนแรงขาที่อ่อนแรงหรือบาดเจ็บขณะเดิน หลังจากนั้น ก้าวขาอีกข้างไปด้านหน้าแต่ไม่ต้องขยับไม้เท้าตาม
- การหมุนตัว ควรใช้ขาข้างที่แข็งแรงเป็นหลักในการหมุนแทนการใช้ขาข้างที่อ่อนแรงหรือบาดเจ็บ จากนั้นทำตามขั้นตอนด้านบนเพื่อเดินต่อไป
การใช้บันได
ควรระมัดระวังการใช้บันไดเพื่อขึ้นหรือลงขณะใช้ไม้เท้า เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ โดยการเดินขึ้นหรือลงบันไดสามารถทำได้ดังนี้
- การเดินขึ้นบันได ควรใช้มือข้างที่ว่างจับราวและก้าวขาข้างที่แข็งแรงขึ้นบันได จากนั้น ก้าวขาข้างที่อ่อนแรงหรือบาดเจ็บตามพร้อมกับขยับไม้เท้าในเวลาเดียวกัน
- การเดินลงบันได ใช้มือข้างที่ว่างจับราวบันได นำไม้เท้าวางที่บันไดขั้นแรก จากนั้นก้าวขาข้างที่อ่อนแรงหรือบาดเจ็บลงมาและก้าวขาข้างที่แข็งแรงตามมา
การใช้เก้าอี้
หากเป็นไปได้ ควรนั่งเก้าอี้ที่มีที่วางแขน เพราะสามารถช่วยเพิ่มความปลอดภัยขณะนั่งลงหรือลุกขึ้นได้ โดยขั้นตอนการใช้ไม้เท้าเพื่อช่วยในการนั่งและการลุก สามารถทำได้ดังนี้
- การนั่งเก้าอี้ เริ่มจากยืนหันหลังให้เก้าอี้ โดยด้านหลังของขาควรติดกับเบาะหรือขอบเก้าอี้ ใช้มือข้างหนึ่งถือไม้เท้า ส่วนอีกข้างจับที่วางแขน จากนั้นหย่อนตัวนั่งเก้าอี้อย่างช้า ๆ ด้วยความระมัดระวัง
- การลุกขึ้นจากเก้าอี้ ควรขยับตัวมานั่งตรงขอบเบาะหรือเก้าอี้ ใช้มือถือไม้เท้าไว้ตรงข้ามขาที่อ่อนแรงหรือบาดเจ็บ ส่วนอีกข้างจับที่วางแขน จากนั้นดันตัวขึ้นโดยใช้ไม้เท้าช่วยทรงตัวขณะกำลังลุก
ทั้งนี้ อาจลองเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในบ้านเพื่อการใช้ไม้เท้าอย่างปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุภายในบ้านที่อาจตามมา เช่น เก็บของภายในบ้านให้เป็นระเบียบ พื้นควรแห้งและสะอาดอยู่เสมอ ใส่รองเท้าที่มียางกันลื่นและงดใส่รองเท้ามีส้นหรือรองเท้าที่มีพื้นเป็นหนัง
นอกจากการฝึกใช้ไม้เท้าด้วยตัวเองแล้ว อาจเข้าร่วมกิจกรรมบำบัด (Occupational therapy) เพื่อเรียนรู้การใช้ไม้เท้าในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสมและปลอดภัย หรือสามารถปรึกษาแพทย์และนักกายภาพบำบัดเพื่อขอคำแนะนำในการเลือกซื้อไม้เท้าและวิธีใช้อย่างถูกต้องได้เช่นกัน