ไรฝุ่น (Dust Mites) เป็นแมลงในตระกูลเดียวกับเห็บและแมงมุมที่มีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และมักอาศัยอยู่ตามที่นอน พรม ผ้าม่าน หรือเครื่องเรือนต่าง ๆ ที่มีความชื้นมากพอ และกินผิวหนังของมนุษย์ที่ถูกผลัดออกมาเป็นอาหาร โดยไรฝุ่นเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคภูมิแพ้ที่มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ไรฝุ่นเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย เพราะไรฝุ่นสามารถอยู่รอดได้ในทุกสภาพอากาศและเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมอุ่นชื้นอย่างในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การกำจัดไรฝุ่นให้ลดลงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอาจช่วยลดโอกาสการเกิดอาการภูมิแพ้ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจตามมา เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคหืด
สัญญาณและอาการแพ้ไรฝุ่น
ไรฝุ่นมักเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ ซึ่งอาการแพ้ไรฝุ่นอาจมีตั้งแต่ระดับอ่อนไปจนถึงรุนแรง เช่น
- จาม
- น้ำมูกไหล คัดจมูก
- มีเสมหะ ไอ ระคายเคืองในลำคอ
- คันตา น้ำตาไหล หรือตาแดง
- คันจมูก คันที่ผิวหนัง
- ใต้ตาบวม
นอกจากนี้ อาการแพ้ไรฝุ่นยังอาจก่อให้เกิดอาการของโรคหืดตามมา เช่น
- ไอ หายใจหอบเหนื่อย
- หายใจลำบาก หายใจเสียงดังหวีด
- แน่นหรือเจ็บหน้าอก
โดยอาการโรคหืดดังกล่าวอาจยิ่งแย่ลงเมื่อเผชิญกับฝุ่นควัน สารเคมีก่อความระคายเคือง ควันบุหรี่ หรือเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
สาเหตุของอาการแพ้ไรฝุ่น
ไรฝุ่นอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการแพ้ตามมาเมื่อมีการสัมผัสหรือหายใจเอาของเสียที่ถูกขับออกมาจากตัวไรฝุ่นเข้าไป เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารแปลกปลอมใด ๆ ที่ผ่านเข้าไปด้วยการผลิตสารภูมิต้านทาน (Antibody) โดยเฉพาะขึ้นมาและจดจำว่าสารดังกล่าวเป็นสารก่อภูมิแพ้ เมื่อเผชิญกับสารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ ในครั้งต่อไปก็จะปล่อยสารฮิสตามีนที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ตามมา
อาการแพ้ไรฝุ่นแตกต่างจากอาการแพ้ที่เกิดจากมลพิษตรงที่อาจเกิดอาการเรื้อรังตลอดทั้งปีจนกลายเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เนื่องจากของเสียที่ปล่อยออกมาจากตัวไรฝุ่นที่แห้งแล้วอาจยังกระจายอยู่รอบ ๆ ตัวในอากาศตลอดเวลา เมื่อมีการใช้เครื่องดูดฝุ่นทำความสะอาดบ้าน ขยับตัวบนเตียงนอน สะบัดผ้าปูที่นอน หรือแม้แต่ขณะนั่งบนเก้าอี้ ทั้งหมดนี้อาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ขึ้นมาได้อย่างฉับพลัน
หากหายใจเอาของเสียจากไรฝุ่นเข้าไปเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้อาการภูมิแพ้ยิ่งแย่ลง และเกิดการอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นโรคหืดได้
วิธีรับมือกับไรฝุ่นอย่างเหมาะสม
หากเกิดอาการภูมิแพ้จากไรฝุ่น ผู้ที่มีอาการสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการบรรเทาอาการภูมิแพ้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น รับประทานยาแก้แพ้ ใช้ยาพ่นจมูก ล้างจมูก และลดจำนวนไรฝุ่นภายในบ้าน โดยวิธีลดจำนวนของไรฝุ่นในบ้านมีหลายวิธี เช่น
- ใช้ผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนกันไรฝุ่น ซึ่งเป็นผ้าที่ทออย่างแน่นหนาและสามารถป้องกันไรฝุ่นได้
- ทำความสะอาดเครื่องนอนเป็นประจำทุกสัปดาห์ ด้วยการซักผ้าด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียสสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อกำจัดไรฝุ่นและสารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ออกไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าห่มหรือผ้าปูที่นอนที่จะมีไรฝุ่นเกาะง่ายและยากต่อการทำความสะอาด เช่น ผ้านวม ผ้าที่ทำจากขนสัตว์
- นำเครื่องนอนออกไปผึ่งแดดอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อลดความชื้นของเตียงและขับไล่ไรฝุ่น
- ทำความสะอาดพื้นด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำถูพื้น ซึ่งจะช่วยลดจำนวนไรฝุ่นได้มาก แต่ไม่ควรทำความสะอาดโดยการกวาดอย่างเดียวหรือใช้ผ้าแห้งเพราะอาจทำให้ไรฝุ่นฟุ้งขึ้นมาได้
- ดูดฝุ่นเป็นประจำด้วยเครื่องดูดฝุ่นที่มีแผ่นกรอง 2 ชั้นหรือชนิดที่กรองอนุภาคต่าง ๆ แบบมีประสิทธิภาพสูง (HEPA Filter) ระหว่างดูดฝุ่นควรใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน แต่หากอาการภูมิแพ้รุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณนั้นและให้ผู้อื่นดูดฝุ่นแทน
- ควรย้ายของเล็ก ๆ น้อย ๆ ของประดับตกแต่ง และหนังสือออกจากห้องนอน เพราะสิ่งของที่มีฝุ่นเกาะอาจเป็นแหล่งสะสมของตัวไรฝุ่น อีกทั้งยังควรทำความสะอาดเป็นประจำ เนื่องจากอาจเป็นแหล่งสะสมของไรฝุ่นที่สูดดมเข้าไปทุกวันขณะนอนหลับ
ไรฝุ่นอาจเป็นปัญหากวนใจของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคภูมิแพ้เป็นโรคประจำตัว หากไรฝุ่นก่อให้เกิดอาการแพ้รุนแรง เช่น มีปัญหาในการนอนหลับ หายใจไม่ออก หายใจเสียงดังหวีด หายใจหอบง่ายแม้ทำกิจกรรมที่ไม่ใช้แรงเยอะ ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรักษาอาการภูมิแพ้จากไรฝุ่นอย่างเหมาะสม