ไอตอนกลางคืนอาจทำให้หลายคนรู้สึกหงุดหงิด โดยเฉพาะเมื่อต้องตื่นกลางดึกบ่อยครั้งจากอาการไอ แต่หากรู้สาเหตุว่าไอตอนกลางคืนเกิดจากอะไร รวมถึงรู้วิธีดูแลตัวเองร่วมกับการรับประทานยา อาจช่วยให้อาการไอระคายคอในตอนกลางคืนลดลง
อาการไอเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจออก ไม่ว่าจะเป็นเสมหะภายในลำคอ ฝุ่นละออง หรือควันพิษต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อม ซึ่งสาเหตุของอาการไอเรื้อรังที่รบกวนการนอนอาจเกิดได้จากอาการป่วยที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหรือได้รับสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ บทความนี้จึงได้รวบรวมสาเหตุที่พบได้บ่อยของการไอตอนกลางคืนและวิธีรับมือมาฝากกัน
สาเหตุและวิธีรับมือเมื่อไอตอนกลางคืน
ไอตอนกลางคืนเกิดจากหลายสาเหตุ และอาจมีวิธีรักษาที่แตกต่างกัน ดังนี้
การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
อาการไอเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยเมื่อเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบทางเดินหายใจอ่อนแอกว่าปกติ ทำให้รู้สึกระคายคอและไอได้ง่ายเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนที่คอแห้งได้ง่าย โดยทั่วไปแล้ว อาการไอมักดีขึ้นหลังจากไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่หายดีแล้ว ซึ่งอาจใช้ระยะเวลานาน 2-3 สัปดาห์
อาการไอที่เกิดจากไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการพักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ อาจซื้อยาพ่นบรรเทาอาการระคายคอ หรือยาแก้ไอมารับประทานตามคำแนะนำของเภสัชกร
น้ำมูกไหลลงคอ
น้ำมูกไหลลงคอ (Postnasal Drip) เกิดจากต่อมสร้างน้ำมูกในจมูกผลิตน้ำมูกออกมาในปริมาณมากเนื่องจากการเป็นหวัดหรือเจอสิ่งระคายเคืองต่าง ๆ ทำให้น้ำมูกบางส่วนไหลลงคอกลายเป็นเสมหะ ซึ่งการนอนราบลงจะยิ่งทำให้น้ำมูกไหลลงคอได้ง่ายขึ้น จึงมักทำให้มีอาการไอบ่อยในตอนกลางคืน
อาการไอจากน้ำมูกไหลลงคออาจดีขึ้นหากดูแลตนเองด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ และนอนบนหมอนสูงเพื่อให้น้ำมูกไหลลงคอลดลง หากอาการยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีไข้ ไอเป็นเลือด หรือหายใจมีเสียงดัง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
การแพ้ฝุ่นหรือมลภาวะ
เมื่อเราสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้รอบ ๆ ตัว อย่างไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ ควันบุหรี่ หรือขนสัตว์ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอาจมีปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น เช่น ไอ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก หรืออ่อนเพลีย ซึ่งแต่ละคนอาจมีอาการที่แตกต่างกัน
หากมีอาการไอตอนกลางคืนที่เกิดจากการแพ้สิ่งกระตุ้นเหล่านี้ ควรปิดหน้าต่างในช่วงที่มีลมแรงเพื่อป้องกันลมพัดฝุ่นละอองให้เข้ามาในบ้าน หากแพ้ไรฝุ่นควรหมั่นทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ โดยเฉพาะในห้องนอนเพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของฝุ่น รวมถึงซักทำความสะอาดผ้าห่ม ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอนให้สะอาดบ่อย ๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และเลือกเครื่องนอนหรือผ้าคลุมเตียงกันไรฝุ่น จะช่วยให้อาการไอตอนกลางคืนลดลงได้
โรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน (GERD) เป็นโรคเรื้อรังที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะไหลย้อนกลับมาในหลอดอาหาร มักทำให้รู้สึกแสบร้อนกลางอก จุกเสียดแน่นท้อง เรอบ่อย มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปากและคอ รวมทั้งอาจทำให้ไอเรื้อรังเมื่อนอนลง ไอในตอนกลางคืน หรือหลังรับประทานอาหารได้ ซึ่งอาการของโรคกรดไหลย้อนเหล่านี้อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา
การปรับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตจะช่วยบรรเทาและรักษาอาการไอเรื้อรังและอาการอื่น ๆ ของโรคกรดไหลย้อนได้ เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ หลีกเลี่ยงการนอนราบทันทีหรือหลังจากรับประทานอาหาร ควบคุมน้ำหนัก และงดสูบบุหรี่ เป็นต้น
โรคหืด
โรคหืด (Asthma) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบและบวมของเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบาก หายใจมีเสียง และเกิดอาการไอขึ้นได้ ซึ่งอาการไอจากโรคหืดอาจเกิดขึ้นหลังผู้ป่วยได้รับสิ่งกระตุ้นให้เกิดความระคายเคืองหรือออกกำลังกายหนัก เช่น ละอองเกสรดอกไม้ มลภาวะ การติดเชื้อในทางเดินหายใจ หรือการได้รับยาบางชนิด เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคหืดควรดูแลตนเองด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ใช้ยาควบคุมอาการหิดกำเริบอย่างสม่ำเสมอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงจะช่วยให้อาการไอลดลง หากอาการไอหรืออาการอื่น ๆ ไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรับยาหรือการรักษาอื่น ๆ ต่อไป
ปอดอุดกั้นเรื้อรัง
ปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เป็นภาวะที่ปอดได้รับความเสียหายอย่างเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการของหลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมโป่งพองที่มักเกิดขึ้นร่วมกัน เช่น ไอแบบมีเสมหะ หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด และแน่นหน้าอก
เนื่องจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ การได้รับฝุ่นควัน หรือสารเคมี การงดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการการได้รับมลพิษหรือสารเคมี ร่วมกับการใช้ยารักษา จะช่วยควบคุมอาการและลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน
อาการไอตอนกลางคืนโดยทั่วไปมักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปได้เองเมื่อได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์หากอาการไอตอนกลางคืนยังไม่ดีขึ้น มีอาการแย่ลง หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หรือน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น