ไอบ่อยเป็นอาการที่สร้างความกังวลใจให้กับใครหลายคน โดยอาจเป็นผลจากปัญหาสุขภาพที่ไม่ร้ายแรง พฤติกรรมส่วนตัวอย่างอาการแพ้ หรือการสูบบุหรี่ แต่หากมีอาการไอต่อเนื่องเวลานานก็ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะอาจมีสาเหตุจากปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงซึ่งซ่อนอยู่
นอกจากไอบ่อยแล้ว บางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการไอ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำมูกไหลลงคอ แสบร้อนกลางอก ในปากมีรสเปรี้ยว เสียงแหบ เจ็บคอ หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก หรือในกรณีที่พบได้น้อยมากอาจไอเป็นเลือด
ไอบ่อยเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
หลายคนมักตัดสินใจไปพบแพทย์เมื่ออาการไอนั้นกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือกลัวว่าอาจมีความผิดปกติร้ายแรงในร่างกาย ทว่าการไอบ่อยอาจเป็นผลจากปัญหาสุขภาพที่รุนแรงหรือไม่รุนแรงก็ได้ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น
- น้ำมูกไหลลงคอ เป็นผลจากความพยายามกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรค ฝุ่น สารเคมี หรือสารก่อการระคายเคืองใด ๆ ซึ่งจะไปกระตุ้นให้จมูกหรือโพรงไซนัสผลิตน้ำมูกในปริมาณมาก หากไหลลงคอก็จะกลายเป็นเสมหะ ส่งผลให้ผู้ป่วยอยากกลืนเสมหะ ไอบ่อยตอนกลางคืน เจ็บ หรือระคายเคืองคอ
- โรคหืด เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้หลอดลมตีบและไวต่อการกระตุ้น ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะในรายที่มีอาการโรคหืดไม่รุนแรง เมื่อผู้ป่วยได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น สารก่อภูมิแพ้ สารเคมี น้ำหอม การออกกำลังกาย การติดเชื้อ การสูบบุหรี่ อากาศเย็น หรือแม้กระทั่งสภาวะทางอารมณ์ที่เปลี่ยนไป ทางเดินหายใจของเราจะผลิตเสมหะออกมา ทำให้ต้องขับออกด้วยการไอ
- โรคกรดไหลย้อน (GERD) อาจดูไม่น่าเป็นสาเหตุของอาการไอ แต่ที่จริงแล้ว เมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้ามาในหลอดอาหารบริเวณลำคอของคนเราบ่อยครั้ง อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองและอาการไอเรื้อรังได้
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) นับเป็นโรคการอักเสบของปอดที่ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการหายใจในระยะยาว ผู้ป่วยมักมีอาการของโรคถุงลมโป่งพองและหลอดลมอักเสบเรื้อรังร่วมกัน เช่น ไอมีเสมหะ หายใจไม่อิ่ม ถุงลมปอดถูกทำลาย โดยมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากจากการสูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่มือสองเป็นเวลานาน
- การติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ปอดบวม ไข้หวัดใหญ่ หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจนั้นก่อให้เกิดอาการไอได้ แม้อาการอื่น ๆ จะหายไปแล้วก็ตาม นอกจากนี้ การติดเชื้อบางประเภทยังอาจส่งผลให้ผู้ป่วยไอบ่อยหรือไอเรื้อรังได้ เช่น โรคไอกรน การติดเชื้อราที่ปอด และวัณโรคปอด
- การสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะเคยสูบในอดีตหรือยังสูบอยู่ในปัจจุบันก็เสี่ยงต่อการไอเรื้อรังหรือไอบ่อยได้ อีกทั้งการได้รับควันบุหรี่มือสองบ่อยครั้งอาจก่อให้เกิดอาการไอ ปัญหาในระบบทางเดินหายใจ และส่งผลให้ปอดเสียหาย เนื่องจากสารเคมีในควันบุหรี่เป็นอันตรายต่อปอดและอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย
นอกเหนือจากสาเหตุข้างต้น ผู้ป่วยอาจไอบ่อยเนื่องจากการใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตอย่างยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitor) สารก่อการระคายเคืองในอากาศ โรคหัวใจ โรคมะเร็งปอด หรือความเครียด แต่ล้วนพบได้น้อยกว่า
วิธีรักษาอาการไอบ่อยในเบื้องต้น
เนื่องจากวิธีรักษาหรือยาที่ใช้นั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการไอบ่อย ผู้ป่วยจึงควรเข้ารับการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้แพทย์สั่งจ่ายยาแก้ไอหรือยาชนิดที่ตรงกับสาเหตุมากที่สุด เช่น ยาแก้แพ้ ยาสเตียรอยด์ และยาแก้คัดจมูกใช้สำหรับอาการแพ้หรือน้ำมูกไหลลงคอ ยาสเตียรอยด์ชนิดสูดสำหรับโรคหืดหรือโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ยาลดกรดสำหรับโรคกรดไหลย้อน หรือยาปฏิชีวนะใช้กับการติดเชื้อแบคทีเรีย
ซึ่งในระหว่างนี้ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และยังสามารถดูแลตัวเองเพิ่มเติมได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ดื่มน้ำให้มากเพื่อลดความเหนียวข้นของเสมหะ ดื่มน้ำชาหรือซุปอุ่น ๆ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในลำคอ อมยาอมแก้ไอ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หรือใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ
ในกรณีที่ผู้ป่วยไอบ่อยเนื่องจากโรคกรดไหลย้อนก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในปริมาณมากเกินไปและรับประทานอาหารใกล้เวลานอน หรือหากเป็นผลจากการสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสอง อาจต้องเลิกสูบบุหรี่ถาวรหรืออยู่ให้ห่างจากควันบุหรี่ให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม หากทำตามวิธีเหล่านี้แล้วไม่ได้ผล รับประทานยาหรือปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์แล้วอาการไอทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นหรือไม่หายไป ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อวินิจฉัยหาต้นตอที่ทำให้ไอบ่อย และรับการรักษาที่ตรงจุดต่อไป