อาการไอแห้ง (Non-Productive Cough) หรืออาการไอไม่มีเสมหะเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ อาการแพ้ อาการระคายเคืองภายในลำคอ หรือการสูบบุหรี่ ในบางครั้งอาการไอแห้งอาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ อย่างอาการเจ็บคอ หรืออาการรุนแรงขึ้นในช่วงกลางคืน
อาการไอแห้งอาจรบกวนการนอนและการใช้ชีวิตประจำวัน ในเบื้องต้นอาจบรรเทาอาการได้ด้วยการดื่มน้ำให้มากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารบางประเภทที่มีสรรพคุณทางยา แต่หากอาการไอแห้งรุนแรงขึ้นหรือเกิดจากโรคที่รุนแรง ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
สาเหตุของอาการไอแห้ง
อาการเจ็บป่วยหรือภาวะผิดปกติเกี่ยวกับร่างกายที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจบางอย่างอาจทำให้เกิดอาการไอแห้งได้ เช่น
โรคหวัด
โรคหวัดหรือไข้หวัด (Common Cold) เป็นการติดเชื้อไวรัส อาการมักไม่รุนแรงและอาจหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ นอกจากมีไข้แล้ว โรคนี้อาจทำให้เกิดการอักเสบบริเวณลำคอและทำให้ไอได้ โดยอาจพบได้ทั้งอาการไอแห้งและไอมีเสมหะ หากหายจากโรคหวัดแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไอที่เกิดจากการระคายเคืองของลำคอ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากโรคหวัดได้ (Post-cold Coughs) และมักจะเป็นอาการไอแบบไม่มีเสมหะ
นอกจากโรคหวัดแล้ว โรคติดเชื้ออื่น ๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการไอแห้งได้เช่นกัน อย่างโรคติดเชื้อโควิด-19 โรคหลอดลมอักเสบหรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจบางชนิด ในกรณีเกิดการติดเชื้อไวรัสชนิดรุนแรง ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเหมาะสม
โรคหืด
โรคหืด (Asthma) หรือที่หลายคนเรียกกันว่าโรคหอบ เป็นความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจที่มีการตอบสนองไวและหดตัวมากกว่าปกติ ทำให้เกิดความผิดปกติตามมา โดยเฉพาะอาการไอที่เป็นอาการหลักของโรคหืด อีกทั้งอาการไอแห้งมักพบได้บ่อยกว่าอาการไอแบบมีเสมหะ นอกจากนี้ โรคหืดอาจทำให้เกิดอาการอื่น อย่างเสียงหายใจหวีดแหบ หายใจหอบเหนื่อย และแน่นหน้าอกได้
โรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) มักทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก อาหารไม่ย่อย และทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติด้วยสาเหตุบางอย่าง ทำให้อาหารและน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปตามท่อลำเลียงอาหารส่วนบนและลำคอ เมื่อน้ำย่อยที่มีความเป็นกรดสัมผัสกับเนื้อเยื่อในลำคอก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองจนเกิดอาการไอแห้งขึ้นได้เช่นกัน และพบได้บ่อยในตอนกลางคืน ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการไอและเจ็บคอเรื้อรัง ร่วมกับอาการจุกเสียด แน่นหน้าอก และมีรสเปรี้ยวในปากที่เป็นอาการหลักของโรค
นอกจากนี้ อาการไอแห้งอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น เช่น
- การสูดเอาสารเคมี ฝุ่น ควัน ควันบุหรี่ น้ำหอม และมลพิษ
- การได้รับสารก่อภูมิแพ้ อย่างละอองเกสร ไรฝุ่น เชื้อรา ขนและรังแคสัตว์เลี้ยง
- ผลข้างเคียงจากยาบางประเภท โดยเฉพาะยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitors) เช่น ยาอีนาลาพริล (Enalapril) หรือยาลิซิโนพริล (Lisinopril)
- โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคไอกรน ภาวะปอดรั่ว โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง และโรคมะเร็งปอด เป็นต้น
- โรคหัวใจที่อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะนี้อาจทำให้เกิดอาการไอแห้ง หายใจไม่ออก และเสียชีวิตได้ ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน
- การสำลัก เช่น สำลักน้ำลายหรือสารคัดหลั่งในระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
- การติดเชื้ออื่น ๆอย่างโรคไซนัสอักเสบและหูอักเสบ
วิธีบรรเทาอาการไอแห้งด้วยตนเอง
ในเบื้องต้นสามารถบรรเทาอาการไอแห้งหรือไอไม่มีเสมหะด้วยวิธีต่อไปนี้
1. ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม
น้ำเป็นของเหลวที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย ช่วยป้องกันร่างกายขาดน้ำและช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี ซึ่งอาจช่วยลดอาการและระยะเวลาในการป่วยจากโรคหวัดหรือโรคติดเชื้อ สำหรับผู้ที่มีอาการไอแห้งจากการสูดดมหรือได้รับสารก่อระคายเคือง การดื่มน้ำอาจช่วยทำความสะอาดลำคอจึงอาจลดการระคายเคืองได้
นอกจากน้ำเปล่าแล้ว อาจลองดื่มชาสมุนไพร หรือซุปร้อน ๆ ที่รสไม่จัดเพื่อบรรเทาอาการเจ็บและระคายเคืองคอ และยังช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตาม คนแต่ละช่วงวัยมีปริมาณน้ำที่ควรได้รับต่อวันแตกต่างกัน หากมีปัญหาสุขภาพที่ต้องจำกัดปริมาณน้ำ ควรยึดตามคำแนะนำของแพทย์เป็นหลัก
2. พักผ่อนให้เพียงพอ
กลไกของร่างกายจะฟื้นฟูและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในระหว่างการนอนหลับ เพื่อช่วยให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ หากกำลังไม่สบาย อย่างมีอาการไอ เจ็บคอ หรือเป็นหวัด การนอนหลับที่เพียงพอก็อาจลดระยะเวลาของอาการป่วยได้ นอกจากนี้ การพักผ่อนเพียงพอเป็นประจำอาจช่วยลดการติดเชื้อไรโนไวรัส (Rhinovirus) ที่มักทำให้เกิดโรคหวัดได้อีกด้วย
3. กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ
น้ำเกลือเป็นวัตถุดิบที่มีสรรพคุณทางยา ช่วยต้านเชื้อโรคบางชนิด ลดการระคายเคือง และช่วยรักษาความชุ่มชื้น หากมีอาการไอและเจ็บคอ สามารถใช้เกลือปรุงอาหารครึ่งช้อนชาผสมกับน้ำอุ่น 240 มิลลิลิตร คนให้เข้ากัน จากนั้นใช้กลั้วคอเบา ๆ และบ้วนทิ้งเพื่อบรรเทาอาการ
4. เพิ่มโพรไบโอติก
โพรไบโอติก (Probiotics) หรือโปรไบโอติกเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มักพบในอาหารหมักดอง อย่างนมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ ผักผลไม้ และของหมักดองอื่น ๆ โดยมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่า การบริโภคอาหารที่มีโพรไบโอติกอาจเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาของโรคติดเชื้อ อย่างโรคหวัดที่ทำให้เกิดอาการไอแห้ง
นอกจากโพรไบโอติกแล้ว ควรเลือกรับประทานผักผลไม้เพิ่มเติมด้วย เพราะในผักผลไม้มีพรีไบโอติก (Prebiotics) ที่เป็นอาหารของโพรไบโอติก ซึ่งช่วยให้โพรไบโอติกแข็งแรงและทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งผักผลไม้ยังมีสารอาหาร วิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูจากอาการเจ็บป่วยได้เร็วขึ้น
5. จิบน้ำผึ้งมะนาว
การจิบน้ำผึ้งมะนาวเป็นวิธีที่หลายคนอาจเคยใช้บรรเทาอาการไอและเจ็บคอ โดยให้ใช้น้ำผึ้งผสมมะนาวโดยตรง หรือใส่น้ำผึ้ง 1-2 ช้อนชาในน้ำอุ่นหรือชาร้อน แล้วบีบมะนาวตามลงไป โดยหมั่นจิบเป็นประจำก็อาจช่วยบรรเทาอาการไอและเจ็บคอ เพราะน้ำผึ้งจะเพิ่มความชุ่มชื้นในลำคอ บรรเทาอาการไอ จากงานวิจัยบางชิ้นชี้ว่า น้ำผึ้งอาจช่วยต้านเชื้อไวรัสบางชนิดและมะนาวเป็นพืชรสเปรี้ยวที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจลดการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในลำคอได้
6. ใช้ยาอมแก้ไอ
การอมยาอมจะช่วยเพิ่มการหลั่งของน้ำลายช่วยให้ช่องปากและลำคอชุ่มชื้นมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการไอแห้งได้ จึงเป็นวิธีที่สะดวกและช่วยบรรเทาอาการไอแห้งในระหว่างวันได้ดี โดยอาจเลือกยาอมที่มีส่วนผสมของสมุนไพร อย่างเปปเปอร์มิ้นต์ ไทม์ น้ำผึ้ง หรือสมุนไพรอื่น ๆ และควรเลือกยาอมที่หวานน้อยหรือไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล
อย่างไรก็ตาม วิธีบรรเทาอาการไอแห้งเหล่านี้เป็นเพียงการดูแลตนเองเบื้องต้นเท่านั้น และสรรพคุณของสมุนไพรบางส่วนมาจากการทดลอง จึงไม่สามารถยืนยันสรรพคุณในการบรรเทาอาการไอและเจ็บคอได้แน่ชัด หรืออาจให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันในแต่ละคน
หากลองวิธีข้างต้นแล้ว อาการไม่ดีขึ้นแต่อาการยังไม่รุนแรง สามารถปรึกษาเภสัชกรในการเลือกซื้อยาแก้ไอ โดยควรแจ้งเภสัชกรเกี่ยวกับอาการไอแห้งหรืออาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น โรคประจำตัว และยาที่ใช้ ซึ่งเภสัชกรจะพิจารณาและแนะนำยาที่เหมาะสมและปลอดภัย
สุดท้ายนี้ หากอาการไอแห้งยังไม่ดีขึ้น อาการรุนแรงขึ้น หรือเป็นต่อเนื่องกันนาน ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างถูกต้อง แต่หากพบสัญญาณอันตราย อย่างไอเป็นเลือด เจ็บหรือแน่นหน้าอกรุนแรง มีไข้สูง หนาวสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ หอบเหนื่อย หายใจไม่ออก หรือหมดสติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที