ไอโอดีน (Iodine) เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายไม่น้อยไปกว่าแร่ธาตุอื่น ๆ เนื่องจากเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ การเจริญเติบโต การเผาผลาญและพัฒนาการของทารกในครรภ์ โดยไอโอดีนสามารถพบได้ในอาหารหลายชนิด รวมถึงอยู่ในรูปแบบอาหารเสริมด้วย
จริง ๆ แล้ว การได้รับไอโอดีนในปริมาณที่น้อยกว่า 100 ไมโครกรัม อาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิด ขัดขวางการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทของเด็ก ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ อย่างภาวะปัญญาอ่อนในเด็ก โรคคอหอยพอกและภาวะขาดไทรอยด์ในผู้ใหญ่ ระบบสืบพันธุ์ล้มเหลวหรือมีน้ำคั่งอยู่ตามเยื่อต่าง ๆ ดังนั้น การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไอโอดีนจะช่วยป้องกันอาการและปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ได้
ข้อควรรู้ในการกินไอโอดีน
ปริมาณไอโอดีนในอาหารแต่ละอย่างจะขึ้นอยู่กับแหล่งเพาะปลูกและกรรมวิธีการผลิต ซึ่งไอโอดีนสามารถพบได้ในวัตถุดิบตามธรรมชาติ อย่างสาหร่าย ปลาค็อด นม กุ้ง ปลาทูน่า ไข่ ลูกพรุนหรือถั่วลิมา (Lima Bean) หรือเป็นเกลือเสริมไอโอดีนที่วางขายกันทั่วไป โดยร่างกายในแต่ละช่วงวัยจะมีความต้องการไอโอดีนในปริมาณที่แตกต่างกันในแต่ละวัน ดังนี้
- เด็กอายุ 1-8 ปี ควรได้รับไอโอดีนประมาณ 90 ไมโครกรัม
- เด็กอายุ 9-13 ปี ควรได้รับไอโอดีนประมาณ 120 ไมโครกรัม
- ผู้ใหญ่ควรได้รับไอโอดีนประมาณ 150 ไมโครกรัม
- ผู้ที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรได้รับไอโอดีนประมาณ 220 ไมโครกรัม เนื่องจากไอโอดีนจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของตัวอ่อนการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์และสมอง
เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายจะได้รับไอโอดีนในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ควรวางแผนในการกินอาหารตามคำแนะนำต่อไปนี้
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เสริมด้วยผลิตภัณฑ์จากนม สาหร่ายหรือไข่
- กินธัญพืชเต็มเมล็ดและอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเพื่อให้สารอาหารมีความหลากหลาย
- กินอาหารทะเล 2-3 มื้อต่อสัปดาห์ และอาจเสริมด้วยน้ำมันปลาที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ควรระมัดระวังในการกินปลาหรืออาหารทะเลบางชนิดที่อาจปนเปื้อนสารปรอทในระดับสูง โดยเฉพาะในผู้ที่ต้องการตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์
- ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการกินไอโอดีนในรูปแบบอาหารเสริม เนื่องจากอาจเกิดอันตรายหากร่างกายได้รับไอโอดีนในปริมาณที่มากเกินไป
อันตรายจากการได้รับไอโอดีนมากเกินไป
การรับประทานไอโอดีนมากจนเกินไปอาจส่งผลให้ต่อมไทรอยด์อักเสบและเกิดมะเร็งไทรอยด์ อีกทั้งการรับประทานไอโอดีนในปริมาณมากต่อ 1 ครั้งอาจก่อให้เกิดอาการแสบร้อนช่องปาก ลำคอและท้อง มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ชีพจรเบาหรืออาจเกิดภาวะโคม่าได้ อย่างไรก็ตาม ปริมาณไอโอดีนที่เป็นอันตรายและอาการที่เกิดขึ้นอาจจะแตกต่างกันไปตามโรคประจำตัวเดิมของแต่ละคนด้วยเช่นกัน
นอกจากไอโอดีนแล้ว ยังมีสารอาหารอีกมากมายที่ร่างกายต้องการไม่ว่าจะเป็นวิตามินหรือแร่ธาตุต่าง ๆ จึงต้องไม่ลืมกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน พักผ่อนอย่างเพียงพอและกำจัดความเครียดที่เกิดขึ้น แต่หากพบความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย ควรพบแพทย์ก่อนที่จะมีอาการรุนแรง