ภาวะตัวเตี้ย (Short Stature) หมายถึงภาวะที่บางคนมีความสูงน้อยกว่าคนที่มีอายุเท่ากันและเพศเดียวกัน โดยภาวะตัวเตี้ยมักพบในวัยเด็ก หากได้รับการตรวจและรักษากับแพทย์อย่างเหมาะสมโดยเร็ว จะช่วยให้เด็กมีการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสมตามวัย
เด็กที่มีภาวะตัวเตี้ยจะมีความสูงน้อยกว่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 3 เมื่อเทียบกับเกณฑ์การเจริญเติบโตตามอายุและเพศ ซึ่งเด็กอาจไม่มีอาการผิดปกติอื่นนอกจากส่วนสูงที่ต่ำกว่าเกณฑ์ แต่กรณีที่ภาวะตัวเตี้ยจากโรค เช่น ความผิดปกติแต่กำเนิด ภาวะขาดสารอาหาร ความผิดปกติของฮอร์โมน กระดูก และโรคเรื้อรังอื่น ๆ อาจพบอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย
สาเหตุของภาวะตัวเตี้ย
ภาวะตัวเตี้ยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มได้ดังนี้
1. พันธุกรรม
ภาวะตัวเตี้ยตามพันธุกรรม (Familial Short Stature หรือ Genetic Short Stature) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย เด็กจะมีความสูงสัมพันธ์กับความสูงของพ่อแม่ หากพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งหรือทั้ง 2 คนตัวเตี้ย อาจทำให้ลูกมีภาวะตัวเตี้ยตามไปด้วย เด็กที่มีภาวะตัวเตี้ยตามพันธุกรรมมักจะมีสุขภาพดี ไม่มีโรคอื่นแฝง และมีอัตราการเจริญเติบโตตามเกณฑ์ปกติ
2. ภาวะขาดสารอาหาร
ภาวะขาดสารอาหารส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก และทำให้เด็กมีภาวะตัวเตี้ย โดยส่วนมากมักเกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่ใส่ใจของผู้ปกครอง และความยากจน ทำให้เด็กรับประทานอาหารน้อยหรือไม่มีคุณค่าทางสารอาหารมากพอในการเจริญเติบโตสมวัย
บางครั้งภาวะตัวเตี้ยอาจเกิดจากโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่ทำให้เด็กได้รับสารอาหารน้อย เช่น ลำไส้อุดตัน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) โรคเซลิแอค (Celiac disease) แต่จะพบได้ยาก
3. ภาวะตัวเตี้ยแบบม้าตีนปลาย
ภาวะตัวเตี้ยแบบม้าตีนปลาย (Constitutional Growth Delay) คือเด็กที่เติบโตช้ากว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับเพื่อนในวัยเดียวกัน แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือมีส่วนสูงเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เซนติเมตรต่อปี และจะเข้าสู่วัยรุ่นช้ากว่าเพื่อนวัยเดียวกัน แต่เด็กกลุ่มนี้ยังเติบโตตามทันเพื่อน เนื่องจากยังสามารถเจริญเติบโตต่อได้ในขณะที่เพื่อนหยุดสูงแล้ว และจะมีความสูงตามเกณฑ์ปกติเมื่อเป็นผู้ใหญ่
ภาวะนี้อาจเกิดจากการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือในวัยเด็ก และปัจจัยทางพันธุกรรม ซึ่งส่งผลให้เด็กโตช้ากว่าเกณฑ์ และการเจริญเติบโตของกระดูกช้ากว่าคนในวัยเดียวกัน
4. ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ
ต่อมไร้ท่อ (Endocrine) ทำหน้าที่ผิดฮอร์โมนสำคัญของร่างกาย ภาวะตัวเตี้ยอาจเกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อในการผลิตฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก
ตัวอย่างเช่น ภาวะการขาดโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone Deficiency) ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย (Precocious Puberty) และไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism)
5. โรคทางพันธุกรรม
โรคทางพันธุกรรมเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กมีภาวะตัวเตี้ย เติบโตช้า และอาจมีความผิดปกติทางการเรียนรู้ อารมณ์ และพฤติกรรมด้วย เช่น ดาวน์ซินโดรม (Down's syndrome) กลุ่มอาการนูแนน (Noonan's Syndrome) กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome)
6. โรคเกี่ยวกับกระดูก
โรคเกี่ยวกับกระดูกที่ทำให้เด็กมีภาวะตัวเตี้ย เพราะจะส่งผลให้กระดูกเจริญเติบโตช้าหรือผิดปกติ เช่น โรคกระดูกอ่อนไม่เจริญเติบโต (Achondroplasia) ภาวะที่เนื้อกระดูกอ่อนและโค้งงอในเด็ก (Rickets)
7. โรคเรื้อรัง
โรคเรื้อรังหลายโรคอาจทำให้เด็กมีภาวะตัวเตี้ย หรือไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร เช่น โลหิตจาง วัณโรค ปอดบวม โรคพยาธิ ซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) หอบหืด เบาหวาน โรคไต
ขั้นตอนการตรวจและรักษาภาวะตัวเตี้ย
แพทย์จะวัดส่วนสูงแล้วนำไปเทียบกับกราฟแสดงเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโต จากนั้นอาจสอบถามประวัติสุขภาพ ประวัติครอบครัว และตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ ตรวจเลือด และตรวจวัดระดับโกรทฮอร์โมน ฮอร์โมนไทรอยด์ และการตรวจอื่น ๆ กรณีที่สงสัยว่าเด็กมีภาวะตัวเตี้ยจากปัญหาสุขภาพ
เด็กที่มีภาวะตัวเตี้ยโดยไม่มีความผิดปกติหรือโรคเรื้อรัง เช่น ตัวเตี้ยจากพันธุกรรม และภาวะตัวเตี้ยแบบม้าตีนปลายไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เพราะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีสุขภาพที่แข็งแรงได้ แต่หากตรวจพบว่าเด็กมีภาวะตัวเตี้ยจากโรค แพทย์จะรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น
- วางแผนด้านโภชนาการที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตเพียงพอตามวัย เช่น โปรตีนจากเนื้อสัตว์ นม ถั่ว เต้าหู้ คาร์โบไฮเดรตจากข้าวกล้องและธัญพืชขัดสีน้อย ผักผลไม้หลากสีที่ให้วิตามินและแร่ธาตุ
- ให้ประทานวิตามินเสริมควบคู่กับอาหาร เช่น แคลเซียม วิตามินดี ธาตุเหล็ก สำหรับเด็กที่ขาดสารอาหาร
- ให้ฮอร์โมนทดแทน สำหรับเด็กที่มีภาวะตัวเตี้ยจากฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ หรือโกรทฮอร์โมนต่ำ
- รักษาโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร การควบคุมอาการของโรคเหล่านี้ให้คงที่อาจช่วยให้เด็กเจริญเติบโตได้ดีขึ้น
- การผ่าตัดยืดกระดูกเพื่อเพิ่มความสูงหรือแก้ไขความพิการผิดรูป แต่วิธีนี้มีราคาแพงและเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดสูง จึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความจำเป็นและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก่อนเข้ารับการผ่าตัด
หากพ่อแม่เป็นกังวลเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของลูก หรือสังเกตว่าลูกมีภาวะตัวเตี้ย โตช้ากว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน หรือมีอาการผิดปกติอื่น เช่น รับประทานอาหารได้น้อยหรือไม่ยอมรับประทานอาหาร มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร มีความผิดปกติเกี่ยวหับพัฒนาการและพฤติกรรม ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้การเจริญเติบโตของเด็กเป็นไปตามเกณฑ์