การปฐมพยาบาลเมื่อเห็บกัดอย่างถูกวิธี

เห็บกัดเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อเราเดินผ่านพงหญ้ารกทึบหรือสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งแม้ว่าผู้ที่ถูกเห็บกัดจะไม่รู้สึกเจ็บหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ก็อาจเป็นอันตรายกับคนที่มีอาการแพ้ อีกทั้งเห็บบางชนิดยังอาจแพร่เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงบางโรคเข้าสู่ร่างกายได้ด้วย

แม้ว่าการถูกเห็บกัดมักไม่ก่อให้เกิดอาการที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่สัตว์ชนิดนี้อาจเป็นพาหะนำโรค เช่น โรคไลม์ (Lyme Disease) หรือโรคทูลาริเมีย (Tularemia) ที่อาจเป็นอันตรายต่อคุณและครอบครัว ดังนั้น การทราบถึงการปฐมพยาบาลอย่างเหมาะสมเมื่อถูกเห็บกัดจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนบางอย่างที่รุนแรงได้ 

การปฐมพยาบาลเมื่อเห็บกัดอย่างถูกวิธี

เห็บกัดมีอาการอย่างไร

โดยทั่วไป คนจะถูกเห็บกัดบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ข้อพับ หรือผิวหนังส่วนต่าง ๆ และส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายหรือเกิดอาการรุนแรง แต่ผู้ที่แพ้เห็บอาจมีอาการแพ้แสดงออกทางผิวหนัง ดังนี้

  • บวม เป็นรอยแดงหรือจุดแดงในบริเวณที่โดนเห็บกัด
  • รู้สึกปวด คัน หรือแสบ
  • ชา
  • เกิดแผลพุพองในกรณีที่บาดแผลเกิดการติดเชื้อ 
  • บางรายที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงอาจเกิดอาการหายใจลำบาก

นอกจากนี้ การถูกเห็บกัดอาจทำให้ได้รับเชื้อโรคบางชนิดหลังการกัดได้ โดยมักจะพบอาการคล้ายไข้หวัด เช่น รู้สึกอ่อนเพลียอย่างรุนแรง มีไข้ ปวดหัว หนาวสั่น อาเจียน ต่อมน้ำเหลืองบวม ปวดตัว ใจสั่นหรือมึนงง ปวดตามกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ

วิธีปฐมพยาบาลที่เหมาะสมเมื่อเห็บกัด

เมื่อถูกเห็บกัดควรปฐมพยาบาลตามขั้นตอนต่อไปนี้

1. นำเห็บออกจากผิวให้เร็วที่สุด

การนำเห็บออกจากผิวไม่ควรใช้มือเปล่าหยิบเห็บออก แต่ให้ใช้ที่คีบปลายแหลมค่อย ๆ หนีบตัวเห็บและดึงออกจากผิวหนังอย่างเบามือ โดยห้ามบิดหรือหมุนในขณะที่ดึง และไม่ควรใช้ปิโตรเลียมเจลลี่ (Petroleum Jelly) ในการกำจัดเห็บ เนื่องจากอาจทำให้เห็บฝังตัวและปล่อยสารพิษออกมามากขึ้น

2. จับเห็บใส่บรรจุภัณฑ์ที่มิดชิด

ตรวจดูว่าหนีบชิ้นส่วนของเห็บออกจากบริเวณที่ถูกเห็บกัดจนหมด จากนั้นนำเห็บใส่ไว้ในบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิดเพื่อถ่ายรูปหรือนำตัวเห็บไปให้แพทย์ตรวจดูชนิดของเห็บ หากเป็นไปได้ควรเขียนสถานที่และช่วงเวลาที่เห็บกัดกำกับไว้ที่บรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ประเมินความเสี่ยงต่อการได้รับโรคจากเห็บได้

3. ทำความสะอาดผิวบริเวณที่ถูกเห็บกัด

ขั้นตอนสุดท้าย ให้ทำความสะอาดผิวบริเวณที่ถูกเห็บกัดด้วยน้ำสะอาดและแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อหรือไอโอดีน หรืออาจล้างด้วยสบู่และน้ำเปล่า จากนั้นล้างมือให้สะอาดเพื่อกำจัดเชื้อโรค

นอกจากนี้ หากสังเกตเห็นอาการผิดปกติหลังถูกเห็บกัด เช่น มีอาการคล้ายไข้หวัด ง่วงซึม ปวดตามกล้ามเนื้อ เกิดผื่นแผ่เป็นวงกว้างมากขึ้น ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม และมีอาการคล้ายการติดเชื้ออย่างอาการบวม แดง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม เราสามารถระวังเห็บกัดได้ด้วยการตรวจดูเสื้อผ้าและร่างกายของตนเองโดยเฉพาะในบริเวณข้อพับ รักแร้ หัว หรือขาหนีบอยู่เสมอเมื่อกลับถึงบ้านและอาบน้ำทันที หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีต้นไม้หรือต้นหญ้ารก ไม่นั่งหรือเดินฝ่ากองใบไม้ สวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายเมื่ออยู่กลางแจ้ง รวมทั้งควรตรวจดูร่างกายของสัตว์เลี้ยงให้ปลอดเห็บอยู่เสมอ