การกินยาให้ถูกวิธีตามปริมาณและเวลาตามที่แพทย์สั่งหรือตามที่ระบุไว้ในฉลากเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงจากการกินยาผิดวิธี
ยาที่ใช้รักษาโรคมีหลายรูปแบบ ส่วนมากแล้วยากินเป็นรูปแบบที่ใช้อย่างกว้างขวาง มีทั้งรูปแบบยาเม็ด ยาแคปซูล และยาน้ำ โดยตัวยาสำคัญในยาจะเป็นส่วนประกอบที่มีฤทธิ์ในการรักษา และยาแต่ละชนิดมีรูปแบบการออกฤทธิ์ของตัวยาสำคัญที่แตกต่างกัน มาเรียนรู้วิธีการกินยาให้ถูกต้องและปลอดภัยต่อสุขภาพกันได้ในบทความนี้
กินยาอย่างไรให้ถูกวิธี
ก่อนการกินยาทุกชนิด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับส่วนประกอบในยา ปริมาณยา วิธีการรับประทาน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และวิธีการเก็บรักษายาอย่างถูกต้อง โดยกระทรวงสาธารณสุขแนะนำหลักการใช้ยาอย่างถูกต้องตามหลักการ 5 ถูก ดังนี้
- ถูกโรค คือใช้ยาให้ตรงกับโรคที่เป็น เช่น เมื่อมีไข้ ควรใช้ยาที่มีสรรพคุณในการลดไข้ เป็นต้น
- ถูกคน คือใช้ยาให้ตรงกับเพศ อายุ วัย และปัจจัยด้านสุขภาพของแต่ละคน โดยแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากมีโรคประจำตัว ตั้งครรภ์ กำลังให้นมบุตร และกินยาหรืออาหารเสริมอื่นอยู่
- ถูกขนาด คือใช้ยาตามปริมาณ เช่น กินครั้งละ 1 เม็ด หรือครั้งละ 1 ช้อนชา ไม่ควรกินน้อยกว่าหรือมากกว่าที่ฉลากยาระบุหรือที่แพทย์กำหนด เป็นต้น
- ถูกเวลา คือใช้ยาให้ถูกเวลาตามที่ระบุบนฉลากยา เช่น ยาก่อนอาหาร ควรกินก่อนอาหาร 15–30 นาที ยาหลังอาหารบางชนิดอาจให้กินหลังอาหารทันที และบางชนิดกินหลังอาหาร 15–30 นาที และยาก่อนนอน หากนอนไม่ตรงเวลาควรกินในเวลาเดียวกันทุกวัน เป็นต้น
- ถูกวิธี คือยากินบางชนิดเท่านั้นที่สามารถหักแบ่ง บดเม็ดยา หรือแกะแคปซูลมาละลายน้ำก่อนกินได้ แต่ยาบางชนิดไม่สามารถทำได้ จึงควรสอบถามเภสัชกร หรืออ่านเอกสารกำกับยาทุกครั้งก่อนหักแบ่งหรือบดเม็ดยา นอกจากนี้ ควรใช้ยาให้ถูกช่องทาง เพราะยาแต่ะชนิดมีวิธีออกฤทธิ์ที่ต่างกัน เช่น ยากินจะดูดซึมมากที่สุดที่ลำไส้เล็ก เข้าสู่กระแสเลือดและออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย ส่วนยาดม ยาพ่น และยาเหน็บ ออกฤทธิ์เฉพาะที่ อย่างยาพ่นจมูก ยาเหน็บช่องคลอด และยาเหน็บทวารหนัก
ทั้งนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องกินยาต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดกินยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เช่น ยารักษาโรคคอเลสเตอรอลสูง หากผู้ป่วยหยุดยาเองอย่างกะทันหันอาจทำให้ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้นและส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เช่นเดียวกับผู้ป่วยบางคนที่หยุดยารักษาความดันโลหิตสูงเอง เพราะคิดว่าไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แต่การหยุดยาจะทำให้ความดันโลหิตกลับสูงขึ้นมาอีก และอาจส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย โดยอาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก อัมพฤกษ์ และอัมพาตได้
ลืมกินยา ควรทำอย่างไร
การกินยาเป็นประจำตามเวลาเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หลายคนก็ชอบลืมกินยาอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ซึ่งยาแต่ละชนิดมีหลักปฏิบัติเมื่อลืมกินยาที่แตกต่างกัน ได้แก่
- ยาก่อนอาหาร : ควรข้ามยามื้อที่ลืมไป แต่ถ้าเป็นยาที่รับประทานก่อนอาหารอาจรอให้กระเพาะอาหารว่างก่อนประมาณ 2 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารแล้วค่อยกินยา เพราะยาจะถูกทำลายหรืออาหารอาจลดการดูดซึมของยา แต่กรณีที่ต้องกินยาในมื้อถัดไปอยู่แล้ว ให้กินยาก่อนอาหารมื้อถัดไปแทนได้เลย
- ยาหลังอาหาร : กรณีที่นึกได้ว่าลืมกินยาไม่เกิน 15–30 นาที สามารถรับประทานยาได้ทันทีที่นึกได้แต่หากเกินกว่า 30 นาทีแล้ว ควรกินยาหลังอาหารในมื้อถัดไปแทน หากยานั้นมีความสำคัญมาก อาจกินอาหารมื้อย่อยแทนมื้อหลักก่อนกินยาได้
- ยาหลังอาหารทันที : ควรรอกินยาหลังอาหารในมื้อถัดไปแทน หรืออาจกินอาหารมื้อย่อยแทนมื้อหลักก่อนกินยาก็ได้หากยานั้นมีความสำคัญมาก
- ยาก่อนนอน : โดยทั่วไปมักนึกได้ว่าลืมกินยาในเช้าวันรุ่งขึ้น จึงควรรอให้ถึงเวลาก่อนเข้านอนในคืนถัดไปค่อยกินยานั้น
อย่างไรก็ตาม ยารักษาโรคประจำตัวบางชนิดมีข้อปฏิบัติเมื่อลืมกินยาที่แตกต่างจากยาทั่วไป เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงที่ต้องกินให้ตรงเวลาทุกวัน หากลืมกินยาควรกินยาทันทีที่นึกขึ้นได้ และหากลืมกินเมื่อใกล้มื้อถัดไป ห้ามกินยาเพิ่มเป็น 2 เท่าอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดอันตรายจากการความดันลดลงได้ เป็นต้น หากไม่แน่ใจว่ายาที่กินอยู่มีข้อควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อลิมกินยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
เทคนิคการกินยาให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
การกินยาอย่างถูกต้องมีข้อควรรู้และควรระวังเพิ่มเติม ดังนี้
- ไม่ควรแบ่งยาของตัวเองให้คนอื่นกินและไม่กินยาของคนอื่น เนื่องจากแต่ละคนมีโรคประจำตัวและสภาพร่างกายที่แตกต่างกัน การกินยาเพื่อรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับแต่ละบุคคลเท่านั้น
- หากต้องการแบ่งยาใส่ตลับยาเพื่อเตือนไม่ให้ลืมกินยา ควรแบ่งยาใส่ตลับให้พอใช้ในแต่ละวัน ไม่ควรแบ่งยาล่วงหน้า หากยาอยู่ในแผงฟอยล์หรือซองสีชา ควรตัดแบ่งทั้งฟอยล์และไม่แกะยาออกจากแผงฟอยล์ เนื่องจากอาจทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง
- กินยาให้ครบถ้วนและถูกต้องตามที่แพทย์สั่งหรือตามที่ฉลากยากำหนด เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากยา เช่น ยาบางชนิดควรดื่มน้ำตามมาก ๆ ยาบางชนิดควรเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน และยาบางชนิดอาจทำให้ง่วงนอน จึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร เป็นต้น
- ไม่ควรกินยาร่วมกับอาหารบางชนิด เช่น นม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาบางชนิดลดลงและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้
- เก็บรักษายาอย่างเหมาะสม โดยยาบางชนิดอาจเสื่อมสภาพเมื่อถูกแสงแดดหรือเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง และยาบางชนิดควรเก็บในตู้เย็น จึงควรสอบถามวิธีเก็บรักษายาที่ถูกต้องจากแพทย์หรือเภสัชกรเมื่อได้รับยาทุกครั้ง
- เก็บยาไว้ในที่ที่ปลอดภัยและพ้นจากมือเด็ก
- หมั่นตรวจสอบวันหมดอายุบนฉลากยา หากยาเปลี่ยนสภาพ เช่น สีเปลี่ยน มีจุดด่าง ขึ้นรา เยิ้มเหนียว หรือมีกลิ่นผิดไปจากเดิม ไม่ควรกินยาดังกล่าว
การกินยาให้ถูกต้องและครบถ้วนตามที่แพทย์สั่งหรือตามที่ฉลากระบุไว้จะช่วยให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นหลังกินยา เช่น มีผื่นขึ้น เกิดลมพิษ และอื่น ๆ ควรหยุดยาและรีบพบแพทย์ทันที โดยนำยาที่ตนเองได้รับติดตัวไปด้วยเพื่อให้แพทย์พิจารณา และไม่ควรพยายามทำให้อาเจียนหรือซื้อยาแก้แพ้มากินเอง