ถ่ายเป็นน้ำคืออาการท้องเสียทำให้ขับถ่ายอุจจาระในลักษณะเหลวเป็นน้ำ ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ถ่ายเป็นน้ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และการใช้ยาบางชนิด
โดยทั่วไป การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมจะช่วยให้บรรเทาอาการถ่ายเป็นน้ำให้ดีขึ้นได้ภายในเวลาไม่กี่วัน และช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำ อย่างไรก็ตาม หากอาการถ่ายเป็นน้ำรุนแรงขึ้นหรือไม่หายขาด อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุต่อไป
อาการถ่ายเป็นน้ำ
ถ่ายเป็นน้ำจะทำให้อุจจาระที่ขับถ่ายออกมาไม่เป็นก้อน และมีลักษณะเหลวเป็นน้ำ โดยมักจะทำให้เกิดความรู้สึกอยากขับถ่ายอย่างเฉียบพลันจนต้องรีบเข้าห้องน้ำ ทำให้บางครั้งอาจกลั้นอุจจาระไม่อยู่ อุจจาระเล็ดราด หรืออาจมีเลือดปนในอุจาระ
นอกจากถ่ายเป็นน้ำ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เวียนหัว เบื่ออาหาร และมีไข้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการถ่ายเหลว
สาเหตุของอาการถ่ายเป็นน้ำ
ถ่ายเป็นน้ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
1. การติดเชื้อ
การติดเชื้อเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียและถ่ายเป็นน้ำ โดยเกิดจากการได้รับเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และปรสิตที่อาจปะปนอยู่ในอาหาร เครื่องดื่ม หรือมาจากสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูกและน้ำลายจากการไอ จาม และสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อเหล่านี้
- เชื้อไวรัส เช่น อะดีโนไวรัส (Adenovirus) โนโรไวรัส (Norovirus) และโรต้าไวรัส (Rotavirus)
- เชื้อแบคทีเรีย เช่น อีโคไล (E.Coli) แคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter) ชิเกลล่า (Shigella) และซาลโมเนลลา (Salmonella)
- ปรสิต เช่น ไกอาเดีย (Giardia) คริปโตสปอริเดียม (Cryptosporidium)
2. โรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร
หากมีอาการถ่ายเหลวที่ไม่หายขาด อาจเป็นสัญญาณของโรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เช่น โรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) และโรคโครห์น (Crohn’s Disease) ที่ทำให้ปวดท้องและถ่ายเป็นน้ำ โดยอาการอาจดีขึ้นช่วงระยะหนึ่ง และจะกลับมามีอาการท้องเสียใหม่
นอกจากนี้ ถ่ายเป็นน้ำอาจเกิดจากโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) ที่ทำให้มีอาการท้องผูกสลับกับถ่ายเป็นน้ำ และโรคเซลิแอค (Celiac Disease) ซึ่งเป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อกลูเตนในข้าวสาลี ทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องอืด และถ่ายเป็นน้ำ
3. ร่างกายไม่ย่อยอาหารบางชนิด (Food Intolerance)
ระบบย่อยอาหารของบางคนอาจไม่สามารถย่อยอาหารบางชนิดได้ จึงอาจทำให้เกิดอาการไม่สบายท้อง ปวดท้อง ท้องอืด และถ่ายเป็นน้ำ โดยอาจถ่ายเหลวสีเขียวได้
ซึ่งอาหารที่ทำให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติที่พบบ่อย เช่น แลคโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลที่พบในนมวัวและผลิตภัณฑ์นม กลูเตน ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบมากในข้าวสาลี และสารให้ความหวาน เช่น ซอร์บิทอล (Sorbitol) และไซลิทอล (Xylitol)
4. ผลข้างเคียงจากยา
ยาหลายชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงคืออาการถ่ายเป็นน้ำ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาลดกรด ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ยาเคมีบำบัด ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
5. ท้องผูกเรื้อรัง
ท้องผูกคือการขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ทำให้อุจจาระเป็นก้อนแข็งและแห้ง ขับถ่ายลำบากหรือถ่ายไม่ออก รู้สึกเจ็บปวดขณะขับถ่าย ซึ่งเกิดจากการกินอาหารที่มีใยอาหารน้อย การดื่มน้ำน้อย ความเครียด การใช้ยาบางชนิด และภาวะสุขภาพอื่น ๆ เช่น การตั้งครรภ์ และโรคทางเดินอาหาร
ผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังอาจทำให้มีอาการถ่ายเป็นน้ำ เนื่องจากอุจจาระที่แข็งค้างอยู่ภายในลำไส้จะไปอุดกั้นไม่ให้ขับถ่ายอุจจาระใหม่ออกมา จึงทำให้อุจจาระที่สามารถขับถ่ายออกมาได้มีลักษณะเป็นน้ำ
รับมือกับอาการถ่ายเป็นน้ำ
เมื่อมีอาการถ่ายเป็นน้ำ ควรดูแลตัวเองในเบื้องต้น ดังนี้
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ หรือดื่มผงเกลือแร่ (ORS) เพื่อชดเชยปริมาณน้ำและแร่ธาตุที่ร่างกายสูญเสียไปกับการถ่ายเป็นน้ำ และป้องกันภาวะขาดน้ำ
- พักผ่อนมาก ๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก หรือการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก เพราะอาจทำให้ปวดท้อง อ่อนเพลีย และถ่ายเหลวบ่อยขึ้น
- รับประทานอาหารอ่อนที่รสไม่จัดและย่อยง่าย เช่น ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดจัด อาหารไขมันสูง อาหารที่มีใยอาหารสูง รวมทั้งงดการดื่มนมวัว เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
- รับประทานยาบรรเทาอาการปวดท้องและท้องเสียที่หาซื้อได้เอง เช่น ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต (Bismuth Subsalicylate)
สังเกตอาการที่ควรไปพบแพทย์
อาการถ่ายเป็นน้ำมักดีขึ้นหลังจากที่ร่างกายกำจัดเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการออกไปจนหมด แต่หากมีอาการถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเป็นเลือดต่อเนื่องกันนานกว่า 48 ชั่วโมง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา แพทย์อาจสั่งจ่ายยาที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือยาที่รักษาอาการท้องเสียอื่น ๆ เพิ่มเติมตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ
ทั้งนี้ อาการถ่ายเป็นน้ำที่รุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น ภาวะขาดน้ำ การดูดซึมสารอาหารผิดปกติ (Malabsorption) ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย ชัก ไตวาย และช็อก ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ หากมีอาการถ่ายเหลวพร้อมกับอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
- มีไข้สูง
- อุจจาระมีสีดำหรือถ่ายเป็นเลือด
- อาการขาดน้ำ เช่น กระหายน้ำมาก ปากแห้ง ปัสสาวะน้อย และปัสสาวะสีเข้ม
การป้องกันอาการถ่ายเป็นน้ำทำได้โดยการล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนและหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนรับประทานหรือเตรียมอาหาร รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ เก็บอาหารที่รับประทานไม่หมดไว้ในตู้เย็น แยกเขียงสำหรับหั่นผักและเนื้อสัตว์ ดื่มน้ำสะอาด และฉีดวัคซีนป้องกันโรต้าไวรัส และวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค