ถ่ายไม่สุด (Tenesmus) เป็นอาการที่เรารู้สึกอยากถ่ายอุจจาระแม้จะไม่มีอุจจาระค้างในลำไส้แล้วก็ตาม ทำให้หลายคนพยายามเบ่งเพื่อถ่ายอุจจาระและอาจถ่ายออกมาเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอุจจาระออกมาเลย อาการถ่ายไม่สุดอาจเรียกว่าอาการปวดเบ่ง ซึ่งทำให้รู้สึกปวดและไม่สบายท้องท้อง
การถ่ายไม่สุดไม่ได้จัดเป็นโรคโดยตรง แต่อาจเป็นอาการที่บ่งบอกโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease) ความผิดปกติของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่ควบคุมการขับถ่าย การอักเสบและติดเชื้อ ไปจนถึงโรคมะเร็งบางชนิด
ถ่ายไม่สุดมีอาการอย่างไร
อาการถ่ายไม่สุดอาจเกิดในช่วงสั้น ๆ หรือเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยอาการที่พบบ่อย มีดังนี้
- รู้สึกอยากถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ
- รู้สึกไม่สบายท้องและต้องเบ่งเมื่อขับถ่าย
- การขับถ่ายอุจจาระแต่ละครั้งมีปริมาณน้อย
- รู้สึกว่าไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้หมด และรู้สึกอยากขับถ่ายเรื่อย ๆ
- เจ็บบริเวณทวารหนัก
หากอาการเหล่านี้ไม่หายขาด และรู้สึกปวดท้อง มีเลือดปนในอุจจาระ มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ หรืออาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากการถ่ายไม่สุดอาจเป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ จึงควรเข้ารับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง เมื่อทราบสาเหตุที่ทำให้มีอาการถ่ายไม่สุดจะทำให้การรักษาได้ผลดี
สาเหตุของการถ่ายไม่สุด
การถ่ายไม่สุดมักเกิดจากโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ ดังนี้
โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD)
โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเป็นกลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากการอักเสบภายในระบบทางเดินอาหาร โดยโรคที่พบบ่อยและทำให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรัง ได้แก่
- โรคโครห์น (Crohn’s Disease) เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้ โดยอาการสามารถเกิดขึ้นกับส่วนใดของระบบทางเดินอาหารก็ได้ แต่พบมากที่ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่
- โรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) เป็นการอักเสบที่เยื่อบุชั้นในสุดของลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ซึ่งอยู่ส่วนล่างของลำไส้ใหญ่ที่ต่อไปยังทวารหนัก ทำให้เกิดแผลที่ทางเดินอาหาร
สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจส่งผลให้เกิดอาการ เช่น การทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน พันธุกรรม อาหาร และเชื้อโรคในลำไส้ โดยมักทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องร่วง รู้สึกอยากขับถ่ายบ่อย ถ่ายไม่สุด ถ่ายเป็นเลือด อ่อนเพลีย และน้ำหนักลดลง
โรคโครห์นและโรคลำไส้อักเสบอาจทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหาร ซึ่งทำให้ถ่ายอุจจาระได้ยากขึ้น และเกิดอาการถ่ายไม่สุดตามมา
แผลในลำไส้
แผลในลำไส้จากการท้องผูกหรือท้องร่วงอย่างรุนแรงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการถ่ายไม่สุด เนื่องจากอาจทำให้ถ่ายอุจจาระได้ยาก และรู้สึกว่ามีอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้ นอกจากนี้ แผลและเนื้องอกบริเวณทวารหนักหรือในลำไส้ใหญ่ก็สามารถทำให้เกิดอาการถ่ายไม่สุดได้เช่นกัน
ความผิดปกติของเส้นประสาทควบคุมการขับถ่าย
ความผิดปกติของเส้นประสาทที่ควบคุมการขับถ่ายอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก ท้องท้องร่วง และการถ่ายไม่สุด หากเกิดการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร สมองอาจกระตุ้นให้เส้นประสาทที่ควบคุมการขับถ่ายทำงานโดยทำให้รู้สึกว่าต้องถ่ายอุจจาระ กล้ามเนื้อลำไส้ที่ควบคุมการขับถ่ายจึงบีบตัวและกระตุ้นให้เรารู้สึกอยากขับถ่ายแม้จะไม่มีอุจจาระตกค้างในลำไส้ก็ตาม
การอักเสบและติดเชื้อ
การอักเสบของลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Proctitis) เป็นอักเสบของทวารหนักและเยื่อบุไส้ตรง โดยสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ หนองในแท้ (Gonorrhea) หนองในเทียม (Chlamydia) ซิฟิลิส (Syphilis) เริม และหูดที่ทวารหนัก ทำให้รู้สึกเจ็บเวลาขับถ่าย รู้สึกเหมือนมีอุจจาระอยู่ในลำไส้ และอุจจาระมีเลือดและหนองปน
นอกจากนี้ การถ่ายไม่สุดอาจพบในผู้ที่มีฝีที่ก้น (Anorectal Abscess) ซึ่งเป็นกลุ่มฝีหนองจากการติดเชื้อของต่อมบริเวณทวารหนักและไส้ตรง หรือเกิดจากการอุดตันที่ต่อมบริเวณทวารหนัก ทำให้เกิดเป็นฝีหนอง หรือโรคฝีคัณฑสูตร (Anal Fistula) และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำให้ปวดบริเวณทวารหนัก การขับถ่ายผิดปกติ และมีเลือดหรือหนองออกมาเวลาอุจจาระ
การอักเสบและการระคายเคืองบริเวณลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักจากโรคเหล่านี้ อาจส่งผลให้เกิดอาการถ่ายไม่สุดได้
มะเร็งและการรักษามะเร็ง
มะเร็งลำไส้และการรักษามะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งที่ลำไส้ตรงและลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) ด้วยการใช้รังสี (Radiation) อาจทำให้เกิดความเสียหายและการอักเสบที่ลำไส้ และอาจเกิดอาการถ่ายไม่สุดตามมา
นอกเหนือจากปัญหาสุขภาพข้างต้น อาการถ่ายไม่สุดอาจพบในผู้ที่มีภาวะไส้ตรงปลิ้น (Rectal Prolapse) ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoid) ภาวะลำไส้ขาดเลือด (Ischemic Colitis) โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis) โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis) และโรคเซลิแอค (Celiac Disease)
ถ่ายไม่สุดรักษาได้อย่างไร
การรักษาถ่ายไม่สุดจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยแพทย์จะวินิจฉัยโรคจากการสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพ และประวัติครอบครัว จากนั้นจะตรวจทางทวารหนักด้วยนิ้วมือ (Digital Rectal Exam) ตรวจบริเวณช่องท้อง และอาจให้ตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตรวจอุจจาระ การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร (Endoscopy) การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) และการถ่ายภาพรังสี
การรักษาโรคบางชนิด เช่น ท้องผูก โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง และความผิดปกติของการทำงานของระบบทางเดินอาหาร อาจรักษาได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการกิน โดยกินอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำให้เพียงพอ ออกกำลังกาย รวมทั้งฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา ขับถ่ายเมื่อรู้สึกปวดจริง ๆ และไม่เบ่งอุจจาระ
หากการปรับพฤติกรรมไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นหรืออาการถ่ายไม่สุดเกิดจากโรคที่ต้องใช้ยารักษา แพทย์อาจให้รับประทานยาเพื่อรักษาโรค เช่น
- ยาระบาย สำหรับผู้มีอาการท้องผูก ซึ่งช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ และเพิ่มความอ่อนนุ่มให้อุจจาระ ทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
- ยาปฏิชีวนะ หากเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และโรคฝีที่ก้น
- ยาต้านการอักเสบ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) และยาอะมิโนซาลิไซเลต (Aminosalicylates) ยาปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
ผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้ที่มีภาวะไส้ตรงปลิ้น ฝีที่ก้น และริดสีดวงทวารที่รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผลอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด รวมทั้งผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ฉายแสง และเคมีบำบัด
ถ่ายไม่สุดเป็นภาวะที่ทำให้รู้สึกอยากขับถ่ายแม้จะไม่มีอุจจาระค้างในลำไส้ ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ ทั้งนี้ ถ่ายไม่สุดเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากเข้ารับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้รักษาโรคต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของอาการถ่ายไม่สุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ