ปวดเนื้อปวดตัว 12 สาเหตุ และวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น

ปวดเนื้อปวดตัว คืออาการเจ็บปวดตามร่างกายที่กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเอ็น ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การออกแรงมาก ความเครียด การนอนผิดท่า การขาดน้ำ ไปจนถึงการติดเชื้อและอักเสบจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ ซึ่งความรุนแรงและลักษณะอาการปวดเนื้อปวดตัวจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ 

เมื่อมีอาการปวดเนื้อปวดตัว สามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้นด้วยการพักผ่อน และปรับพฤติกรรมอื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ปวดเนื้อปวดตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อาการปวดเนื้อปวดตัวบางสาเหตุที่ไม่ดีขึ้นหลังจากดูแลตัวเองหรือเป็นเรื้อรัง อาจต้องได้รับการตรวจและรักษาโดยแพทย์เพิ่มเติม

ปวดเนื้อปวดตัว

อาการที่พบเมื่อปวดเนื้อปวดตัว

อาการปวดเนื้อปวดตัวมีหลายลักษณะ ซึ่งความถี่และความรุนแรงของอาการปวดของแต่ละคนจะแตกต่างกัน เช่น ปวดแปลบอย่างเฉียบพลัน ปวดตื้อ ๆ เป็นเวลานาน หรือปวดเป็นพัก ๆ แล้วหายไป 

นอกจากนี้ อาการปวดเนื้อปวดตัวอาจเกิดขึ้นทั่วร่างกาย หรือเกิดขึ้นเฉพาะส่วนขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น คนที่ออกกำลังกายหนักอาจปวดกล้ามเนื้อเฉพาะบริเวณที่ออกแรงมาก แต่คนที่ปวดเนื้อปวดตัวจากการเจ็บป่วย เช่น ไข้หวัดใหญ่ มักจะมีอาการปวดทั่วร่างกาย

บางคนอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมกับอาการปวดเนื้อปวดตัว เช่น มีไข้ หนาวสั่น ไอ มีน้ำมูก อ่อนเพลีย และปวดศีรษะ 

สาเหตุของอาการปวดเนื้อปวดตัว

ปวดเนื้อปวดตัวเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1. การออกแรงมาก

ปวดเนื้อปวดตัวจากการออกแรงมากเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ซึ่งอาจเกิดจากการออกกำลังกายหนัก การออกแรงมากในการทำงาน หรือการเปลี่ยนท่ากะทันหัน ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ผิวบวมแดง หรือฟกช้ำได้ บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อฉีกขาดอีกด้วย

นอกจากนี้ การออกแรงมากขณะออกกำลังกายหรือใช้แรงงานหนัก ร่างกายจะมีการเผาผลาญพลังงาน และสร้างกรดแลคติก (Lactic Acid) ออกมา หากร่างกายมีการสะสมของกรดแลคติกมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการปวดเนื้อปวดตัวตามมาได้ชั่วคราว และจะดีขึ้นเมื่อได้พักการออกแรง หรือลดความเข้มข้นในการออกกำลังกายลง

2. การติดเชื้อ

การติดเชื้อในร่างกาย เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 ไข้เลือดออกที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส รวมทั้งการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ปอดบวม คออักเสบ (Strep Throat) และไข้ไทฟอยด์ (Typhoid) มักทำให้เกิดอาการปวดเนื้อปวดตัว อ่อนเพลีย หนาวสั่น และมีไข้ได้

3. ความเครียด

เมื่อเกิดความเครียด ส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อในร่างกายได้ง่ายขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง มีอาการปวดเนื้อปวดตัว ร่วมกัยอาการอื่น เช่น เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ และปวดศีรษะ

4. ภาวะขาดน้ำ

น้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญในร่างกาย หากร่างกายขาดน้ำจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ดื่มน้ำไม่เพียงพอหลังจากออกกำลังกายหนัก ทำงานกลางแจ้ง หรือมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้สูง ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ปวดเนื้อปวดตัว ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ กระหายน้ำมาก และปัสสาวะสีเข้ม 

5. ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ

การนอนหลับผิดท่า เช่น บิดหรือขดตัวมากเกินไป และการนอนคว่ำ รวมทั้งการนอนบนที่นอนที่ไม่เหมาะสมกับสรีระ เช่น ฟูกที่แข็งหรือนิ่มเกินไป อาจไม่สามารถรองรับน้ำหนักตัวของผู้ที่นอนได้ และทำให้การวางตัวของแนวกระดูกสันหลังไม่อยู่ในแนวตรง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดเนื้อปวดตัวบริเวณ คอ ไหล่ และหลังได้ 

นอกจากนี้ ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอจากพฤติกรรมก่อนเข้านอนที่ไม่เหมาะสม มีโรคเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น โรคนอนไม่หลับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่ทำให้นอนไม่หลับ เช่น โรควิตกกังวลและซึมเศร้า อาจทำให้เกิดอาการปวดเนื้อปวดตัว และอ่อนเพลียในตอนเช้าได้

6. การขาดวิตามินดีและแคลเซียม

วิตามินดีและแคลเซียมมีส่วนสำคัญต่อการทำงานของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ระบบประสาท ฮอร์โมน และระบบภูมิคุ้มกัน หากร่างกายขาดวิตามินดีและแคลเซียม อาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว และอาจนำไปสู่ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำได้

7. กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome)

กลุ่มอาการความล้าเรื้อรังเป็นอาการเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ไม่มีแรง แม้จะพักผ่อนแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น มีอาการปวดเนื้อปวดตัวตามข้อและกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ความจำและสมาธิแย่ลง 

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

8. โรคที่เกิดการคั่งของของเหลวในร่างกาย (Fluid Retention)

โรคในกลุ่มนี้จะทำให้เกิดการสะสมของของเหลวตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้มีอาการบวมน้ำ ปวดเนื้อปวดตัว บางคนอาจมีอาการปวดแปลบและปวดเกร็งเฉพาะจุด ซึ่งอาจมีสาเหตุจาก

  • โรคไทรอยด์ โดยเฉพาะไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism) ทำให้ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ผิวแห้ง ผมบาง และความจำแย่ลง
  • โรคหัวใจวาย (Heart Failure)
  • โรคไตเรื้อรัง และโรคตับแข็ง

9. ข้ออักเสบ (Arthritis) 

ข้ออักเสบเกิดจากการที่ข้อต่อตามร่างกายของผู้ป่วยเกิดการอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรม ความเสื่อมของข้อต่อตามวัย และภาวะผิดปกติของภูมิคุ้มกัน มีหลายประเภท เช่น ข้อเข่าเสื่อม ข้ออักเสบรูมาตอยด์ และเกาต์ มักทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดเนื้อปวดตัว ข้อต่อบวมแดงและติดแข็ง หากอาการรุนแรงอาจขยับข้อต่อนั้นไม่ได้

10. ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)

ไฟโบรมัยอัลเจียเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดเนื้อปวดตัวทั่วร่างกาย ไวต่อความรู้สึกปวดได้ง่าย อ่อนเพลีย ความจำไม่ดี ปวดศีรษะ มีปัญหาการนอนหลับ และซึมเศร้า 

11. โรคเรื้อรังอื่น ๆ

โรคเรื้อรัง เช่น โรคโลหิตจาง โรคมะเร็ง และโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) อาจทำให้เกิดอาการปวดเนื้อปวดตัว อ่อนเพลีย และอาการอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับลักษณะของโรคและความรุนแรงของอาการ

12. การใช้ยา

การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาลดคอเลสเตอรอลกลุ่มสแตติน (Statins) ยาขับปัสสาวะ ยาเคมีบำบัด และยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRI อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการปวดเนื้อปวดตัว และหนาวสั่นได้

วิธีแก้ปวดเนื้อปวดตัวด้วยตัวเอง

หากมีอาการปวดเนื้อปวดตัวที่ไม่รุนแรง ควรดูแลตัวเองด้วยวิธีดังนี้

  • พักผ่อนมาก ๆ งดทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงจนกว่าจะหายปวดเมื่อยเนื้อตัว ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดจากการออกกำลังกายหนัก การทำงานหนัก และฟื้นฟูร่างกายจากอาการป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อได้
  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ โดยค่อย ๆ จิบทีละน้อยตลอดทั้งวัน หากเสียเหงื่อมากในวันที่อากาศร้อน ทำกิจกรรมที่ใช้แรง หรือมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ควรจิบน้ำให้มากขึ้น เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • อาบหรือแช่ส่วนที่ปวดเมื่อยในน้ำอุ่น และออกกำลังกายเบา ๆ  เช่น เดิน โยคะ และพิลาทิส เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเนื้อปวดตัว กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ลดความเครียด และช่วยให้หลับสบาย
  • จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น ฟังเพลงสบาย ๆ นั่งสมาธิ ฝึกหายใจ และไปนวดผ่อนคลาย
  • ปรับเปลี่ยนท่านอน หลีกเลี่ยงการนอนขดตัวและนอนคว่ำ เลือกที่นอนที่สามารถรองรับสรีระได้อย่างเหมาะสม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างเพียงพอ
  • ปรึกษาเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวด และอาหารเสริม กรณีที่ได้รับสารอาหารจากรับประทานอาหารไม่เพียงพอ

ปวดเนื้อปวดตัวกับสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

หากมีอาการปวดเนื้อปวดตัวอย่างรุนแรง ปวดตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการปวดเป็น ๆ หาย ๆ หรืออาการปวดไม่ดีขึ้นหลังการดูแลตัวเองและการใช้ยา ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรับการรักษา

ส่วนผู้ที่มีอาการปวดเนื้อปวดตัวร่วมกับอาการอื่น เช่น ปวดข้อ ข้อต่อติดแข็ง ผื่นขึ้น ผิวบวมและเปลี่ยนสี มีไข้ที่ไม่ยอมลดลง อ่อนเพลียรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน การพูด การเคี้ยวอาหาร และการกลืนลำบาก หายใจติดขัด การมองเห็นเปลี่ยนไป เจ็บหน้าอก และชัก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที