ผื่นคันเป็นปัญหาผิวที่พบได้บ่อย ผิวหนังที่มีผื่นคันมักมีลักษณะเป็นตุ่มแดง แห้งลอก และทำให้รู้สึกคัน บางครั้งอาจมีลักษณะเป็นก้อนนูนหรือแผลพุพอง ซึ่งอาจมีขนาดต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทและสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นคัน โดยอาจเกิดจากโรคผิวหนังได้หลายโรค
ผื่นคันบางชนิดเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและหายไปได้เองหลังจากดูแลผิว เช่น ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์เพิ่มความชุ่มชื้น และทายาแก้คัน แต่ผื่นคันบางชนิดมีอาการเรื้อรังไม่หายขาด ซึ่งควรได้รับการตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสมกับแพทย์ผิวหนังต่อไป
ผื่นคัน 10 ประเภทที่พบได้บ่อย
1. ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้ผิวแห้ง เกิดตุ่มหรือผื่นคัน และเกิดการอักเสบของผิวหนัง เกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ซึ่งบางครั้งผิวบริเวณที่เป็นอาจเป็นแผ่นหนาแข็งและลอกเป็นสะเก็ด โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังพบบ่อยในเด็กเล็ก แต่ช่วงวัยอื่นก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้หรือสารก่ออาการระคายเคืองมากผิดปกติ และจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นหากมีโรคประจำตัว เช่น ไข้ละอองฟาง โรคภูมิแพ้ และโรคหืด หรือคนในครอบครัวมีประวัติของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการคันด้วยตนเองในเบื้องต้นได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่อุณหภูมิสูงเกินไป ใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ชนิดอ่อนโยนต่อผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง และทายาบรรเทาอาการคันที่หาซื้อได้เอง แต่หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจให้ยาทาและยาชนิดรับประทานอื่น ๆ เช่น ยาต้านฮิสตามีน ยาต้านการอักเสบ และยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน เพื่อบรรเทาอาการบวมคันและควบคุมการอักเสบของผื่นคัน
2. ผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis)
โรคผื่นระคายสัมผัสทำให้เกิดผื่นคัน ผิวแห้งลอก บางครั้งอาจเกิดตุ่มบนผิวหนัง ผิวบวมแดง และรู้สึกแสบร้อน โดยมักเกิดหลังจากผิวหนังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ดังนี้
- ผื่นระคายสัมผัสจากสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง (Irritant Contact Dermatitis) เช่น สบู่ แชมพู ผงซักฟอก สารฟอกผ้าขาว และสารเคมีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม
- ผื่นระคายสัมผัสจากสารก่อภูมิแพ้ (Allergic Contact Dermatitis) เช่น นิกเกิล ถุงมือยาง น้ำหอมหรือสารเคมีในเครื่องสำอาง พิษจากต้นพอยซันโอ๊ค (Poison Oak) และต้นพอยซันไอวี่ (Poison Ivy)
โดยทั่วไป ผื่นคันมักดีขึ้นได้เองหลังจากผิวหนังไม่ได้สัมผัสสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ นอกจากนี้ การทำความสะอาดผิวหนังด้วยสบู่อ่อน ๆ การประคบเย็น และการทายาแก้คันที่หาซื้อได้เองจะช่วยบรรเทาอาการคันได้ หากอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษา เช่น การรับประทานยาต้านฮิสตามีนกรณีที่ผื่นคันเกิดจากสารก่อภูมิแพ้
3. ลมพิษ
ลมพิษมีลักษณะเป็นผื่นนูนแดงและบวม มีทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่ให้เกิดอาการแพ้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ การถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่น อาหารและยาที่รับประทาน ไปจนถึงโรคประจำตัวบางอย่าง
การตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษและหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการเป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุด และแพทย์อาจให้รับประทานยาต้านฮิสตามีน เพื่อบรรเทาอาการคัน
4. สะเก็ดเงิน (Psoriasis)
สะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วผิดปกติ ทำให้เกิดผื่นหนาขนาดใหญ่สีแดง ตกสะเก็ดเป็นขุยสีขาว มักทำให้รู้สึกคัน ซึ่งพบได้ทั่วร่างกาย นอกจากนี้ สะเก็ดเงินอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
โรคสะเก็ดเงินมีหลายประเภทและไม่สามารถรักษาได้หายขาด การรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรง และปัจจัยสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน วิธีการรักษาสะเก็ดเงินอาจได้แก่การทายาช่วยบรรเทาอาการ การรับประทานหรือฉีดยาสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง และการส่องไฟ (Phototherapy) โดยใช้รังสียูวี (UV)
5. ผดร้อน
ผดร้อนมีลักษณะเป็นตุ่มผื่นคันสีแดงขนาดเล็ก มักพบบริเวณคอ รักแร้ ข้อพับแขนและขา และขาหนีบ พบได้ทุกวัย ซึ่งจะพบบ่อยในทารก เกิดจากการที่เหงื่อออกมากเมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อนและชื้น ทำให้ต่อมเหงื่อใต้ผิวหนังอุดตัน หรือเกิดจากการเสียดสีของผิวหนังและผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้า
ผื่นคันจากผดร้อนมักไม่รุนแรงและหายได้เองเมื่อหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนชื้น อยู่ในบริเวณที่ร่มและอากาศถ่ายเท หรือมีเครื่องปรับอากาศ การอาบน้ำเย็นและประคบเย็นบริเวณผิวหนังอาจช่วยบรรเทาอาการได้ และควรสวมเสื้อผ้าที่เนื้อผ้าโปร่ง ระบายอากาศและเหงื่อได้ดี และหลีกเลี่ยงการทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง
6. กลาก
กลากเกิดจากการติดเชื้อราที่อาศัยอยู่ที่เซลล์ผิวหนังชั้นนอก ทำให้เกิดผื่นคันลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรีสีแดง และมีขุยสีขาวอยู่รอบ ๆ ซึ่งสามารถติดต่อจากคนและสัตว์ที่มีเชื้อราด้วยการสัมผัส และการการจับสิ่งของที่มีเชื้อราเกาะอยู่ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หวี และที่นอน
หากมีอาการไม่รุนแรง อาการอาจดีขึ้นหากทำความสะอาดและเช็ดผิวให้แห้งเป็นประจำ และใช้ยาต้านเชื้อราทาที่ผิวหนัง เช่น ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) และยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) แต่คนที่มีอาการรุนแรง ใช้ยาทาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือการติดเชื้อลุกลาม แพทย์อาจให้รับประทานยาต้านเชื้อราด้วย โดยรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์
7. ผื่นอักเสบที่เกิดขึ้นระหว่างรอยพับของผิวหนัง (Intertrigo)
ผื่นคันชนิดนี้เกิดจากการอักเสบเนื่องจากการเสียดสีบริเวณซอกพับของผิวหนัง เช่น รอยพับที่คอและหน้าท้อง รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ และง่ามนิ้ว ซึ่งเป็นจุดอับที่มีเหงื่อออกง่าย เมื่อมีความชื้นสะสมอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียและเชื้อราเจริญเติบโตได้ดี พบบ่อยในทารกที่สวมผ้าอ้อม คนที่มีน้ำหนักตัวมาก เป็นโรคเบาหวาน และภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
การรักษาผื่นอักเสบที่เกิดขึ้นระหว่างรอยพับของผิวหนังทำได้โดยการทำความสะอาดและดูแลผิวหนังบริเวณที่มีอาการให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ สวมเสื้อผ้าที่ทำจากใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้ายที่ระบายอากาศได้ดี ใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายที่อ่อนโยนต่อรักแร้ และใช้ยาทาและยาชนิดรับประทานเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาต้านเชื้อรา ยาปฏิชีวนะ ยาสเตียรอยด์
8. แผลพุพอง (Impetigo)
แผลพุพองมีลักษณะเป็นผื่นคัน แดง และอาจกลายเป็นตุ่มหนองที่แตกออก หรือเป็นแผลตกสะเก็ดได้ พบบริเวณจมูก ปาก มือ และเท้า เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แผลพุพองสามารถแพร่กระจ่ายสู่คนอื่นได้ง่ายจากการใช้สิ่งของร่วมกัน โดยมักพบในทารกและเด็กเล็ก
การรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและระดับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาที่ผิวหนัง และหากมีอาการรุนแรง อาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่ง นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดแผลด้วยสบู่อ่อน ๆ ไม่ควรเกาบริเวณที่มีผื่นคันเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย และแยกของใช้ส่วนตัวของผู้ที่เป็นแผลพุพอง เช่น ผ้าเช็ดตัว และอุปกรณ์ออกกำลังกาย จากคนอื่น ๆ
9. อีสุกอีใส
อีสุกอีใสเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) ซึ่งทำให้เกิดตุ่มแดงขนาดเล็กที่ผิวหนัง ทำให้รู้สึกคัน และในเวลาต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำที่แตกออกได้ นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว และมีไข้ร่วมด้วย อีสุกอีใสสามารถติดต่อกันผ่านทางลมหายใจ การไอ จาม การสัมผัสกับผู้ป่วยหรือใช้ของร่วมกัน แม้จะเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็มีโอกาสเกิดอาการได้เช่นกัน
การรักษาอีสุกอีใสจะเป็นไปตามอาการ เช่น เช็ดตัวและรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้และบรรเทาปวด ทายาแก้คัน เช่น คาลาไมน์ และงดการเกาบริเวณผื่นคัน หากสัมผัสกับผู้ที่เป็นโรคอีสุกอีใสแต่ยังไม่มีอาการ และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดาอาการรุนแรง เช่น หญิงตั้งครรภ์หรือมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แพทย์อาจฉีดอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ให้เพื่อป้องกันการเกิดอาการรุนแรง
10. ผื่นแพ้ยา
ผื่นแพ้ยาเป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากการแพ้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ และยาขับปัสสาวะ ซึ่งอาการผื่นแพ้ยาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- ผื่นแพ้ยาที่เกิดขึ้นทันทีภายในไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยาตัวใหม่ ซึ่งทำให้เกิดผื่นคัน บางครั้งอาจมีอาการหายใจลำบาก ริมฝีปากและลิ้นบวม ซึ่งเป็นอาการที่ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
- ผื่นแพ้ยาที่เกิดหลังจากรับประทานยาไปแล้วหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ทำให้เกิดผื่นคันที่อาจทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดง ผิวหนังบริเวณที่เป็นหนาตัวขึ้น และลอกเป็นแผ่น
ผื่นแพ้ยามักจะหายไปหลังจากหยุดรับประทานยา ซึ่งอาจใช้เวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ผื่นแพ้ยาอาจทำให้บางคนเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งควรต้องได้รับการรักษาทันที เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ผื่นคันเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งทำให้เกิดอาการและความรุนแรงต่างกัน หากดูแลตัวเองและทายาแก้คันที่หาซื้อได้เองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ผื่นลุกลามไปยังส่วนอื่นของร่างกายอย่างรวดเร็ว หรือมีอาการหายใจลำบาก มีไข้ และผื่นมีลักษณะบวมแดง จับแล้วรู้สึกอุ่น หรือมีหนองไหล ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม