ผ่าตัดหมอนรองกระดูก (Discectomy) เป็นวิธีที่แพทย์ใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น (Herniated Disc) หรือภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท โดยจะผ่าเอาหมอนรองกระดูกส่วนที่เคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทออก
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดหมอนรองกระดูกจะเหมาะกับผู้ป่วยกระดูกทับเส้นที่มีสาเหตุจากหมองรองกระดูกบางคนเท่านั้น เนื่องจากอาการของผู้ป่วยแต่ละคนจะต่างกันไป บางคนอาจดีขึ้นจากการรักษาด้วยยาและกายภาพบำบัด แต่บางคนอาจต้องผ่าตัดหมอนรองกระดูก ซึ่งแพทย์ต้องพิจารณาเป็นรายคน
ทำไมต้องผ่าตัดหมอนรองกระดูก
หมอนรองกระดูกเป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ แบ่งออกได้เป็น 2 ชั้น คือ หมอนรองกระดูกส่วนนอก (Annulus) มีลักษณะคล้ายยางและเหนียว และหมอนรองกระดูกส่วนใน (Nucleus) มีลักษณะคล้ายของเหลวและนิ่ม
หมอนรองกระดูกมีหน้าที่ป้องกันการกระแทก และช่วยให้กระดูกสันหลังแต่ละข้อเคลื่อนไหวได้โดยไม่เกิดการเสียดสีกัน แต่ปัจจัยบางอย่างอาจส่งผลให้หมอนรองกระดูกส่วนนอกเกิดความเสียหาย เช่น อายุที่มากขึ้น การได้รับบาดเจ็บจากการยกของหนักหรืออุบัติเหตุ ทำให้หมอนรองกระดูกส่วนในเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียง
โดยกลไกดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดบริเวณหลังหรือคอ ร่วมกับมีอาการชา หรืออ่อนแรงบริเวณขา หรือแขน ขึ้นอยู่กับบริเวณของเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ซึ่งการรักษาภาวะกระดูกทับเส้นจะมีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การให้ยา การกายภาพบำบัด และการผ่าตัดหมอนรองกระดูก
ส่วนมากแพทย์มักพิจารณาใช้วิธีการรักษาแรกด้วยการใช้ยา เช่น ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) หรือการฉีดยาสเตียรอยด์ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดก่อน
ส่วนการผ่าตัดหมอนรองกระดูกจะเป็นวิธีที่แพทย์จะเลือกใช้ในบางกรณีเท่านั้น เช่น ผู้ป่วยใช้ยาหรือทำกายภาพบำบัดแล้วไม่ได้ผล อาการผู้ป่วยมีความรุนแรง ผู้ป่วยที่ยืนหรือเดินลำบาก ผู้ป่วยที่ปัญหาในการควบคุมการขับถ่าย เป็นต้น
ขั้นตอนการผ่าตัดหมอนรองกระดูก
ก่อนผ่าตัดหมอนรองกระดูก แพทย์จะสอบถามประวัติทางด้านสุขภาพของผู้ป่วย ทั้งโรคประจำตัว ยาที่กำลังใช้ และการรับประทานอาหารเสริมต่าง ๆ รวมถึงแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยงดรับประทานยาละลายลิ่มเลือดก่อนวันผ่าตัด งดรับประทานอาหาร และงดดื่มเครื่องดื่มหลังเที่ยงคืนในวันที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด
จุดประสงค์ของการผ่าตัดคือการนำหมอนรองกระดูกส่วนที่ยื่นผิดตำแหน่งออกไป เพื่อลดแรงกดทับบริเวณเส้นประสาท ซึ่งการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ เช่น
- การผ่าตัดแบบเปิด เป็นการผ่าเปิดแผลจากข้างหลังของผู้ป่วยบริเวณที่หมอนรองกระดูกเคลื่อน โดยแพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกก่อนผ่าตัด จากนั้นจะขยับกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียงออกเพื่อช่วยให้แพทย์เห็นเส้นประสาทที่ถูกกดทับ และผ่าตัดนำหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนผิดตำแหน่งออกไป
- การผ่าตัดแบบส่องกล้อง เป็นวิธีที่แพทย์จะผ่าเปิดแผลเล็กกว่า และไม่จำเป็นต้องผ่าตัดกล้ามเนื้อบริเวณกระดูกสันหลังมากเท่าการผ่าตัดเปิด โดยแพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกก่อนผ่าเปิดแผลบริเวณที่หมอนรองกระดูกเคลื่อน จากนั้นจะสอดอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อขยายแผลเล็กน้อย และสอดกล้องกับอุปกรณ์ผ่าตัด เพื่อนำส่วนของหมอนรองกระดูกที่ทับเส้นประสาทออกมา
ในบางกรณี แพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดนำหมอนรองกระดูกชิ้นที่เคลื่อนออกจากตำแหน่งออกไปทั้งหมด และนำกระดูกส่วนอื่นของผู้ป่วยหรือกระดูกเทียมมาสอดแทนหมอนรองกระดูกที่นำออกไป
หลังจากแพทย์ผ่าตัดหมอนรองกระดูกเสร็จสิ้น ผู้ป่วยยังต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการและผลของการผ่าตัด โดยระยะเวลาในการพักฟื้นจะขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
ภายหลังผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้าน แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการยกของหนัก และการทำกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อหมอนรองกระดูกประมาณ 2–8 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับกิจกรรมหรือลักษณะงาน รวมถึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของแผลช้าลงได้
ผ่าตัดหมอนรองกระดูกเสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง
ส่วนมากแล้วมักไม่เกิดผลข้างเคียงใด ๆ หลังจากผู้ป่วยผ่าตัดหมอนรองกระดูก แต่บางรายก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการรักษาได้ เช่น
- อาการปวดเรื้อรัง
- มีเลือดออก
- ร่างกายติดเชื้อ
- กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่
- น้ำไขสันหลังรั่ว ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะตามมา
- รากประสาทเกิดความเสียหายจนอาจเกิดอัมพาต (Paralysis)
- หลอดเลือด เส้นประสาท หรือกระดูกสันหลังเกิดความเสียหาย
- ผลข้างเคียงจากยาระงับความรู้สึก เช่น อาการแพ้ยา หายใจลำบาก มีเลือดออก เกิดลิ่มเลือด หรือติดเชื้อ เป็นต้น
- เสียชีวิตจากการมีเลือดอุดตันในหลอดเลือดที่ลำเลียงเลือดสู่ปอด หรือเสียเลือดในปริมาณมาก
อย่างไรก็ดี โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดหมอนรองกระดูกมีน้อยมาก แพทย์ผู้ผ่าตัดและวิสัญญีแพทย์จะร่วมกันดูแลผู้ป่วย ผ่าตัดด้วยความระมัดระวัง และพยายามป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ การผ่าตัดหมอนรองกระดูกเป็นการรักษาที่ปลายเหตุเท่านั้น และผู้ป่วยอาจมีโอกาสกลับมาเกิดภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนซ้ำได้ แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างหลังการรักษา เช่น ควบคุมน้ำหนัก ปรับเปลี่ยนท่านั่งและการยกของหนักให้ถูกวิธี และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เป็นต้น