ฝ้าขณะตั้งครรภ์ และการดูแลผิวที่คุณแม่ท้องควรรู้

ฝ้าขณะตั้งครรภ์ (Melasma in Pregnancy/Chloasma) คือรอยด่างสีน้ำตาลเข้มที่ผิวหนังที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ มักเกิดขึ้นบริเวณหน้าผาก จมูก และแก้ม การเกิดฝ้าขณะตั้งครรภ์ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพครรภ์หรือเป็นอันตรายใด ๆ แต่อาจทำให้ผู้ตั้งครรภ์เกิดความไม่มั่นใจ และสีผิวดูไม่สวยงาม

การตั้งครรภ์ทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง อย่างการเกิดฝ้า ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ฝ้าขณะตั้งครรภ์จะหายไปได้เองหลังคลอด ทั้งนี้ คุณแม่สามารถดูแลผิวเพื่อช่วยลดเลือนและป้องกันการเกิดฝ้าเพิ่มขึ้นได้

ฝ้าขณะตั้งครรภ์

ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้าขณะตั้งครรภ์

การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ เช่น เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝ้าในขณะตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเหล่านี้จะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเมลานิน (Melanin) มากขึ้น ซึ่งเป็นสารที่ให้เม็ดสีแก่ผม ดวงตา และผิวหนัง จึงทำให้ผิวหนังบางส่วนมีสีเข้มขึ้น

ฝ้าขณะตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้ตลอดระยะเวลาที่คุณแม่ตั้งครรภ์ แต่ส่วนมากมักเกิดในช่วงไตรมาสที่ 2–3 ของการตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายจะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้นหลังจากตั้งครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ และระดับฮอร์โมนจะเพิ่มสูงสุดเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 32 สัปดาห์

 นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดฝ้าขณะตั้งครรภ์ เช่น

  • การสัมผัสรังสียูวี (UV) จากแสงแดดจัด
  • การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือยารักษาโรคบางอย่าง
  • คนในครอบครัวเป็นฝ้ามาก่อน
  • ผู้หญิงที่มีผิวเข้ม มีความเสี่ยงต่อการเกิดฝ้าได้ง่ายกว่าผู้ที่มีผิวขาว
  • ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 20–40 ปี

ลักษณะของฝ้าขณะตั้งครรภ์

ฝ้าขณะตั้งครรภ์มักมีลักษณะเป็นจุดหรือแถบสีน้ำตาล หรือน้ำตาลอมเทาบนผิวหนัง มักพบที่แก้มทั้งสองข้าง หน้าผาก คาง สันจมูก กราม และบริเวณเหนือริมฝีปากบน โดยจะค่อย ๆ ขึ้นที่ผิวหน้าอย่างช้า ๆ หากสัมผัสแสงแดดจัดบ่อยจะยิ่งเกิดฝ้าเป็นบริเวณกว้างมากขึ้น 

ฝ้าขณะตั้งครรภ์มักไม่ทำให้เกิดอาการคัน บวม หรือเจ็บที่ผิวหนัง อีกทั้งไม่พัฒนาไปเป็นมะเร็งผิวหนัง และไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ เพียงแต่จะส่งผลต่อความสวยงามบนใบหน้าเท่านั้น

นอกจากฝ้าขณะตั้งครรภ์ ผู้ตั้งครรภ์บางคนอาจมีผิวแตกลายที่หน้าท้อง หัวนมมีสีคล้ำกว่าปกติ และผิวหนังบริเวณอื่นอาจเข้มขึ้นด้วยเช่นกัน

แนวทางดูแลและป้องกันผิวจากฝ้าขณะตั้งครรภ์

โดยส่วนใหญ่แล้ว ฝ้าขณะตั้งครรภ์จะหายไปได้เองหลังจากการคลอดบุตรประมาณ 2–3 เดือน อย่างไรก็ดี มีข้อแนะนำในการดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดฝ้าขณะตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น ดังนี้

ป้องกันผิวจากแสงแดด

ผู้ที่ตั้งครรภ์สามารถปกป้องผิวจากแสงแดด และลดความเสี่ยงของการเกิดฝ้าขณะตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นได้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแสงแดดจัด โดยเฉพาะช่วงเวลาระหว่าง 10.00–16.00 น.
  • กางร่ม สวมหมวก และเสื้อผ้าที่ช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวี ในวันที่อากาศร้อนควรสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ ที่มีเนื้อผ้าเบาสบาย
  • ทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง โดยเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป ซึ่งมีส่วนผสมของสารไททาเนียม ไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) และซิงค์ ออกไซด์ (Zinc Oxide) โดยทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง

ทาครีมบำรุงผิว

ทาครีมบำรุงผิวที่อ่อนโยนโดยสังเกตคำว่า “เหมาะสำหรับผิวแพ้ง่าย และเสี่ยงต่อการระคายเคืองต่ำ (Noncomedogenic) ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม” หรือเลือกใช้ครีมที่ปลอดภัยต่อผู้ที่ตั้งครรภ์ 

หากต้องการให้ฝ้าจางลง อาจใช้ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของวิตามินซีหรือกรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) ซึ่งจะช่วยลดเลือนฝ้าและทำให้สีผิวสม่ำเสมอขึ้น

ขณะตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมของเรตินอยด์ และไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) รวมถึงงดการผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peels) เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ 

ดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง อาหารที่มีโอเมก้า 3 ธาตุเหล็ก และวิตามินบี 12 รวมทั้งดื่มน้ำ และพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้มีสุขภาพที่ดี และป้องกันการแปรปรวนของฮอร์โมนในร่างกาย

ใช้คอนซีลเลอร์

หากไม่มั่นใจในสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอจากฝ้าขณะตั้งครรภ์ อาจแต่งหน้าและใช้คอนซีลเลอร์ (Concealer) ที่ช่วยปิดรอยคล้ำจากฝ้า และช่วยให้สีผิวดูเรียบเนียนและสม่ำเสมอขึ้น

หากฝ้าขณะตั้งครรภ์ไม่ดีขึ้นหลังคลอด สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของเตรทติโนอิน (Hydroquinone) ไฮโดรควิโนน และคอร์ติโคสเตียรอยด์ การเลเซอร์ การขัดผิวด้วยผงผลึกแร่ (Microdermabrasion) เป็นต้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลารักษาระยะหนึ่งกว่าที่ฝ้าจะจางลง

หากเกิดความผิดปกติที่ผิวหนังขณะตั้งครรภ์ เช่น สีผิวเปลี่ยนไป มีตุ่มหรือก้อนคล้ายไฝขึ้น ไฝมีขนาดและสีที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีอาการเจ็บปวด ผิวบวมแดง มีเลือดออก ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาต่อไป