พิการ ประเภทและแนวทางดูแลผู้พิการอย่างเหมาะสม

พิการ หมายถึงบุคคลที่มีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือมีข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรืออุปสรรคด้านต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือดูแล เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างคนทั่วไป

ความพิการเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจจากเกิดจากความผิดปกติของยีนหรือโครโมโซม การได้รับสารพิษจากบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดตั้งแต่ในครรภ์มารดา ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือมีความพิการจากสาเหตุที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น อุบัติเหตุ โรคเรื้อรัง และโรคจิตเวชที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจ

Disabilities

แม้จะเป็นผู้พิการประเภทเดียวกัน แต่อาการและความรุนแรงของผู้พิการแต่ละคนจะแตกต่างกัน บางคนอาจมีอาการไม่รุนแรงมากและสามารถช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้นได้ แต่ผู้พิการหลายคนต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษจากครอบครัว แพทย์ และหน่วยงานต่าง ๆ ในสังคมอย่างเหมาะสม

ความพิการ 7 ประเภท

พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งมีฉบับแก้ไขล่าสุดในปี พ.ศ. 2565 กำหนดประเภทของความพิการไว้ 7 ประเภท ดังนี้

1️. ความพิการทางการเห็น

ผู้พิการทางการเห็นคือผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้แว่นตา คอนแทคเลนส์ หรือการผ่าตัด โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

ตาเลือนราง
ผู้พิการประเภทตาเลือนราง หมายถึงคนที่ตรวจวัดการเห็นของสายตาข้างที่ดีกว่าขณะสวมแว่นสายตาธรรมดาแล้ว อยู่ในระดับตั้งแต่ 3/60 เมตร (หรือ 20/400 ฟุต) ไปจนถึงไปจนถึงแย่กว่า 6/18 เมตร (หรือ 20/70 ฟุต) หรือมีลานสายตาแคบกว่า 30 องศา

ตาบอด
ผู้พิการประเภทตาบอด หมายถึงคนที่ตรวจวัดการเห็นของสายตาข้างที่ดีกว่าขณะสวมแว่นสายตาธรรมดาแล้ว อยู่ในระดับแย่กว่า 3/60 เมตร (หรือ 20/400 ฟุต) ลงมาจนถึงระดับที่มองไม่เห็นแม้แต่แสงสว่าง หรือมีลานสายตาแคบกว่า 10 องศา

2️. ความพิการทางการได้ยิน และการสื่อความหมาย

ความพิการทางการได้ยินและการสื่อความหมาย มีดังนี้

ความพิการทางการได้ยิน
ความพิการทางการได้ยิน คือภาวะบกพร่องทางการได้ยินที่วัดจากการใช้เครื่องมือตรวจการได้ยินในสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานพยาบาลเอกชนที่รัฐกำหนด โดยใช้เสียงความถี่ที่ 500 เฮิรตซ์ 1,000 เฮิรตซ์ 2,000 เฮิรตซ์ และ 4,000 เฮิรตซ์ ในหูข้างที่ได้ยินดีกว่าแล้วมีผลต่ำกว่าเกณฑ์ ได้แก่

  • หูตึง คือผู้ที่สูญเสียการได้ยินเฉลี่ยที่ความดังของเสียงน้อยกว่า 80 เดซิเบลลงมาจนถึง 40 เดซิเบลในผู้ใหญ่ หรือน้อยกว่า 80 เดซิเบล ลงมาจนถึง 35 เดซิเบลในเด็กที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี
  • หูหนวก คือผู้ที่สูญเสียการได้ยินเฉลี่ยที่ความดังของเสียงตั้งแต่ 80 เดซิเบลขึ้นไป 

ความพิการทางการสื่อความหมาย
ผู้พิการทางการสื่อความหมาย หมายถึงภาวะบกพร่องทางการสื่อความหมาย ได้แก่ พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด พูดไม่คล่อง พูดไม่รู้เรื่อง หรือฟังคำพูดผู้อื่นไม่เข้าใจ จากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

3️. ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย

ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

ความพิการทางการเคลื่อนไหว
ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว หมายถึงคนที่มีความบกพร่องหรือสูญเสียความสามารถของอวัยวะในการเคลื่อนไหว ได้แก่ มือ เท้า แขน ขา จากการเป็นอัมพาต อุบัติเหตุ หรือโรคที่ส่งผลกระทบต่อการทํางานของมือ เท้า แขน และขา เช่น ความพิการแต่กำเนิด โรคติดเชื้อที่สมองหรือไขสันหลัง ข้อเสื่อม 

ความพิการทางร่างกาย
ผู้พิการทางร่างกาย หมายถึงคนที่มีความบกพร่องหรือความผิดปกติของศีรษะ ใบหน้า ลําตัว และภาพลักษณ์ภายนอกของร่างกายที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น คนแคระ หลังคดหรือผิดรูปอยางรุนแรงที่เห็นเด่นชัดและไม่สามารถรักษาได้ ปากแหว่งเพดานโหว่ หรืออวัยวะบนใบหน้าเสียหายจากอุบัติเหตุ จนส่งผลต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าสังคม

4️. ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม

ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หมายถึงคนที่มีความบกพร่องหรือความผิดปกติทางจิตใจ หรือสมองในส่วนของการรับรู้ อารมณ์ หรือความคิดอย่างรุนแรง เรื้อรัง ทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำกิจกรรมทางสังคม โดยวินิจฉัยตามหลักเกณฑ์การวินิจฉัยในระบบ ICD-10 และรักษาไม่หายหลังจากได้รับการบำบัดฟื้นฟูเป็นเวลาติดต่อกัน 6 เดือน 

5. ความพิการทางออทิสติก

ผู้ป่วยออทิสติกจะมีอาการแตกต่างกัน บางคนสามารถใช้ชีวิตประจำวัน เรียนหนังสือ ทำงาน และเข้าสังคมกับคนทั่วไปได้ หากได้รับการดูแลและรักษาอย่างเหมาะสมแต่เนิ่น ๆ หรือบางคนอาจมีความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน เช่น ความจำเป็นเลิศ เล่นดนตรี วาดภาพ หรือคำนวณเก่ง ซึ่งเรียกว่า ซาวองต์ซินโดรม (Savant Syndrome) 

ทั้งนี้ ผู้พิการกลุ่มออทิสติกตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หมายถึงผู้ที่บกพร่องอย่างชัดเจนในการสื่อสาร อารมณ์ การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม มีแบบแผนพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมที่จํากัดซํ้า ๆ โดยมีสาเหตุจากความผิดปกติของสมอง และแสดงความผิดปกตินั้นก่อนอายุ 2 ปีครึ่ง

โดยวินิจฉัยตามเกณฑ์ของคู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชสหรัฐอเมริกา (DSM) หรือระบบวินิจฉัยโดยองค์การอนามัยโลก (ICD) โดยจะวินิจฉัยครอบคลุมกลุ่มออทิสติกสเปกตรัมอื่น ๆ ด้วย เช่น กลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome)

6. ความพิการทางสติปัญญา

คนพิการทางสติปัญญา หมายถึงคนที่มีพัฒนาการช้ากว่าปกติ หรือมีระดับเชาวน์ปัญญา (IQ) ตํ่ากว่าบุคคลทั่วไป ผู้พิการประเภทนี้จะมีความบกพร่องในการใช้เหตุผล การแก้ปัญหา การวางแผน ทักษะภาษา การคำนวณ การดูแลตัวเอง การสื่อสารและการเข้าสังคม

7. ความพิการทางการเรียนรู้

ผู้พิการด้านการเรียนรู้ (SLD) คือคนที่มีความบกพร่องในด้านการอ่าน การเขียน การคิดคํานวณ หรือกระบวนการเรียนรู้พื้นฐานอื่นในระดับความสามารถที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานตามช่วงอายุและระดับสติปัญญา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเรียน การทํางาน และการใช้ชีวิตประจําวันไปตลอดชีวิต

การดูแลคนพิการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

ผู้พิการเป็นผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ซึ่งทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำกิจกรรมในสังคมร่วมกับคนอื่น หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม คนพิการอาจไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีเท่าที่ควร ไม่มีอาชีพการงาน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โรคแทรกซ้อน ปัญหาด้านสุขภาพจิต และพึ่งพาสารเสพติดตามมา

ครอบครัวหรือผู้ดูแลคนพิการ ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษในการดูแลคนพิการอย่างเหมาะสม โดยปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจอาการ รับการรักษากับแพทย์เฉพาะทาง เช่น จิตแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักบำบัดการพูด นักกิจกรรมบำบัด และรับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันของคนพิการ เช่น

  • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ผู้พิการได้รับสารอาหารที่จำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม และดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • ดูแลการนอนหลับพักผ่อน และทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด
  • ให้การช่วยเหลือเป็นพิเศษในการดูแลสุขอนามัยด้านร่างกาย การขับถ่าย การแต่งตัว การเคลื่อนไหว การให้ยา การดูแลแผลกดทับ และพาไปพบแพทย์ตามนัดหมาย
  • จัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยสำหรับคนพิการ เช่น ไม้เท้า รถเข็น ที่นั่งขับถ่าย
  • จัดหาโรงเรียนหรือการเรียนการสอนพิเศษ สำหรับเด็กที่บกพร่องในการเรียนรู้และสติปัญญา เช่น การอ่าน การพูด การเขียน การคำนวณที่เหมาะสมตามช่วงวัย

การดูแลคนพิการอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ผู้พิการมีสุขภาพที่แข็งแรง ช่วยเหลือตัวเองได้ดีขึ้น และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดูแลผู้พิการและสิทธิตามกฎหมายของผู้พิการ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (https://dep.go.th/th/) หรือติดต่อสายด่วนคนพิการ 1479 และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด โทร 1300