รักแร้เป็นตุ่ม คือการเกิดตุ่มที่มีลักษณะต่าง ๆ ที่ผิวบริเวณรักแร้ โดยตุ่มอาจมีขนาดเล็กคล้ายผื่น บางครั้งอาจเป็นตุ่มนูนสีเดียวกับสีผิว หรือเป็นตุ่มนูนแดงที่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว คัน เจ็บปวด หรือแสบร้อนที่รักแร้ด้วย ลักษณะและความรุนแรงของอาการรักแร้เป็นตุ่มจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ
ผิวหนังบริเวณรักแร้เป็นผิวที่อาจเกิดตุ่มและการระคายเคืองได้ง่าย เพราะเป็นผิวที่บอบบางและมีรอยพับ รักแร้เป็นตุ่มจึงเป็นปัญหาผิวที่พบได้บ่อย บางสาเหตุอาจทำให้เกิดอาการในช่วงสั้น ๆ และหายไปได้เองหลังจากดูแลผิวใต้วงแขนอย่างเหมาะสม แต่บางสาเหตุอาจต้องรับการรักษาโดยแพทย์ควบคู่กับการดูแลผิวในระยะยาว
สาเหตุของรักแร้เป็นตุ่ม
รักแร้เป็นตุ่มอาจเกิดจากการระคายเคือง การอักเสบ อาการแพ้ และการติดเชื้อจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น
1. การอักเสบของต่อมเหงื่อ (Hidradenitis Suppurativa)
การอักเสบของต่อมเหงื่อ เป็นภาวะที่รูขุมขนใกล้ต่อมเหงื่อเกิดการอุดตัน พบบ่อยที่รักแร้ ทำให้รักแร้เป็นตุ่มนูนแดง แดงอมม่วง หรือสีน้ำตาลแดง มีหนองอยู่ภายใน และทำให้รู้สึกเจ็บปวด
หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้รักแร้เป็นตุ่มเกิดเป็นช่องคล้ายโพรงที่ใต้ผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลเป็นเมื่อมีหนองไหล และเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมา
2. ผดร้อน (Heat Rash)
ผดร้อน เป็นสาเหตุที่ทำให้รักแร้เป็นตุ่มแดงขนาดเล็ก มีอาการคัน เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อใต้ผิวหนังบริเวณรักแร้จากเหงื่อ เซลล์ผิวที่ตายแล้ว เชื้อแบคทีเรีย น้ำมันส่วนเกิน และสิ่งสกปรกอื่น ๆ พบบ่อยเมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อน และตุ่มผดร้อนมักหายไปเองเมื่ออากาศเย็นลง
3. ผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis)
สาเหตุของรักแร้เป็นตุ่มที่พบได้บ่อยคือโรคผื่นระคายสัมผัส โดยอาจทำให้รักแร้เป็นตุ่มแดง คัน แสบร้อน ผิวแห้งลอก ผิวหนาตัวขึ้นเป็นปื้น หรือเกิดตุ่มพุพองหลังจากสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง เช่น น้ำหอม สารผลัดเซลล์ผิว และสารกันเสียที่เป็นส่วนประกอบในสบู่ โลชั่น และผลิตภัณฑ์สำหรับใต้วงแขน
4. รูขุมขนอักเสบ (Folliculitis)
รูขุมขนอักเสบอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราภายในรูขุมขน พบบ่อยในผู้ที่โกนขนรักแร้ใกล้ผิวหนังมากเกินไป ทำให้เกิดขนคุด และเกิดแผลที่ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ผิวหนังได้ รูขุมขนอักเสบจะทำให้รักแร้เป็นตุ่มแดงขนาดเล็ก ซึ่งอาจมีเส้นขนขึ้นตรงกลางตุ่ม หรือเป็นตุ่มคล้ายสิวหัวสีขาวและอาจมีหนองอยู่ภายใน ทำให้คัน เจ็บ หรือแสบบริเวณที่เป็น
5. การติดเชื้อรา
รักแร้แร้เป็นตุ่มอาจเกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มแคนดิดา (Candida) หรือเชื้อรากลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) ที่ทำให้เกิดโรคกลาก เนื่องจากรักแร้เป็นบริเวณที่มีรอยพับและอับชื้นง่ายเนื่อ จึงเป็นสภาวะที่เอื้อต่อการเติบโตของเชื้อราได้ดี
การติดเชื้อราแคนดิดามักทำให้เกิดผื่นแดงคล้ายตุ่มสิว และมีอาการคัน ส่วนอาการของโรคกลากจะผื่นแดงคัน ลักษณะเป็นวงและมีขอบเป็นขุยหรือเป็นสะเก็ดสีขาว
6. ฝีที่รักแร้
ฝีที่รักแร้ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ในรูขุมขน ทำให้รักแร้เป็นตุ่มแดง มีหนอง ทำให้รู้สึกเจ็บปวดหรือคัน และบางคนอาจมีไข้ร่วมด้วย
ฝีที่รักแร้อาจเกิดจากการมีเหงื่อออกใต้วงแขนมาก การโกนขนรักแร้ที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่รูขุมขน การไม่รักษาความสะอาดของรักแร้ และคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ผิวหนังอักเสบ (Eczema) และโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน
นอกจากสาเหตุเหล่านี้ รักแร้เป็นตุ่มขนาดใหญ่หรือมีก้อนใต้รักแร้ อาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต เนื้องอกไขมัน (Lipoma) และมะเร็งเต้านม
ดูแลอาการรักแร้เป็นตุ่มด้วยตัวเอง
หากรักแร้เป็นตุ่ม ควรดูแลตัวเองในเบื้องต้นเพื่อช่วยให้ตุ่มยุบลง รวมถึงบรรเทาอาการเจ็บปวดและคันใต้รักแร้ ดังนี้
- อาบน้ำวันละ 2 ครั้ง และทำความสะอาดผิวบริเวณรักแร้ให้สะอาด โดยเฉพาะหลังจากทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก โดยใช้สบู่ที่อ่อนโยนหรือสบู่ที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
- สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ ที่ระบายเหงื่อได้ดี หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าหนาหรือเนื้อผ้าที่ไม่ระบายอากาศ
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารก่อการระคายเคือง ใช้สบู่และที่ทารักแร้ที่ไม่มีน้ำหอม อ่อนโยนเหมาะสำหรับผิวแพ้ง่าย
- งดการโกนขนรักแร้จนกว่ารักแร้เป็นตุ่มจะอาการดีขึ้น ควรระวังไม่ให้มีดบาดขณะโกนขนรักแร้ และเปลี่ยนมีดโกนบ่อย ๆ หากเป็นไปได้ควรกำจัดขนรักแร้ด้วยวิธีอื่นแทน
- หลีกเลี่ยงการแกะ เกา บีบ หรือเจาะหนองเมื่อรักแร้เป็นตุ่ม เพราะจะยิ่งทำให้เกิดการอักเสบและเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น
- ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณรักแร้ จะช่วยบรรเทาอาการปวดและอักเสบได้
- ใช้ยาที่หาซื้อได้เองเพื่อช่วยบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาต้านเชื้อราที่ผิวหนัง และยาแก้แพ้ กรณีที่เป็นโรคผื่นระคายสัมผัสจากภูมิแพ้
หากรักแร้เป็นตุ่มไม่ดีขึ้นหลังจากการดูแลตัวเอง หรือพบอาการผิดปกติ เช่น ตุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นก้อนแข็ง รู้สึกเจ็บปวดมาก มีหนองหรือเลือดไหลจากตุ่มที่รักแร้ มีไข้ และหัวใจเต้นเร็ว ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาต่อไป