รู้จักยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ทางเลือกในการรักษามะเร็ง

ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) คือวิธีรักษามะเร็งรูปแบบหนึ่ง โดยใช้ยาที่สามารถทำลายหรือยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยตรง ซึ่งส่งผลต่อเซลล์ปกติอื่น ๆ ในร่างกายได้น้อย และลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงหลังการรักษาเมื่อเทียบกับการรักษามะเร็งด้วยวิธีอื่น เช่น เคมีบำบัด (Chemotherapy)

ยามุ่งเป้ามีหลายประเภท และมีข้อจำกัดในการรักษาที่แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีนในชิ้นเนื้อมะเร็งก่อนการใช้ยากลุ่มนี้ในการรักษา และอาจต้องใช้ยามุ่งเป้าร่วมกับยากลุ่มอื่นหรือวิธีรักษามะเร็งอื่น เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ยามุ่งเป้า

กลไกการออกฤทธิ์ของยามุ่งเป้า

เซลล์มะเร็งบางชนิดจะทำให้เกิดความผิดปกติและการกลายพันธุ์ของยีน ทำให้โปรตีนในเซลล์มะเร็งเปลี่ยนแปลงไป และทำให้เซลล์มะเร็งเพิ่มจำนวนขึ้น ดังนั้น การใช้ยามุ่งเป้าจะออกฤทธิ์เฉพาะต่อเซลล์มะเร็งชนิดที่เกิดความผิดปกติของยีน ดังนี้

  • ขัดขวางหรือปิดกั้นการส่งสัญญาณทางเคมีที่ทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มขึ้น
  • ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น
  • ยับยั้งฮอร์โมนและการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Angiogenesis) ที่จะไปหล่อเลี้ยงเซลล์มะเร็งให้เติบโต
  • เป็นตัวนำพาสารที่ช่วยทำลายเซลล์มะเร็ง โดยไม่ส่งผลกับเซลล์ปกติอื่น ๆ ในร่างกาย
  • ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโปรตีนในเซลล์มะเร็ง และช่วยให้เซลล์มะเร็งตาย 

ปัจจุบัน มีการนำยามุ่งเป้ามาใช้รักษาโรคมะเร็งหลายประเภท เช่น มะเร็งปอด มะเร็งสมอง มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งปากมดลูกและเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

ประเภทและตัวอย่างของยามุ่งเป้า

ยามุ่งเป้าแต่ละชนิดถูกออกแบบมาเฉพาะเพื่อรักษามะเร็งแบบเจาะจง แบ่งเป็น 2 ชนิดหลัก คือ

1. ยามุ่งเป้าชนิดโมเลกุลขนาดเล็ก

ยามุ่งเป้าชนิดโมเลกุลขนาดเล็กสามารถเข้าสู่เซลล์ได้ง่าย สามารถจับกับโปรตีนหรือสารที่เป็นเป้าหมายได้ทั้งที่ผิวเซลล์และภายในเซลล์มะเร็ง เพื่อยับยั้งและทำลายเซลล์มะเร็ง โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของยารับประทาน

2. ยามุ่งเป้าชนิดโมเลกุลขนาดใหญ่ 

โมโนโคลนอลแอนติบอดี้ (Monoclonal Antibodies) เป็นยาที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะสามารถเข้าเซลล์ได้ ยานี้จะยับยั้งโปรตีนหรือสารที่เป็นเป้าหมายบนผิวเซลล์มะเร็ง และทำลายเซลล์มะเร็งไม่ให้เติบโตต่อไป มักเป็นยาฉีดให้กับผู้ป่วย

ตัวอย่างของยามุ่งเป้าที่นิยมใช้ มีหลายกลุ่มตามกลไกการออกฤทธิ์ เช่น 

  • ยายับยั้งกระบวนการสร้างหลอดเลือด (Angiogenesis Inhibitors) เช่น ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab)
  • ยายับยั้งการทำงานของโปรติเอโซม (Proteasome Inhibitor) เช่น ยาบอร์ทีโซมิบ (bortezomib)
  • ยาระงับการส่งสัญญาณของเซลล์ (Signal Transduction Inhibitors) เช่น ยาอิมาทินิบ (Imatinib) ยาซูนิทินิบ (Sunitinib) ยาเออร์โลทินิบ (Erlotinib)
  • ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ เช่น ยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) ยาริทูซิแมบ (Rituximab) ยาซิทูซิแม็บ (Cetuximab) ยาเวโดลิซูแมบ (Vedolizumab)

ขั้นตอนการให้ยามุ่งเป้า

ยามุ่งเป้าจะใช้ได้เฉพาะมะเร็งบางชนิด ซึ่งต้องตรวจพบยีนกลายพันธุ์ในผู้ป่วยที่เข้ากันได้กับยามุ่งเป้านั้น แพทย์จึงต้องตรวจคัดกรองมะเร็ง ที่เรียกว่าการตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarker) โดยเก็บตัวอย่างเลือดหรือตัดชิ้นเนื้อเซลล์มะเร็งจากร่างกายผู้ป่วย เพื่อส่งตรวจหาความผิดปกติของสารพันธุกรรม

เมื่อผลการตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีนที่เข้ากันได้ แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยามุ่งเป้าให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายต่อไป โดยอาจให้ยารับประทานหรือยาฉีด ซึ่งระยะเวลาการใช้ยาจะแตกต่างกัน เช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ เดือนละ 1–3 ครั้ง หรือใช้ยาระยะหนึ่งแล้วหยุด จากนั้นจึงเริ่มใช้ใหม่ ขึ้นอยู่กับตัวยา อาการและความรุนแรงของผู้ป่วย

ผู้ป่วยมะเร็งบางคนอาจต้องใช้ยามุ่งเป้าร่วมกับการรักษามะเร็งด้วยวิธีอื่น เช่น เคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ในระหว่างใช้ยา แพทย์อาจนัดตรวจติดตามอาการเป็นระยะ โดยอาจให้ผู้ป่วยตรวจเลือด เอกซเรย์ ซีที สแกน (CT Scan) หรือการตรวจอื่น ๆ เพื่อดูการตอบสนองต่อตัวยาของผู้ป่วย

ข้อดีและข้อจำกัดของยามุ่งเป้า

ยามุ่งเป้าเป็นวิธีรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูง และมีข้อดีที่แตกต่างจากเคมีบำบัด คือยามุ่งเป้าทำงานโดยป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งเพิ่มจำนวนตัวเอง แต่การรักษาด้วยเคมีบำบัดจะฆ่าเซลล์มะเร็งที่มีอยู่แล้ว 

นอกจากนี้ ยามุ่งเป้ามักไม่ทำลายเซลล์ปกติอื่น ๆ นอกจากเซลล์มะเร็ง จึงทำให้เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าเคมีบำบัด ช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ดีขึ้น และยืดอายุของผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้   

อย่างไรก็ตาม การใช้ยามุ่งเป้าอาจมีข้อจำกัดคือ เซลล์มะเร็งไม่ตอบสนองหรือดื้อต่อยามุ่งเป้า โดยเซลล์มะเร็งอาจเพิ่มจำนวน ลุกลาม หรือกลายพันธุ์ ซึ่งอาจทำให้การรักษาด้วยยามุ่งเป้าไม่ประสบผลสำเร็จ

ผลข้างเคียงจากการใช้ยามุ่งเป้า

แม้การรักษามะเร็งด้วยยามุ่งเป้ามีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าเคมีบำบัด แต่การเกิดความผิดปกติหลังใช้ยาก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายของผู้ป่วย ความรุนแรงของมะเร็ง และชนิดของยามุ่งเป้าที่นำมาใช้ โดยผลข้างเคียงจากยามุ่งเป้า เช่น

  • ท้องเสีย
  • ตับผลิตเอนไซม์มากขึ้น ทำให้เกิดความเสียหายต่อตับ
  • ผิวแห้งแตก โดยเฉพาะบริเวณมือและเท้า เกิดตุ่มลักษณะคล้ายสิวขึ้นบริเวณหนังศีรษะ ใบหน้า ลำคอ หน้าอก และหลัง อาจทำให้คัน แสบร้อน เจ็บ และอาจนำไปสู่การติดเชื้อได้
  • ผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้น
  • ผมแห้ง สีผมจางลง ผมร่วง เจ็บหนังศีรษะ หากใช้ยาเป็นเวลานานอาจทำให้ศีรษะล้าน
  • เล็บมือและเล็บเท้าบวม ทำให้รู้สึกเจ็บ
  • เปลือกตาบวมแดง ผิดรูป 
  • แผลหายช้า ฟกช้ำและเลือดออกง่าย
  • ความดันโลหิตสูง
  • อัตราการเต้นของหัวใจเปลี่ยนไป กล้ามเนื้อหัวใจได้รับความเสียหาย

ยามุ่งเป้าถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยยามุ่งเป้าอาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ความสำเร็จและระยะเวลาในการรักษาจะขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยา ประเภทและความรุนแรงของมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย และใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด