อุบัติเหตุในบ้านเกิดขึ้นได้บ่อยและเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ซึ่งอุบัติเหตุที่พบบ่อย เช่น ถูกของมีคมบาด ไฟช็อต น้ำร้อนลวก และลื่มล้ม บางครั้งอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่อาการบาดเจ็บร้ายแรงและการเสียชีวิตได้
อุบัติเหตุในบ้านอาจเกิดจากความประมาท การไม่ระมัดระวัง การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการชำรุดเสียหายของอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน ซึ่งสามารถป้องกันได้ หากเกิดอุบัติเหตุควรรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น และศึกษาวิธีป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำ โดยในบทความนี้ได้รวบรวมวิธีรับมืออุบัติเหตุในบ้านที่เกิดขึ้นบ่อยและวิธีป้องกันเอาไว้แล้ว
วิธีปฐมพยาบาลเมื่ออุบัติเหตุในบ้าน
อุบัติเหตุในบ้านที่เกิดขึ้นได้บ่อยและวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีดังนี้
-
ของมีคมบาด
การถูกของมีคม เช่น กรรไกร มีด และเศษแก้วบาด เป็นอุบัติเหตุในบ้านที่พบได้บ่อย ซึ่งทำให้เกิดแผลเปิดและมีเลือดออก โดยส่วนมากมักไม่ใช่แผลใหญ่ ซึ่งสามารถปฐมพยาบาลห้ามเลือดตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ล้างมือให้สะอาด
- ใช้ผ้าพันแผลหรือผ้าสะอาดกดบาดแผลเพื่อห้ามเลือด หากเลือดออกมากให้ใช้ผ้าผืนใหม่กดแผลค้างไว้จนกว่าจะไม่มีเลือดซึมออกมา
- แผลที่แขนหรือขาให้ยกสูงจะช่วยให้เลือดไหลช้าลง
- ล้างสิ่งสกปรกออกจากแผลโดยเปิดน้ำให้น้ำไหลผ่านบาดแผล ใช้สบู่ล้างผิวหนังรอบบาดแผล ระวังอย่าให้สบู่โดนแผล แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ใช้ผ้าสะอาดซับแผลให้แห้ง
- ใส่น้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับแผลสด เช่น โพวิโดนไอโอดีน ซึ่งจะช่วยลดการติดเชื้อ
- ปิดแผลด้วยผ้าพันแผล
- หากเลือดออกไม่หยุดหลังจากห้ามเลือด ควรไปพบแพทย์เพื่อทำแผล
-
แผลไฟไหม้
แผลไฟไหม้เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยในบ้าน ซึ่งอาจเกิดจากการถูกความร้อน เช่น เตารีด เตาอบ น้ำร้อนลวก ซึ่งมักทำให้เกิดอาการแสบร้อนและอาจเป็นแผลขนาดเล็กหรือแผลใหญ่ที่มีความรุนแรง
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นทำได้โดยการล้างแผลด้วยสบู่อ่อนและน้ำสะอาดอุณภูมิห้อง ซับแผลให้แห้งด้วยผ้าสะอาด ทายาหรือเจลสำหรับทาแผล หากแผลไม่รุนแรงสามารถใช้เจลว่านหางจระเข้ทาที่แผลได้ โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน หากใช้ว่านหางจระเข้สดที่ปลูกเอง ควรล้างและปอกเปลือกให้สะอาดก่อนนำมาทาแผล
จากนั้นปิดแผลโดยไม่ประคบแผลด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัด ห้ามทายาสีฟันบนแผลเพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่บาดแผล ในกรณีที่บาดแผลไหม้รุนแรงและมีตุ่มพองใส ไม่ควรบีบหรือเจาะตุ่มพอง หลังปฐมพยาบาลแล้วควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
-
หกล้ม
หกล้มเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยในบ้าน โดยเฉพาะเด็กที่ชอบวิ่งซนและผู้สูงอายุที่ร่างกายไม่แข็งแรงหรือไม่สามารถทรงตัวได้ดีพอ การหกล้มทำให้อวัยวะต่าง ๆ เช่น แขน ขา และศีรษะได้รับการกระแทกและมีอาการบาดเจ็บ โดยอาจบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยไปจนถึงบาดเจ็บรุนแรง และรุนแรงที่สุดคือเสียชีวิต
เมื่อคนในบ้านเกิดอุบัติเหตุหกล้ม ควรประเมินความรุนแรงของอาการ หากล้มแล้วยังสามารถลุกขึ้นเดินได้ปกติ และมีบาดแผลฟกช้ำเล็กน้อย ให้ประคบเย็นเป็นเวลา 10 นาทีเพื่อบรรเทาอาการฟกช้ำ หากมีเลือดออกและมีอาการบวมช้ำอย่างรุนแรง ควรพาผู้บาดเจ็บไปพบแพทย์
ในกรณีที่บาดเจ็บรุนแรงอาจทำให้กระดูกหักได้ ควรให้ผู้บาดเจ็บนอนราบนิ่ง ๆ อยู่กับที่ ไม่อุ้มหรือขยับตัวผู้บาดเจ็บเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นได้ และรีบโทรศัพท์เรียกรถพยาบาลทันที เพื่อให้ผู้บาดเจ็บได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง
-
กลืนหรือสัมผัสสารพิษ
สารเคมีในบ้าน เช่น ยาฆ่าแมลง น้ำยาฟอกขาว และน้ำยาล้างห้องน้ำอาจเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานการสัมผัสทางผิวหนัง หรือเข้าสู่ดวงตา ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย
หากได้รับสารพิษทางปากให้รีบพาไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะการปฐมพยาบาล เช่น การล้วงคอให้อาเจียน การให้กินไข่ขาวหรือนมเพื่อดูดซึมสารพิษไม่ได้ช่วยให้ความรุนแรงของสารพิษลดลง และอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น หากมีอาการรุนแรง เช่น ซึม แน่นหน้าอก หรือหมดสติ ควรติดต่อสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติที่เบอร์ 1669
ในกรณีที่สารเคมีถูกผิวหนัง ถูกพิษจากการถูกสัตว์มีพิษกัดหรือต่อย หรือสารเคมีเข้าตา ให้ปฐมพยาบาลตามขั้นตอน ดังนี้
- หากสารพิษถูกผิวหนัง ควรรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าและอาบน้ำด้วยน้ำสะอาด และแยกทิ้งเสื้อผ้าที่ถูกสารพิษจากขยะอื่น ๆ
- ล้างผิวหนังบริเวณดังกล่าวด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 15 นาที หากเป็นบริเวณดวงตา ให้ผู้ป่วยนอนตะแคง เปิดให้น้ำไหลผ่านตาและไหลออกด้านข้าง โดยไม่ให้โดนดวงตาอีกข้างหนึ่งเป็นเวลา 15 นาที
- ไม่ใช้ยาแก้พิษทางเคมี เพราะตัวยาอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อผิวและอาจทำให้เกิดความเสียหายที่ผิวหนังได้
- ปิดแผลหรือดวงตา แล้วนำส่งโรงพยาบาล
-
ไฟดูด
หากคนในบ้านถูกไฟดูดหรือไฟช็อต ให้ตัดแหล่งกำเนิดไฟฟ้าก่อน เช่น ปิดสวิตช์และสับคัตเอาต์ เพื่อให้ไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ แต่หากไม่ทราบหรือไม่แน่ใจว่ายังมีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่หรือไม่ ควรตามผู้อื่นมาช่วยเพื่อความปลอดภัย
ห้ามสัมผัสตัวผู้ที่โดนไฟฟ้าดูดด้วยมือเปล่าโดยเด็ดขาด ควรใช้วัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น ไม้ ผ้า หรือเชือก เขี่ยสายไฟออกจากตัวผู้ที่ถูกไฟดูด สังเกตอาการบาดเจ็บและเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บอย่างระมัดระวัง จากนั้นตรวจการเต้นของชีพจร หากไม่มีสัญญาณชีพให้ทำการนวดหัวใจ และผายปอด และเรียกรถพยาบาลเพื่อนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
-
สำลัก
การสำลักมักพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็นจึงมักนำสิ่งแปลกปลอมเข้าทางจมูกและปาก ส่วนผู้ใหญ่อาจสำลักขณะพูดและหัวเราะระหว่างการกินอาหาร หรือฟันปลอมที่ยึดติดไม่แน่นพออาจเลื่อนหลุดลงสู่ทางเดินอาหาร ซึ่งในบางครั้งอุบัติเหตุประเภทนี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
เมื่อคนในบ้านเกิดการสำลักแล้วยังมีสติอยู่ ควรพยายามนำวัตถุที่ติดอยู่ในลำคอออกมาเองก่อนด้วยการกระแอมหรือไอ หากเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่ให้ใช้วิธี Heimlich โดยให้ผู้ที่สำลักนั่งหรือยืนโน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย ผู้ช่วยเหลือสอดแขนสองข้างโอบผู้ป่วยจากทางด้านหลัง กำมือข้างขวา ใช้มือซ้ายประคองมือขวาวางไว้ที่ใต้ลิ้นปี่ ดันกำมือขวาเข้าใต้ลิ้นปี่อย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดแรงดันให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกจากลำคอ
ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปีควรใช้วิธีดังต่อไปนี้
- ให้เด็กนอนคว่ำลงกับตักของผู้ปกครอง ใช้มือรองบริเวณกรามของเด็กเพื่อให้ปากของเด็กเปิดออก และใช้สันมืออีกข้างหนึ่งตบที่กลางหลังบริเวณระหว่างสะบักของเด็กด้วยความแรงและเร็วพอสมควร 5 ครั้ง เพื่อให้ทารกไอและทำให้วัตถุหลุดออก
- ให้เด็กนอนหงายบนตัก ประคองศีรษะเด็กให้ต่ำ แล้วก็ใช้นิ้วมือ 2 นิ้วกดลงที่กระดูกหน้าอกส่วนล่าง 5 ครั้ง
ไม่ควรใช้นิ้วมือกวาดไปในลำคอเด็ก เนื่องจากอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมเคลื่อนตัวไปสู่ตำแหน่งที่มีการอุดกั้นมากขึ้น จากนั้นรีบนำส่งผู้ที่สำลักไปโรงพยาบาลทันที
กรณีที่เป็นเด็กให้สอบถามผู้อยู่ในเหตุการณ์ว่าเด็กเกิดการสำลักในขณะทำอะไรอยู่ พร้อมทั้งนำตัวอย่างอาหาร ขนม หรือสิ่งแปลกปลอมที่สงสัยไปด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษาของแพทย์
อุบัติเหตุในบ้านป้องกันได้
อุบัติเหตุในบ้านอาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันระวังตัว การป้องกันอุบัติเหตุจะช่วยลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ วิธีป้องกันอุบัติเหตุในบ้าน มีดังนี้
- ทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีน้ำหรือสิ่งของวางระเกะระกะบนพื้น
- ของมีคม ยา วัสดุที่มีความร้อน หรือสารมีพิษต่าง ๆ ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก
- ปิดวาล์วแก๊สหุงต้มอาหาร ปิดสวิตช์ และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งเมื่อใช้งานเสร็จ
- หมั่นดูแล ตรวจสอบ และซ่อมแซมพื้นที่ไม่เรียบและอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพดี ไม่ใช้อุปกรณ์ที่ชำรุด
- ติดตั้งหลอดไฟบริเวณมุมมืดที่เดินผ่านบ่อย ๆ
- ควรใช้วัสดุปูพื้นเป็นชนิดไม่ลื่น ในห้องอาบน้ำควรมีราวจับ แผ่นยางกันลื่น และมีที่นั่งขณะอาบน้ำให้ผู้สูงอายุ
- เลือกชนิดและขนาดของอาหารที่เหมาะสมให้กับเด็กในวัยต่างๆ และไม่ควรป้อนอาหารเด็กในขณะที่เด็กกำลังวิ่งเล่นอยู่
- ผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องฟันควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อจัดหาฟันปลอมที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่มีชิ้นอาหารที่มีขนาดพอเหมาะ และควรถอดฟันปลอมออกก่อนเข้านอน
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะบนท้องถนนหรือในบ้าน ซึ่งอุบัติเหตุในบ้านเหล่านี้สามารถป้องกันได้ โดยสอนให้คนในบ้านระมัดระวังและเข้าใจถึงอันตรายของอุบัติเหตุ สอนวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งคอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมของเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุเป็นพิเศษ และหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ควรโทรติดต่อสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติที่สายด่วน 1669