ช่องคลอดแห้งเป็นอาการที่ภายในช่องคลอดขาดของเหลวหล่อลื่นหรือมีน้อยลงกว่าปกติ โดยอาจทำให้รู้สึกระคายเคือง แสบร้อน และเจ็บบริเวณช่องคลอด ทั้งขณะนั่ง ยืน ออกกำลังกาย หรือมีเพศสัมพันธ์ บางครั้งอาจมีอาการคันและอยากปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ซึ่งอาการเหล่านี้มักเป็นเรื้อรังจนรบกวนกับการใช้ชีวิตประจำวัน
ช่องคลอดแห้งพบบ่อยในหญิงวัยทองที่หมดประจำเดือน แต่สามารถเกิดกับผู้หญิงในช่วงวัยอื่นได้เช่นกัน บทความนี้จะบอกเล่าสาเหตุของปัญหาช่องคลอดแห้ง และวิธีดูแลตัวเอง เพื่อบรรเทาอาการแสบคันและไม่สบายตัวจากอาการช่องคลอดแห้งอย่างเหมาะสม
ช่องคลอดแห้งเกิดจากอะไร
ช่องคลอดแห้งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การหลั่งเมือกหล่อลื่นในช่องคลอดลดลง โดยปกติแล้วเซลล์ผนังช่องคลอดจะผลิตของเหลวลักษณะเป็นเมือกบาง ๆ ที่ช่วยให้ความชุ่มชื้นและลดการเสียดสีระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ แต่เมื่อเข้าสู่วัยทอง ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ช่วยผลิตเมือกหล่อลื่นในช่องคลอดลดลง จึงทำให้ช่องคลอดแห้ง
- อยู่ในช่วงกำลังให้นมบุตรหรือคลอดบุตร ส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านฮีสตามีนที่ใช้รักษาภูมิแพ้หรือยาแก้หวัด ยารักษาโรคหืด ยาคุมกำเนิด ยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน (Anti-Estrogen Medications) และยาต้านเศร้า ซึ่งส่งผลให้ระดับฮอร์โมนลดลงและอาจทำให้ช่องคลอดแห้ง
- การใช้สารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณช่องคลอด เช่น สบู่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด น้ำยาย้อมผม และน้ำหอม
- การสวนล้างช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้ช่องคลอดแห้งและระคายเคือง
- การรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) และการให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormonal Therapy)
- การผ่าตัดรังไข่ทั้งสองข้างออก
- โรคเบาหวาน ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานอาจทำให้เส้นประสาทเกิดความเสียหาย ทำให้เลือดไหลเวียนไปยังช่องคลอดได้น้อยลง ส่งผลให้ช่องคลอดแห้ง
- กลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren's Syndrome) เป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ส่งผลให้ร่างกายผลิตสารคัดหลั่งได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเกิดอาการแห้งและระคายเคือง เช่น ดวงตา ปาก ผิว และช่องคลอด
- ความเครียด วิตกกังวล และปัญหาสภาพจิตใจอื่น ๆ
ช่องคลอดแห้ง รับมืออย่างไรดี
ช่องคลอดแห้งเป็นปัญหาที่หากปล่อยไว้อาจมีอาการรุนแรงขึ้นได้ ผู้หญิงที่ประสบปัญหาช่องคลอดแห้งควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ โดยแพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพและการใช้ยา จากนั้นจะตรวจร่างกายและตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจภายใน (Pelvic Exam) และอาจตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุของอาการช่องคลอดแห้ง
การรักษาจะต่างกันตามสาเหตุ ในเบื้องต้นอาจดูแลตนเองได้ตามคำแนะนำเหล่านี้
ใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้นเฉพาะที่
สารเพิ่มความชุ่มชื้นมักอยู่ในรูปครีมสำหรับใช้ทาภายในช่องคลอดโดยเฉพาะ (Vaginal Moisturizers) ซึ่งช่วยให้ช่องคลอดชุ่มชื้นและบรรเทาสภาพแห้งของช่องคลอด โดยทาครีมให้ทั่วผนังช่องคลอดสัปดาห์ละ 2–3 ครั้งก่อนนอน
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้มอยส์เจอไรเซอร์หรือครีมที่ไม่ได้มีไว้สำหรับช่องคลอดโดยเฉพาะ และหลีกเลี่ยงสบู่ที่มีน้ำหอมหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทำความสะอาดช่องคลอด
ใช้สารหล่อลื่น
การใช้สารหล่อลื่นบริเวณช่องคลอดและที่อวัยวะเพศชายก่อนมีเพศสัมพันธ์จะช่วยลดความฝืดเคืองจากการเสียดสี และป้องกันการบาดเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะผู้มีปัญหาช่องคลอดแห้งจากการที่สารหล่อลื่นผลิตออกมาไม่เพียงพอ
สารหล่อลื่นควรเลือกเป็นสูตรน้ำ (Water-Based Lubricants) ไม่มีส่วนผสมของสารกลีเซอรีน (Glycerine) และพาราเบน (Paraben) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือติดเชื้อยีสต์บริเวณช่องคลอด และหลีกเลี่ยงสารที่มีส่วนประกอบของปิโตรเลียมเจลลี่ (Petroleum Jelly) ที่อาจทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพหรือฉีกขาดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
การใช้ยาฮอร์โมนเฉพาะที่ (Vaginal Estrogen)
ผู้ที่ช่องคลอดแห้งเนื่องจากการขาดเอสโตรเจน แพทย์อาจให้ใช้ยาฮอร์โมนเฉพาะที่ เพื่อช่วยให้ช่องคลอดชุ่มชื้น โดยตัวยาจะปล่อยฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีความเข้มข้นต่ำออกมา หากอาการช่องคลอดแห้งยังไม่ดีขึ้นหลังรับฮอร์โมนทดแทน แพทย์อาจให้ใช้ยาฮอร์โมนเฉพาะที่ควบคู่กับการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด
ยาฮอร์โมนเฉพาะที่มีอยู่หลายรูปแบบ เช่น ครีม วงแหวน หรือยาเม็ดสอดในช่องคลอด แต่ละชนิดมีปริมาณและระยะเวลาที่ควรใช้ต่างกัน จึงควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหรือมีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาฮอร์โมนทุกครั้ง เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้
การบริหารอุ้งเชิงกราน (Pelvic Floor Exercise)
กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำหน้าที่ควบคุมการปัสสาวะ อุจจาระ และการมีเพศสัมพันธ์ด้วยการบีบและคลายตัว เมื่อร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้น้อย จะทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอและหย่อนลง การบริหารอุ้งเชิงกราน เช่น ท่ากระชับช่องคลอด (Kegel Exercises) จะช่วยให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรง และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปยังช่องคลอดได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหอมบริเวณช่องคลอด หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนจัดและการแช่น้ำในอ่างที่มีฟองสบู่ เกลือสำหรับอาบน้ำ หรือน้ำมันที่มีกลิ่นหอม รวมถึงเลือกสวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นเกินไป และเลือกชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้ายที่ใส่สบายและไม่ระคายเคืองผิว
อาการช่องคลอดแห้งมักไม่รุนแรงและดีขึ้นได้หลังดูแลตัวเอง แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและปัญหาชีวิตคู่ ควรไปพบแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดความกังวลใจ ลดการเกิดแผลหรือรอยถลอกที่ผนังช่องคลอดหากมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์โดยเร็วหากมีอาการช่องคลอดแห้งร่วมกับเลือดไหลจากช่องคลอด ปวดท้องน้อย หรือมีความผิดปกติอื่น