หายใจแล้วเจ็บอก รู้จักสาเหตุและสัญญาณที่ควรระวัง

หายใจแล้วเจ็บอกเป็นอาการเจ็บปวด เช่น เจ็บแปลบ หรือปวดตื้อ ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อหายใจตามปกติหรือสูดหายใจเข้าอย่างเต็มปอด บางคนอาจมีอาการอื่นร่วมด่วย เช่น ไอ หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ปวดลามไปยังบริเวณใกล้เคียง และมีไข้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ

หายใจแล้วเจ็บอกเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแตกต่างกัน บางคนอาจมีอาการไม่รุนแรงมาก และอาการอาจดีขึ้นได้ด้วยการดูแลตัวเอง แต่บางคนอาจมีอาการไอแล้วเจ็บอกอย่างรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย

Chest Pain When Breathing

9 สาเหตุที่ทำให้หายใจแล้วเจ็บอก

หายใจแล้วเจ็บอกอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1. ปอดบวม (Pneumonia)

ปอดบวมคือภาวะถุงลมปอดอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่บางครั้งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อราได้เช่นกัน ผู้ที่เป็นโรคปอดบวมจะมีอาการหายใจแล้วเจ็บอก ทั้งในขณะพักหรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง และอาการอื่น เช่น ไอ มีไข้ หนาวสั่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อ่อนเพลีย และปวดหัว

2. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)

ปอดอุดกั้นเรื้อรังเกิดจากความเสียหายของปอดและทางเดินหายใจ ส่วนมากมักเกิดจากการสูบบุหรี่จัด การได้รับควันบุหรี่มือสอง สูดดมควัน หรือสารเคมีเป็นเวลานาน และมีโรคหืด ซึ่งผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เช่น ไอเรื้อรังและมีเสมหะ หายใจลำบากหรือมีเสียงหวีด หายใจแล้วเจ็บอก ไม่สามารถหายใจเข้าลึก ๆ ได้ และอ่อนเพลีย

3. เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleuritis)

เยื่อหุ้มปอดอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งทำให้เยื่อหุ้มรอบปอดเกิดการอักเสบ จึงเกิดอาการหายใจแล้วเจ็บอก โดยมักรู้สึกเจ็บแปลบ แสบร้อน หรือปวดตื้อบริเวณอกลามไปยังไหล่ โดยอาการเจ็บหน้าอกจะรุนแรงขึ้นเมื่อไอ จาม หรือเอี้ยวตัว

4. ฝีในปอด (Lung Abscess)

ฝีในปอดมีลักษณะเป็นโพรงหนองในปอด มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือบางครั้งอาจเกิดจากการติดเชื้อราและปรสิต ซึ่งอาจพบในผู้ที่เป็นโรคทางเดินหายใจ เช่น ปอดบวม โรคหลอดลมโป่งพอง ไซนัสอักเสบ มะเร็งปอด รวมถึงคนที่มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และคนที่มีโรคติดเชื้อที่เหงือก 

อาการที่พบได้บ่อยคือมีไข้ ไอเรื้อรัง หายใจแล้วเจ็บอก เหงื่อออกตอนกลางคืน เบื่ออาหาร และน้ำหนักตัวลดลง ซึ่งหากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น ติดเชื้อหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด หรือมีเลือดออกในปอด

5. เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis)

เยื่อหุ้มหัวใจมีลักษณะเป็นถุงของเหลวที่ช่วยปกป้องหัวใจ การอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โรคประจำตัว เช่น รูมาตอยด์ และโรคแพ้ภูมิตัวเอง การบาดเจ็บหรือการผ่าตัดหัวใจ และการใช้ยา

อาการหลักของเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบคือการหายใจแล้วเจ็บอก ซึ่งมีลักษณะเจ็บแปลบ ปวดตื้อ หรือรู้สึกถูกกดทับที่กลางอกหรือค่อนมาทางด้านซ้าย อาการจะดีขึ้นเมื่อนั่งตัวตรงหรือเอนตัวมาข้างหน้า บางคนอาจมีอาการปวดลามไปที่ไหล่ หรือมีอาการอื่น เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ไอ และใจสั่น

6. การบาดเจ็บที่อก

การได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าอกเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของอาการหายใจแล้วเจ็บอก ซึ่งอาจเกิดจากการประสบอุบัติเหตุ การเล่นกีฬา การผ่าตัด การบาดเจ็บเหล่านี้อาจทำให้มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีอาการเขียวช้ำที่ผิวหนัง หายใจลำบาก ปวดคอและไหล่

7. หัวใจขาดเลือด (Heart Attack)

หัวใจขาดเลือด มักเกิดจากการอุดตันของคราบไขมัน หรือพลัค (Plaque) ในหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้ ทำให้หัวใจขาดออกซิเจน และทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเสียหายหรือตาย ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

อาการหัวใจขาดเลือดที่สังเกตได้เบื้องต้นคืออาการหายใจลำบาก รู้สึกเหมือนถูกกดหรือบีบแน่นที่อก ทำให้หายใจแล้วเจ็บอก ปวดที่บริเวณใกล้เคียง เช่น คอ ไหล่ แขน หลัง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และเวียนหัว

8. โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism)

ลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด มักเกิดจากลิ่มเลือดอุดกั้นที่หลอดเลือดดำขาหลุดไปอุดกั้นที่ปอด ซึ่งจะขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณปอด ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจแล้วเจ็บอกอย่างเฉียบพลัน หายใจลำบากในขณะพัก และจะหายใจติดขัดมากขึ้นเมื่อออกแรงทำกิจกรรม ไอมีเลือดปน เวียนหัว หน้ามืด และเป็นลม ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

9. อาการแพนิค (Panic Attack)

อาการแพนิคเป็นอาการเมื่อผู้ป่วยรู้สึกตื่นตระหนกและหวาดกลัวอย่างรุนแรง เช่น เหงื่อออก ตัวสั่น หัวใจเต้นเร็ว เวียนหัว หายใจติดขัดหรือหายใจแล้วเจ็บอกร่วมด้วย โดยอาการมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันในช่วงสั้น ๆ ไม่เกิน 10 นาที

การดูแลตัวเองเมื่อหายใจแล้วเจ็บอก

หากมีอาการหายใจแล้วเจ็บอก อาจดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีเหล่านี้

  • หายใจเข้าออกช้า ๆ โดยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณอก อาจช่วยให้หายใจได้ดีขึ้นและบรรเทาอาการหายใจแล้วเจ็บอก
  • งดสูบบุหรี่ พยายามไม่อยู่ใกล้คนสูบบุหรี่หรือพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสูดดมมลพิษและสารเคมีต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ
  • เปลี่ยนท่าทาง เช่น ลุกขึ้นนั่ง ยืดตัวขึ้นหรือเอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย อาจช่วยบรรเทาอาการหายใจแล้วเจ็บอกที่เกิดจากโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือนอนหนุนหมอนสูง เพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้นขณะหลับ 
  • นั่งสมาธิ หรือออกกำลังกายเบา ๆ เช่น โยคะ และไทเก๊ก ซึ่งช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและฝึกการควบคุมลมหายใจได้ดี
  • ใช้ยาแก้ไอหรือสเปรย์พ่นคอที่หาซื้อได้เอง หากมีอาการไอร่วมด้วย
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำและนอนหลับให้เพียงพอ จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย และช่วยให้ร่างกายกำจัดเชื้อโรคออกไปได้เร็วขึ้น
  • ป้องกันการติดเชื้อโรคที่อาจทำให้เกิดอาการไอแล้วเจ็บอก ด้วยการล้างมือให้สะอาด และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี

สังเกตอาการหายใจแล้วเจ็บอกที่ควรไปพบแพทย์

อาการหายใจแล้วเจ็บอกอาจเป็นสัญญาณบอกภาวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต หากมีอาการหายใจแล้วเจ็บอกร่วมกับอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • สำลัก หายใจไม่ออก หรือต้องสูดลมหายใจเข้าทางปาก (Gasping) 
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอก รวมถึงรู้สึกเจ็บที่กราม คอ แขน ไหล่ หลัง
  • เหงื่อออกมาก
  • เวียนหัวหรือหน้ามืดอย่างเฉียบพลัน
  • ไอมีเลือดปน
  • หนาวสั่น หรือมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ
  • ผิวหนังและเล็บเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ
  • สูญเสียการรับรู้

หายใจแล้วเจ็บอกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุอาจเกิดขึ้นในระยะสั้นและหายได้หลังจากดูแลตัวเอง แต่หากอาการรุนแรงขึ้น หรือไม่ดีขึ้นหลังดูแลตัวเองไปแล้ว 2–3 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น รับประทานยาปฏิชีวนะ ยาต้านเชื้อรา ยาต้านการแข็งตัวของเลือดตามที่แพทย์สั่ง รวมถึงผ่าตัด และรับการบำบัดต่าง ๆ เช่น ออกซิเจนบำบัด และจิตบำบัด