อัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate) หมายถึงจำนวนครั้งที่หัวใจเต้นต่อ 1 นาที ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามความหนักเบาของกิจกรรมที่ทำหรือสิ่งกระตุ้น เช่น หัวใจจะเต้นเร็วขึ้นเมื่อเราขยับตัวหรือรู้สึกตกใจและหวาดกลัว และหัวใจจะเต้นช้าลงเมื่อเรานอนหลับหรือรู้สึกผ่อนคลาย อย่างไรก็ตาม อัตราการเต้นของหัวใจที่ช้าหรือเร็วกว่าปกติมากเกินไป อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง
ปกติแล้วอัตราการเต้นของหัวใจจะวัดในขณะที่เราไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ และรู้สึกผ่อนคลาย เรียกว่าอัตราการเต้นของหัวใจขณะพัก (Resting Heart Rate) ซึ่งในแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ น้ำหนัก หรือสุขภาพ การทราบเกี่ยวกับอัตราการเต้นของหัวใจจะช่วยให้เราสามารถสังเกตความแข็งแรงของร่างกายตนเองได้ รวมทั้งอาจช่วยให้เรารับมือกับความผิดปกติที่กำลังจะเกิดขึ้นได้
อัตราการเต้นของหัวใจ เท่าไรจึงอยู่ในเกณฑ์ที่ผิดปกติ
อัตราการเต้นของหัวใจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับอายุและปัจจัยอื่น ๆ เช่น อุณหภูมิ สภาพอารมณ์ น้ำหนักตัว การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด ผลข้างเคียงของยาบางชนิด อย่างยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ หรือความผิดปกติของร่างกาย เช่น ภาวะโลหิตจาง ความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ปกติแล้วผู้ใหญ่จะมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ประมาณ 60–100 ครั้งต่อนาที แต่บางคนก็อาจต่ำกว่านั้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงหรือผู้ที่เป็นนักกีฬา ซึ่งอาจมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ต่ำได้ถึง 40-50 ครั้งต่อนาที ส่วนเด็กจะมีอัตราการเต้นของหัวใจที่สูงกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเด็กโตขึ้นอัตราการเต้นของหัวใจจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามช่วงอายุ ซึ่งในช่วงแรกเกิดอาจสูงได้ถึงประมาณ 160 ครั้งต่อนาที
โดยทั่วไป หากอัตราการเต้นของหัวใจของผู้ใหญ่ต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที และสูงเกิน 100 ครั้งต่อนาทีจะถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย แต่มีข้อยกเว้นว่าในระหว่างออกกำลังกายอาจสูงกว่านั้นได้ และจะยังถือว่าปลอดภัยหากไม่เกินอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (Max Heart Rate) ซึ่งสามารถคำนวณได้จาก 220–อายุ เช่น ผู้ที่อายุ 23 ปี จะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดอยู่ที่ 197 ครั้งต่อนาที
อัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วหรือช้ากว่าเกณฑ์อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติทางสุขภาพบางอย่าง ดังนี้
อัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วเกินไป
ในกรณีของผู้ใหญ่ หากมีอัตราการเต้นของหัวใจที่มากกว่า 100 ครั้งต่อนาทีในขณะพัก จะเรียกว่าภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (Tachycardia) ซึ่งภาวะนี้ไม่ได้เป็นอันตรายเสมอไป อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยทั่วไปและเกิดเพียงชั่วคราว เช่น เมื่อออกกำลังกาย รู้สึกตื่นเต้น รู้สึกกลัว หรืออาจเกิดจากโรคหรือความผิดปกติบางอย่าง โดยหากเต้นเร็วเกินไป ภาวะนี้อาจส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เป็นลม รู้สึกใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หรืออ่อนเพลียได้
ในผู้ที่มีโรคประจำตัว หากมีภาวะหัวใจเต้นเร็วเกินอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดบ่อย ๆ อาจทำให้หมดสติหรือหัวใจวาย จึงควรไปพบแพทย์ทันทีหากเกิดอาการต่อไปนี้อย่างกะทันหันหรือรุนแรง เช่น เจ็บหน้าอก ปวดกราม แขน คอ หรือหลัง หายใจลำบาก อ่อนเพลียมาก หมดสติ
อัตราการเต้นของหัวใจที่ช้าเกินไป
การที่อัตราการเต้นของหัวใจของผู้ใหญ่ต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาทีในขณะพัก จะเรียกว่าภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia) ซึ่งภาวะนี้ไม่ได้เป็นอันตรายเสมอไป เช่น ในกรณีของนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ หัวใจของคนกลุ่มนี้จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจขณะพักสามารถต่ำได้ประมาณ 40-50 ครั้งต่อนาที
ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติสามารถเกิดได้ทั้งจากปัจจัยทั่วไปและโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติจะมีอาการหน้ามืด เป็นลม หรืออาการอื่น ๆ คล้ายกับภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะความดันโลหิตสูง รวมถึงภาวะความดันโลหิตต่ำได้ด้วย
เนื่องจากอัตราการเต้นของหัวใจอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง เราจึงควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเกิดความผิดปกติ เช่น การเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป การสูบบุหรี่ หากมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราการเต้นของหัวใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำปรึกษาและการตรวจวินิจฉัยที่เหมาะสม