อายุ 45 หมดประจำเดือนเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกการเข้าสู่วัยทอง หรือวัยหมดระดูของผู้หญิง บางคนอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง นอนไม่หลับร่วมด้วย ซึ่งทำให้ผู้หญิงที่มีอาการเหล่านี้เกิดความกังวล และสงสัยว่าตัวเองเข้าสู่วัยทองเร็วเกินไปหรือไม่ และควรรับมืออย่างไร
วัยทอง (Menopause) คือภาวะที่ผู้หญิงหมดประจำเดือนอย่างถาวร ผู้หญิงแต่ละคนเข้าสู่วัยทองเร็วหรือช้าต่างกัน แต่มักเข้าสู่วัยทองเมื่ออายุประมาณ 45–55 ปี ดังนั้น อายุ 45 หมดประจำเดือนจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ หากได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยบรรเทาอาการวัยทองที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น
สาเหตุที่ทำให้อายุ 45 หมดประจำเดือน
อายุ 45 หมดประจำเดือนเป็นช่วงอายุปกติของการเข้าสู่วัยทอง เมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้น ร่างกายจะเริ่มผลิตฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) น้อยลง ประจำเดือนจะเริ่มมาไม่ปกติ มาน้อย จนกระทั่งรังไข่หยุดทำงาน ไม่มีการตกไข่อีก ส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาอย่างถาวร หากประจำเดือนขาดติดต่อกัน 12 เดือนจะถือว่าเข้าสู่วัยทอง
ผู้หญิงบางคนอาจเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนเร็วกว่าคนส่วนใหญ่ (Early Menopause) โดยอาจเข้าสู่วัยทองเมื่ออายุประมาณ 40–45 ปี ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- คนในครอบครัวมีภาวะหมดประจำเดือนเร็ว หมดประจำเดือนก่อนอายุ 40 ปี (Premature Menopause)
- เริ่มมีประจำเดือนเร็วก่อนอายุ 8 ปี
- เคยรับการรักษามะเร็งด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี หรือเคยผ่าตัดมดลูกและรังไข่มาก่อน
- มีโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น เบาหวานชนิดที่ 1 และไทรอยด์
- มีความผิดปกติของยีนหรือโครโมโซม
- มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์
- สูบบุหรี่
อาการที่บ่งบอกว่าอายุ 45 หมดประจำเดือน
อายุ 45 หมดประจำเดือนหรือเข้าสู่วัยทอง อาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ เช่น
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ ขาดหายไปบางเดือน หรือไม่มาเป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกัน
- ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน
- ช่องคลอดแห้ง รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
- นอนหลับยาก หลับไม่สนิท
- อารมณ์แปรปรวน
- ผิวแห้ง ปากแห้ง ตาแห้ง
- อ่อนเพลีย หมดแรงง่าย
- ปวดปัสสาวะบ่อย
- ปวดหัว ไมเกรน ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ
การรักษาภาวะอายุ 45 หมดประจำเดือน
อายุ 45 หมดประจำเดือนเกิดจากการที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศออกมาน้อย ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า สมองเสื่อม กระดูกพรุน และพาร์กินสัน จึงควรดูแลตัวเองควบคู่กับการรักษาโดยแพทย์ ดังนี้
1. การดูแลตัวเอง
ผู้ที่อายุ 45 หมดประจำเดือนควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น เช่น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา ถั่วต่าง ๆ ที่ให้โปรตีนสูง และดื่มนม เพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมและวิตามินดีที่ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง อาหารรสเผ็ดจัด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
- จัดห้องนอนให้เอื้อต่อการนอนหลับ ไม่ร้อนจนเกินไป และสวมชุดนอนที่มีเนื้อผ้าเบาสบาย เพื่อช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ
- ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น โยคะ ไทเก๊ก นั่งสมาธิ
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการรับประทานแคลเซียมและวิตามินดีเสริม กรณีที่ได้รับจากการรับประทานอาหารปกติไม่เพียงพอ
2. การให้ฮอร์โมนทดแทน
แพทย์อาจให้ผู้ที่อายุ 45 หมดประจำเดือนรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม หรือให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) ซึ่งเป็นการให้ฮอร์โมนเพศหญิงชนิดสังเคราะห์ทดแทนฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนที่ร่างกายผลิตได้น้อยลง
ฮอร์โมนทดแทนจะช่วยบรรเทาอาการวัยทองที่เกิดขึ้นกับผู้ที่อายุ 45 หมดประจำเดือน และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเพศ ในกรณีที่มีโรคบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนได้ เช่น มะเร็งเต้านม แพทย์อาจพิจารณาวิธีรักษาอื่นแทน
ทั้งนี้ การเข้าสู่วัยทองทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติได้น้อยมาก ผู้ที่เริ่มมีอาการวัยทองและต้องการมีลูก ควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น ๆ เพื่อใช้วิธีทางการแพทย์ เช่น ฝากไข่ (Egg Freezing) เก็บไว้ก่อนรังไข่จะหยุดทำงาน ทำให้สามารถมีลูกหลังเข้าสู่วัยทองได้
อายุ 45 หมดประจำเดือนเป็นช่วงเวลาที่ชวนให้ผู้หญิงหลายคนกังวลใจไม่น้อย หากมีอาการเข้าสู่วัยทองก่อนอายุ 45 ปี ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการจากภาวะหมดประจำเดือน และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข