อาหารที่เป็นกรด ส่งผลเสียต่อสุขภาพจริงหรือ

อาหารที่เป็นกรด (Acidic Foods) ส่วนใหญ่มักหมายถึงอาหารที่มีค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ต่ำกว่า 4.6 ซึ่งหลายคนเชื่อว่าการกินอาหารที่มีค่าความเป็นกรดสูงอาจกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน และเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต การเสื่อมสภาพของกระดูก และภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ (Metabolic Acidosis) อย่างไรก็ตาม การกินอาหารที่เป็นกรดอาจไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเสมอไป

โดยปกติแล้ว อวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอดและไต มีกลไกปรับระดับความเป็นกรดและด่างในร่างกายให้สมดุล การกินอาหารที่เป็นกรดในปริมาณที่เหมาะสมจึงมักไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ที่แข็งแรง แต่หลายคนอาจสงสัยว่าความเชื่อเกี่ยวกับอาหารที่เป็นกรดซึ่งได้ยินมาเป็นความจริงหรือไม่ บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาหารที่เป็นกรด และข้อแนะนำในการกินให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพเอาไว้แล้ว

อาหารที่เป็นกรด ส่งผลเสียต่อสุขภาพจริงหรือ

จริงหรือไม่ อาหารที่เป็นกรดทำลายสุขภาพได้?

หลายคนเชื่อว่าอาหารที่เป็นกรดจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ จึงทำให้แนวคิดการกินอาหารอัลคาไลน์ (Alkaline Diet) หรืออาหารที่มีความเป็นด่างได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเชื่อกันว่าจะช่วยรักษาสมดุลกรดในเลือด ป้องกันการเกิดนิ่วในไต ช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง และเสริมสร้างการทำงานของหัวใจและสมอง 

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเหล่านี้ยังขาดข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับประโยชน์และประสิทธิภาพในการป้องกันหรือรักษาโรค โดยข้อเท็จจริงของการกินอาหารที่เป็นกรดและผลกระทบต่อสุขภาพ มีดังนี้

นิ่วกรดยูริก

นิ่วกรดยูริก (Uric Acid Stones) เป็นนิ่วในไตชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปัสสาวะมีความเป็นกรดมากเกินไป โดยการกินอาหารจำพวกโปรตีนสัตว์ซึ่งประกอบด้วยสารพิวรีน (Purene) สูง เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่ และชีสบางชนิด รวมถึงน้ำอัดลม อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้กรดยูริกในปัสสาวะเพิ่มสูงขึ้นและจับตัวเป็นก้อนนิ่วในไตได้

อย่างไรก็ตาม นิ่วกรดยูริกมักไม่ได้เกิดจากการกินอาหารเพียงอย่างเดียว แต่มักพบในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ด้วย เช่น คนในครอบครัวมีประวัติของนิ่วในไต ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน โรคเบาหวาน โรคเก๊าท์ และผู้เข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy)

ภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ

ภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ (Metabolic Acidosis) เป็นภาวะความผิดปกติของสมดุลกรดด่างในร่างกาย เกิดจากการที่ร่างกายผลิตกรดมากเกินไป หรือไตไม่สามารถกำจัดกรดส่วนเกินออกจากร่างกายได้ตามปกติ 

ภาวะนี้มักพบในผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะเลือดเป็นกรด (Ketoacidosis) ผู้มีภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแลคติกในเลือดสูง (Lactic Acidosis) ผู้มีภาวะเลือดเป็นกรดร่วมกับคลอไรด์ในเลือดสูง (Hyperchloremic Acidosis) และการได้รับยาบางชนิดในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานเกินไป 

โดยความเชื่อที่ว่าการกินอาหารที่เป็นกรดอาจทำให้เกิดภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญนั้นเป็นไปได้ยากมาก หากกินอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอดีและหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญได้

กรดไหลย้อน

อาหารที่เป็นกรดอย่างผักผลไม้รสเปรี้ยวและน้ำผลไม้ เช่น สับปะรด ส้ม มะนาว และมะเขือเทศ อาจไม่ได้ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนโดยตรง แต่อาจกระตุ้นอาการของผู้ที่เป็นกรดไหลย้อน เช่น แสบร้อนทรวงอกและเรอเปรี้ยว การหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่เป็นกรดจึงอาจช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้

ทั้งนี้ แต่ละคนมีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการต่างกัน การหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสเผ็ดจัด น้ำอัดลม ช็อกโกแลต เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ รวมทั้งปรับพฤติกรรมการกิน เช่น กินให้น้อยลงในแต่ละมื้อและเว้นระยะอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน อาจช่วยรักษาอาการกรดไหลย้อนได้

ความเสื่อมของกล้ามเนื้อและกระดูก

หลายคนเชื่อว่าการกินอาหารที่เป็นกรดมากเกินไปอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อและกระดูกเสื่อมสลายหรือเปราะง่าย เพราะกระดูกประกอบด้วยแคลเซียมซึ่งมีหน้าที่รักษาสมดุลความเป็นกรดด่างของเลือด 

การดื่มเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดสูง อย่างน้ำอัดลมที่ประกอบด้วยกรดฟอสฟอริก (Phosphoric Acid) อาจไปยับยั้งการดูดซึมแคลเซียมจนทำให้มวลกระดูกบางและอาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผลการศึกษาที่ยืนยันว่าน้ำอัดลมส่งผลต่อความหนาแน่นของกระดูกอย่างชัดเจน จึงอาจต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต

อาหารที่เป็นกรด กินอย่างไรให้เหมาะสม

อาหารที่เป็นกรดมีหลายประเภทและไม่ได้ให้โทษต่อร่างกายเสมอไป หากเลือกกินประเภทที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณที่เหมาะสมก็จะช่วยให้เราได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งอาหารที่เป็นกรดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ 

  • นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ซึ่งเป็นแหล่งของแคลเซียม โปรตีน และวิตามินที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก แต่ผู้ที่มีภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง (Lactose Intolerance) ควรหลีกเลี่ยงการกินผลิตภัณฑ์นมเพราะอาจทำให้ปวดท้อง ท้องอืด หรือท้องเสีย 
  • เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว และอาหารทะเลต่าง ๆ ซึ่งให้โปรตีนสูง 
  • ข้าวกล้องและข้าวโอ๊ต ซึ่งมีไฟเบอร์สูง อีกทั้งให้วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย

อาหารที่เป็นกรดที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพหากกินมากเกินไปคืออาหารแปรรูปและเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูง เช่น เนื้อแปรรูป แครกเกอร์ ซอสถั่วเหลือง ซอสบาร์บีคิว รวมทั้งน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีฟอสฟอรัสสูงอย่างเบียร์และโกโก้

แม้หลายคนจะเข้าใจว่าผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวมีความเป็นกรดสูง แต่ผักผลไม้ส่วนใหญ่มีค่า PRAL (Potential Renal Acid Load) เป็นลบ โดยค่านี้จะบ่งบอกปริมาณกรดที่ถูกสร้างขึ้นในร่างกายหลังรับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ หากค่าเป็นลบหมายถึงมีความเป็นด่าง อีกทั้งการกินผักผลไม้เป็นประจำยังให้วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย 

ทั้งนี้ ผู้ที่มีโรคกรดไหลย้อนอาจหลีกเลี่ยงการกินผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว สับปะรด เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรค

ร่างกายมีกลไกในการปรับสมดุลความเป็นกรดด่างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่แล้ว การกินอาหารที่เป็นกรดหรือด่างจึงมักไม่ส่งผลต่อค่า pH ในเลือดของคนทั่วไปที่มีสุขภาพดี สิ่งสำคัญคือการกินอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลายและกินในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ทั้งนี้ ผู้มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำในกินอาหารและดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม