เช็คเบาหวานด้วยตัวเอง คือการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยไม่ต้องไปที่โรงพยาบาล การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจะช่วยให้รับรู้ถึงความผันผวนของน้ำตาลระหว่างวันซึ่งเป็นผลจากการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยา การตรวจน้ำตาลในเลือดจะช่วยให้จัดการเบาหวานได้อย่างเหมาะสม และอาจช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน
โรคเบาหวาน คือโรคระบบเผาผลาญทำงานผิดปกติจนส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และเป็นโรคที่ต้องตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งมักเป็นการตรวจแบบอดอาหารอย่างต่ำ 8 ชั่วโมงก่อนการตรวจ และแพทย์อาจตรวจค่าน้ำตาลในเลือดสะสมหรือ hba1c เพิ่มเติมด้วย การตรวจเบาหวานด้วยตัวเองจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการรักษาโรคที่ผู้ป่วยควรทำเมื่อแพทย์สั่ง
รู้จักการเช็คเบาหวานด้วยตัวเอง
การเช็คเบาหวานด้วยตัวเอง คือวิธีการตรวจค่าน้ำตาลในเลือดที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้าน เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องใช้อินซูลิน หรือผู้ที่ต้องเช็คค่าน้ำตาลในเลือดหลายครั้งต่อวัน เป็นวิธีที่ช่วยประหยัดเวลาได้อย่างดี
โดยวิธีการเช็คเบาหวานด้วยตัวเองที่นิยมคือการเจาะนิ้ว นอกจากนั้น ในปัจจุบันยังมีวิธีเช็ดด้วยการใช้เครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบใหม่ซึ่งสะดวกสบายมากขึ้น ผู้เป็นโรคเบาหวานที่มีข้อสงสัยว่าตนต้องเช็คเบาหวานที่บ้านหรือไม่ควรสอบถามแพทย์
1. การเช็คเบาหวานด้วยตัวเองการเจาะปลายนิ้ว
การตรวจค่าน้ำตาลในเลือดด้วยการเจาะนิ้วจำเป็นต้องใช้เครื่องวัดระดับน้ำตาล เข็มเจาะเลือด ปากกาเจาะเลือด และแผ่นตรวจเบาหวานซึ่งสามารถซื้อได้จากร้านขายยา นอกจากนี้ควรมีกล่องทิ้งเข็มเพื่อความปลอดภัยในการทิ้งเข็มที่ใช้แล้ว
ขั้นตอนการตรวจค่าน้ำตาลในเลือดที่บ้านด้วยการเจาะนิ้ว ทำได้ดังนี้
- ล้างมือด้วยสบู่ ไม่ใช้ทิชชู่เปียกเนื่องจากมีกลีเซอรีนที่ส่งผลต่อผลตรวจ และควรเจาะเลือดเมื่อมืออุ่นเพื่อจะได้ไม่เจ็บมาก
- ใส่เข็มเจาะเลือดลงในปากกาเจาะเลือด
- ใส่แผ่นตรวจเบาหวานลงในเครื่องวัดระดับน้ำตาล
- เจาะเลือดด้วยปากกาเจาะเลือด
- ใส่หยดเลือดลงในแผ่นตรวจเบาหวานอย่างระมัดระวัง
- ใช้ทิชชู่หยุดเลือด และนำเข็มเจาะเลือดออกจากปากกาเจาะเลือดและทิ้งลงในกล่องทิ้งเข็ม
- จดผลค่าน้ำตาลในสมุด คอมพิวเตอร์ หรือในแอปปฏิทินในโทรศัพท์
การจดบันทึกผลน้ำตาลในเลือดจะช่วยในการปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาแผนการรักษาโรคที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจใช้แอพพลิเคชั่นจดค่าเบาหวาน หรือเครื่องตรวจค่าน้ำตาลบางประเภทอาจมีระบบบันทึกผลการตรวจให้
การตรวจค่าน้ำตาลในเลือดเองด้วยการเจาะนิ้วอาจมีผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ เช่น รู้สึกเจ็บบริเวณที่เจาะเลือด กรณีนี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการเปลี่ยนเข็มเจาะเลือดบ่อย ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เข็มทู่ ซึ่งผู้ตรวจไม่ควรเจาะนิ้วเดิมที่บริเวณเดิมซ้ำ ๆ โดยอาจเปลี่ยนนิ้วที่ใช้เจาะเลือด อีกทางหนึ่งคือการใช้เครื่องวัดระดับน้ำตาลที่เจาะบริเวณอื่นของร่างกายได้ เช่น ฝ่ามือ ปลายแขน
2. การเช็คเบาหวานด้วยตัวเองด้วยเครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบใหม่
การเช็คเบาหวานด้วยตัวเองยังสามารถทำได้ด้วยการใช้เครื่องตรวจวัดน้ำตาลแบบต่อเนื่อง (CGM) และแบบรวดเร็ว (flash glucose monitor) คืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เช็คค่าน้ำตาลโดยไม่ต้องเจาะเลือด ทำงานด้วยการเซ็นเซอร์ผ่านผิวหนังและส่งผลค่าน้ำตาลเข้าในโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อื่น ๆ และยังสามารถแจ้งเตือนเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไปได้อีกด้วย
แต่เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลแบบใหม่นี้ยังมีราคาที่ค่อนข้างสูง และอาจต้องเปลี่ยนตัวเซ็นเซอร์ทุก 7–14 วัน และผู้ป่วยอาจยังคงต้องตรวจค่าน้ำตาลด้วยการเจาะเลือดร่วมด้วยเพื่อยืนยันความแม่นยำของเครื่องวัด
การเช็คเบาหวานด้วยตัวเองคือหนึ่งวิธีการรักษาโรคเบาหวานที่สำคัญและมีประสิทธิภาพ ผู้ตรวจค่าน้ำตาลในเลือดควรศึกษาวิธีการ และทำอย่างถูกต้องและระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงผลการตรวจผิดพลาด นอกจากนี้ หากผลค่าน้ำตาลต่ำกว่า 60 มิลลิกรัมต่อ 1 เดซิลิตร หรือสูงกว่า 300 มิลลิกรัมต่อ 1 เดซิลิตร ควรพบแพทย์ทันที