เด็กท้องอืด 9 สาเหตุ และวิธีดูแลที่พ่อแม่ควรรู้

เด็กท้องอืดเป็นอาการเจ็บป่วยที่พบได้บ่อย เด็กจะมีอาการแน่นท้อง จุกเสียด ปวดและรู้สึกไม่สบายท้อง และอาจทำให้เด็กดื่มนมหรือกินอาหารได้น้อยลง ซึ่งอาจเกิดจากการร้องไห้มากเกินไป พฤติกรรมการกินอาหารที่ทำให้ท้องอืด หรืออาการเจ็บป่วย เช่น ท้องผูก ร่างกายไม่ย่อยอาหารบางชนิด และโรคกระเพาะ

อาการเด็กท้องอืดพบได้ทั้งทารก เด็กเล็ก และเด็กโต โดยมักมีอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง หากพ่อแม่ควรสังเกตอาการและดูแลเด็กอย่างเหมาะสม เช่น ปรับพฤติกรรมการกิน และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการท้องอืด จะช่วยบรรเทาอาการไม่สบายท้อง และช่วยให้อาการท้องอืดในเด็กหายได้เร็วขึ้น

เด็กท้องอืด

สาเหตุยอดฮิตที่ทำให้เด็กท้องอืด

เด็กท้องอืดเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1. การกลืนอากาศ

การกลืนอากาศ หรือที่เรียกว่าลมเข้าท้องในทารก อาจเกิดจากการที่เด็กร้องไห้ ซึ่งอาจเกิดจากความหิวนม ไม่สบายตัว หรืออาจเกิดจากอาการโคลิค (Colic) ซึ่งเด็กจะร้องไห้อย่างรุนแรงและเป็นเวลานานโดยไม่ยอมหยุด

นอกจากนี้ การกลืนอากาศในเด็กอาจเกิดจากการดูดจุกหลอก การให้นมแม่หรือนมขวดผิดท่า การดื่มนมช้าหรือเร็วเกินไปจากลักษณะผิดปกติของเต้านมแม่ หรือการใช้จุกนมมีขนาดไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้เด็กท้องอืดได้

2. อาหารไม่ย่อย

อาหารไม่ย่อยเป็นอีกสาเหตุที่พบบ่อยและทำให้เด็กท้องอืด โดยอาจเกิดจากการป้อนนมทารกมากเกินไป ทำให้ร่างกายของเด็กไม่สามารถย่อยน้ำนมปริมาณมากได้ทัน ทำให้เด็กไม่สบายท้องและอาจมีอาการอาเจียนนมออกมา

ส่วนเด็กโตที่กินอาหารได้เองอาจมีอาการท้องอืดจากพฤติกรรมการกินอาหารเร็วเกินไป กินอาหารปริมาณมากในเวลาสั้น ๆ กินอาหารแล้วนอนลงทันที หรือกินอาหารที่กระตุ้นให้เด็กท้องอืด เช่น อาหารไขมันสูง อาหารและผลไม้ที่มีความเป็นกรดสูง เคี้ยวหมากฝรั่ง อมลูกอม หรือดื่มน้ำอัดลม เป็นต้น

3. ท้องผูก

ท้องผูกพบได้ทั้งในทารก เด็กเล็ก และเด็กโต เด็กจะขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระแข็ง ทำให้รู้สึกเจ็บขณะขับถ่าย เมื่อไม่ได้ขับถ่ายเป็นเวลานานจะทำให้เด็กท้องอืด ไม่สบายท้อง และไม่อยากกินอาหาร

ท้องผูกในเด็กเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากการดื่มน้ำน้อย การไม่กินอาหารที่มีกากใย การกลั้นอุจจาระ การฝึกขับถ่ายเมื่อเด็กยังเล็กเกินไป หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ทำให้เด็กท้องผูก เช่น การแพ้นมวัว

4. โรคกระเพาะ (Gastritis)

โรคกระเพาะ หรือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต การกลืนสิ่งแปลกปลอม การได้รับบาดเจ็บที่ท้อง และการใช้ยา ซึ่งทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารระคายเคือง ทำให้เด็กท้องอืด ปวดท้อง รู้สึกแสบร้อน กดที่ท้องแล้วเจ็บ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร

5. โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis)

โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบมักเกิดจากการกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่ไม่สะอาดและมีเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส และปรสิต ทำให้เด็กมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และอ่อนเพลีย

6. ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง (Lactose Intolerance)

เด็กที่มีภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่องจะมีอาการท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย และคลื่นไส้หลังดื่มนมหรือกินอาหารที่ทำจากนม เช่น โยเกิร์ต ไอศกรีม และชีส เนื่องจากร่างกายของเด็กไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสในนมวัวได้

7. โรคเซลิแอค (Celiac Disease)

โรคเซลิแอคเป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเด็กต่อโปรตีนกลูเตนในข้าวสาลี ข้าวบารเลย์ และข้าวไรย์ ทำให้เกิดความเสียหายต่อลำไส้เล็ก และทำให้เด็กท้องอืด ท้องบวม ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย อ่อนเพลีย หากปล่อยไว้อาจส่งผลให้เด็กขาดสารอาหาร และเกิดปัญหาสุขภาพอื่นตามมา 

8. กรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนพบได้ทั้งในทารก และเด็กโต เกิดจากการที่หูรูดส่วนปลายหลอดอาหารปิดไม่สนิท ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมา ทำให้เด็กท้องอืด ปวดท้อง อาเจียนบ่อย รับรสเปรี้ยวในปาก ไอและหายใจมีเสียงหวีด เด็กเล็กมักร้องไห้งอแงไม่ยอมกินอาหาร

9. ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS)

ลำไส้แปรปรวนเป็นความผิดปกติที่ทำให้เด็กท้องอืด ไม่สบายท้อง ปวดท้อง ท้องผูกสลับกับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระมีเมือกปน อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร

สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทระหว่างสมองและลำไส้ พันธุกรรม ความเครียด และอาหารที่เด็กกิน เช่น นม ช็อกโกแลต และผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรักโตสสูง

คำแนะนำในการดูแลเด็กท้องอืด

วิธีการดูแลรักษาเด็กท้องอืดจะแตกต่างกันตามสาเหตุ ซึ่งโดยทั่วไป พ่อแม่สามารถดูแลเด็กด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • เปลี่ยนท่าทางการให้นม โดยยกศีรษะของทารกให้สูงกว่าช่วงลำตัว เพื่อให้น้ำนมไหลลงสู่กระเพาะอาหารของเด็กได้ดีกว่ากว่าการดื่มนมขณะนอนราบ 
  • เลือกจุกนมที่มีขนาดเหมาะสม หากรูจุกนมเด็กมีขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไป อาจทำให้กลืนอากาศระหว่างดูดนมมากขึ้น และทำให้เด็กท้องอืด หรือเลือกใช้จุกนมที่ช่วยป้องกันการท้องอืดโดยเฉพาะ
  • จับลูกเรอหลังดื่มนมทุกครั้ง เพื่อช่วยไล่ลมในท้อง และลดอาการท้องอืด
  • ป้อนนมแต่พอดี ควรสังเกตอาการของเด็ก หากเด็กรู้สึกอิ่มจะมีสัญญาณบางอย่าง เช่น เบือนหน้าหนี หรือปัดขวดนมออก ควรหยุดป้อนนม
  • หลีกเลี่ยงให้เด็กกินอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการท้องอืดและกรดไหลย้อน เช่น น้ำอัดลม หมากฝรั่ง อาหารที่มีรสเปรี้ยว และอาหารไขมันสูง 
  • สอนให้เด็กกินอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน ไม่วิ่งเล่นขณะกินอาหาร และไม่นอนลงทันทีหลังกินอาหารเสร็จ
  • ให้เด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอ กินผักผลไม้และอาหารที่มีกากใย เพื่อช่วยป้องกันอาการท้องผูก
  • ให้เด็กกินยาตามอาการ เช่น ผงเกลือแร่ผสมน้ำสะอาดกรณีที่มีอาการท้องเสียหรืออาเจียน และยาแก้ท้องอืดสำหรับเด็ก โดยปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

โดยทั่วไป อาการเด็กท้องอืดมักดีขึ้นหลังจากการดูแลรักษาที่บ้าน แต่กรณีที่เด็กท้องอืดบ่อย มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ มีอาการผิดปกติหลังกินอาหารบางชนิด เช่น นมวัว ข้าว หรือมีโรคลำไส้แปรปรวน ควรปรึกษาแพทย์ รวมทั้งเด็กท้องอืดที่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรง มีไข้ อาเจียนอย่างต่อเนื่อง ถ่ายไม่ออก มีเลือดปนในอุจจาระ และสีผิวเปลี่ยนไป ควรรีบพาไปพบแพทย์