แก้วหูทะลุเป็นภาวะที่เยื่อแก้วหูฉีกขาดหรือเป็นรู ซึ่งเยื่อแก้วหูเป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ ที่กั้นระหว่างรูหูและหูชั้นกลาง หากเป็นไม่รุนแรงมักดีขึ้นได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่บางรายที่อาการรุนแรงอาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะหรือเข้ารับการผ่าตัด
แก้วหูทะลุเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ การได้ยินเสียงดังมากอย่างเสียงระเบิดหรือเสียงเพลง การเกิดแรงดันในหูอย่างฉับพลันขณะว่ายน้ำหรือนั่งเครื่องบิน หรือการแคะหูแรง ๆ ส่วนในเด็กมักเป็นผลมาจากการติดเชื้อ หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในรูหูเด็ก เช่น ที่ติดผม ดินสอ และของเล่นชิ้นเล็ก ๆ
แก้วหูทะลุมีอาการอย่างไร
อาการแก้วหูทะลุของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนอาจไม่มีอาการ จึงไม่ทราบว่ามีอาการแก้วหูทะลุ หรือเริ่มมีอาการหลังจากแก้วหูทะลุ 2–3 วัน ดังนี้
- เจ็บ ปวด หรือคันในหูข้างที่แก้วหูทะลุ
- มีหนองหรือเลือดไหลออกจากรูหู
- ได้ยินเสียงในหู หูอื้อ ได้ยินไม่ชัด หรือสูญเสียการได้ยินอย่างฉับพลัน
- มีไข้
- คลื่นไส้ อาเจียน และเวียนศีรษะ
นอกจากนี้ อาจมีอาการติดเชื้อในหูชั้นกลาง เช่น ปวดหู มีของเหลวไหลจากหู การได้ยินลดลง ในเด็กเล็กอาจร้องไห้งอแง มีไข้สูง ไม่ยอมดื่มนมหรือรับประทานอาหาร
แก้วหูทะลุรักษาอย่างไร
อาการแก้วหูทะลุอาจหายได้เองภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล และยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และประคบร้อนด้วยการใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณหูวันละ 2–3 ครั้ง เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหู รวมถึงควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการแคะหูและการใช้ยาหยอดหูเองโดยที่แพทย์ไม่ได้อนุญาต เนื่องจากยาหยอดหูบางชนิดอาจทำลายเส้นประสาทในหู ทำให้อาการรุนแรงขึ้น
- ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรง ๆ เพราะจะทำให้รู้สึกปวดหูจากความดันในหูที่เพิ่มขึ้น และอาการแก้วหูทะลุหายช้าลง
- ระวังไม่ให้น้ำเข้าหู โดยใช้สำลีชุบปิโตรเลียมเจลลี่หรือที่อุดหูที่ทำจากซิลิโคนกันน้ำอุดหูขณะอาบน้ำ และงดว่ายน้ำจนกว่าจะหายดี
หากมีอาการติดเชื้อในหู แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานหรือชนิดหยอดหู เพื่อฆ่าเชื้อและป้องกันการติดเชื้อใหม่ คนที่มีอาการแก้วหูทะลุรุนแรงและอาการไม่ดีขึ้นหลังรักษาด้วยวิธีข้างต้น อาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยการปลูกเยื่อแก้วหู (Eardrum Patch) เพื่อให้รอยฉีกหรือแก้วหูที่ทะลุสมานกัน หรือการผ่าตัดปะแก้วหู (Tympanoplasty) หากมีอาการรุนแรงมาก
ป้องกันแก้วหูทะลุอย่างไรดี
การป้องกันแก้วหูทะลุทำได้โดยไม่ใช้นิ้วมือ คอตตอนบัด หรืออุปกรณ์ใด ๆ แคะหู เนื่องจากขึ้หูสามารถหลุดได้เองตามธรรมชาติ การแคะหูอาจดันขี้หูเข้าไปลึกจนทำให้หูอื้อ แก้วหูอักเสบจากการที่มีขี้หูติดที่แก้วหูเป็นเวลานาน หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่หูชั้นนอกหากมีรอยถลอกจากการแคะหู ในบ้านที่มีเด็กเล็ก ผู้ปกครองควรสอนเด็กไม่ให้นำสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบินขณะมีอาการคัดจมูกจากหวัด ไซนัสอักเสบ และภูมิแพ้ เพราะแก้วหูอาจได้รับความเสียหายจากแรงดันอากาศได้ง่าย ในขณะที่เครื่องบินขึ้นและลง ควรใช้ที่อุดหู เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือหาว เพื่อช่วยป้องกันอาการหูอื้อจากแรงดันอากาศที่เปลี่ยนแปลงฉับพลัน และหากอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง ควรใส่ที่ปิดหูป้องกันเสียงดังเสมอ
แก้วหูทะลุมักหายได้เองหลังดูแลตัวเองที่บ้านโดยไม่ต้องรับการรักษา แต่หากมีอาการปวดหูอย่างรุนแรงหลายวัน มีหนองหรือเลือดไหลจากรูหู และมีอาการติดเชื้อในหู ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจและรักษา