หูเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่รับเสียง โดยโครงสร้างหูแบ่งเป็น 3 ชั้น ได้แก่ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน นับตั้งแต่ใบหูที่อยู่ด้านนอกไปจนถึงกล้ามเนื้อ กระดูก และเส้นประสาทที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนภายในหู หูแต่ละชั้นจะมีส่วนประกอบและหน้าที่ที่แตกต่างกัน
นอกจากทำหน้าที่รับเสียงแล้ว หูยังมีหน้าที่สำคัญคือการรักษาสมดุลร่างกายในการทรงตัว หากเกิดความผิดปกติภายในหูอาจกระทบต่อการได้ยิน อาจทำให้เวียนศีรษะ บ้านหมุน และไม่สามารถทรงตัวได้ตามปกติ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก การทำความเข้าใจโครงสร้างของหูจะทำให้เราเข้าใจสาเหตุและป้องกันความผิดปกติที่อาจเกิดกับหูได้
โครงสร้างหูประกอบด้วยอะไรบ้าง
โครงสร้างหูแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน ซึ่งหูทั้ง 3 ชั้นทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน และมีเพียงหูชั้นในเท่านั้นที่ทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัวไปด้วย โดยหูแต่ละชั้นมีองค์ประกอบและการทำงานแตกต่างกัน ดังนี้
หูชั้นนอก
ใบหูของเรามีรูปทรงคล้ายเปลือกหอยที่มีโครงสร้างเป็นกระดูกอ่อน อยู่ด้านข้างของศีรษะ ทำหน้าที่รับและรวบรวมคลื่นเสียงผ่านช่องหูที่มีลักษณะเป็นท่อยาวเข้าไปสู่เยื่อแก้วหู (Eardrum) ซึ่งมีลักษณะเป็นเยื่อบาง ๆ กั้นระหว่างหูชั้นนอกกับหูชั้นกลางที่สามารถสั่นได้เมื่อได้รับคลื่นเสียง
ภายในช่องหูจะมีขนอ่อนที่ช่วยป้องกันสิ่งแปลกปลอมอย่างฝุ่นละอองหรือแมลงเข้าไปภายในรูหู และมีต่อมสร้างไขมันมาเคลือบเพื่อไม่ให้ผนังรูหูแห้งและเกิดความเสียหายบริเวณแก้วหู
หูชั้นกลาง
ถัดจากส่วนหูชั้นนอกจะพบกับหูชั้นกลางที่มีลักษณะเป็นโพรง ประกอบด้วยกระดูก 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกฆ้อน (Malleus) กระดูกทั่ง (Incus) และกระดูกโกลน (Stapes) โดยกระดูกทั้ง 3 ชิ้นจะเชื่อมติดกันด้วยเอ็นยึดเพื่อนำคลื่นเสียงเข้าสู่หูชั้นใน
หูชั้นกลางนี้อยู่ใกล้กับกับโพรงจมูกและมีท่อติดต่อกับคอหอยที่เรียกว่า ท่อยูสเตเชียน (Eustachian Tube หรือ Auditory Tube) ซึ่งปกติแล้วท่อนี้จะขยับเปิดเมื่อเคี้ยวหรือกลืนอาหาร เพื่อปรับความดัน 2 ด้านของเยื่อแก้วหูให้เท่ากัน
นอกจากนี้ หูชั้นกลางยังติดต่อกับหูชั้นในทางช่องรูปไข่ (Oval Window) และช่องรูปกลม (Round Window) โดยมีเยื่อบาง ๆ กั้นอยู่ ซึ่งช่วยให้หูชั้นกลางทำหน้าที่ขยายเสียง และป้องกันการได้รับอันตรายจากเสียงดังได้ดี
หูชั้นใน
หูชั้นในทำหน้าที่รับเสียงและควบคุมการทรงตัวของร่างกาย ประกอบด้วยส่วนรับเสียงที่เรียกว่า โคเคลีย (Cochlea) มีลักษณะเป็นท่อยาวขดซ้อนกันเป็นรูปก้นหอย
ส่วนสำคัญในหูชั้นในอีกส่วนหนึ่งคือ ท่อครึ่งวงกลม (Semicircular Canal) และส่วนที่ควบคุมการทรงตัว (Vestibule) อันประกอบด้วยแซกคูล (Saccule) และยูตริเคิล (Utricle) ซึ่งภายในมีของเหลวบรรจุอยู่ เมื่อของเหลวดังกล่าวมีการไหลจะกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกให้รู้ว่าขณะนี้ร่างกายอยู่ในตำแหน่งใดเพื่อช่วยในการทรงตัว
นอกจากนี้ ในหูชั้นในประกอบด้วยเซลล์ขน (Hair Cell) ที่สามารถจับความรู้สึกเมื่อร่างกายเคลื่อนไหว และส่งกระแสประสาทไปยังสมองส่วนต่าง ๆ แล้วสมองจะส่งคำสั่งมาควบคุมการทรงตัวของร่างกายอีกต่อหนึ่ง
โครงสร้างหูและความผิดปกติในหู
โรคและความผิดปกติที่ส่งผลต่อการได้ยินและการทรงตัวมีหลายโรคและมีความรุนแรงแตกต่างกัน โดยอาจเกิดจากพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่หู การอักเสบ การติดเชื้อ และสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งโรคหูที่พบบ่อยมีดังนี้
- ขี้หูอุดตัน (Cerumen Impaction) เป็นภาวะที่ขี้หูสะสมอยู่ที่หูชั้นนอกในปริมาณมาก ทำให้รู้สึกหูอื้อ อาจทำให้ปวดหู และความสามารถในการได้ยินลดลง
- หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis Externa) เกิดจากการติดเชื้อในหูชั้นนอก และอาจเกิดจากบาดเจ็บขณะแคะ ทำให้เกิดอาการใบหูบวม ปวดหู หูอื้อ และมีของเหลวไหลออกจากหู
- หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media) มีทั้งอาการเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งอาการชนิดเฉียบพลันพบได้บ่อยในเด็กที่เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัดและไซนัสอักเสบ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้แก้วหูทะลุ และอาการอักเสบเรื้อรังได้
- แก้วหูทะลุ (Ruptured Eardrum) เป็นภาวะที่เยื่อแก้วหูฉีกขาดจากหลายสาเหตุ เช่น การได้รับบาดเจ็บ แรงสั่นสะเทือน และการบาดเจ็บจากการแคะหู ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดหู ได้ยินเสียงในหู และต่อมาจะมีหนองไหลจากหูได้
- หูอื้อ (Tinnitus) หรือการได้ยินเสียงในหูที่อาจเกิดขึ้นจากการสูญเสียการได้ยิน การติดเชื้อในช่องหู การบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความผิดปกติบริเวณหู เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere's Disease) ท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ (Eustachian Tube Dysfunction) และโรคหินปูนเกาะกระดูกหู (Otosclerosis)
- บ้านหมุน (Vertigo) เป็นอาการเวียนศีรษะที่ไม่สามารถทรงตัวได้ และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ หรือได้ยินเสียงวิ้งในหูร่วมด้วย โดยอาจเกิดจากความผิดปกติในโครงสร้างหูชั้นต่าง ๆ หรือโรคทางระบบประสาท
- ขี้ไคลที่หูชั้นกลาง (Cholesteatoma) เกิดจากการได้รับบาดเจ็บ การติดเชื้อ และการผ่าตัดหูที่ทำให้แก้วหูเกิดความเสียหาย จึงเกิดเป็นถุงที่ทำให้ขี้ไคลหรือเซลล์ผิวที่ตายแล้วเข้าไปสะสมภายใน แม้จะเป็นภาวะที่พบได้ยาก แต่หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดความเสียหายภายในหูและอาจทำให้หูหนวกได้
- หูหนวก (Hearing Loss) หรือภาวะสูญเสียการได้ยิน เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอายุที่มากขึ้น การได้รับบาดเจ็บ การติดเชื้อที่หู และโรคหูต่าง ๆ ที่อาจทำให้การที่เสียงไม่สามารถผ่านจากหูชั้นนอกไปสู่หูชั้นในได้ หรือเกิดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับหูชั้นใน ส่งผลให้ผู้ป่วยเริ่มไม่ได้ยินเสียงและหูหนวกในที่สุด
โครงสร้างหูประกอบด้วยหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน ซึ่งทำหน้าที่รับเสียงและควบคุมความสมดุลของร่างกายในการทรงตัว หากเกิดความผิดปกติที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของหูอาจส่งผลต่อการได้ยินและการทรงตัวได้
ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำร้ายหู เช่น การฟังเพลงเสียงดังที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อหู และการใช้นิ้วหรืออุปกรณ์อื่นแคะหู ซึ่งอาจทำให้ขี้หูถูกเข้าไปลึกขึ้น เกิดแผลที่ช่องหู หรือแก้วหูทะลุ เพราะการป้องกันเหล่านี้มีความสำคัญในการช่วยให้การได้ยินเป็นปกติได้ในระยะยาว