โทษของสุราต่อสุขภาพมีหลายด้าน ทั้งอาการที่เกิดขึ้นไม่นานหลังดื่มสุรา เช่น การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ พฤติกรรม และการรับรู้ ไปจนถึงผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวหากดื่มสุราเป็นประจำ เช่น ปัญหาต่อระบบย่อยอาหาร ตับ ตับอ่อน หัวใจ สมอง ระบบสืบพันธุ์ สภาวะจิตใจ และคุณภาพชีวิตโดยรวม
หลายคนเข้าใจว่าการดื่มสุราปริมาณน้อย ๆ หรือดื่มไม่เกินหน่วยมาตรฐาน (Standard Drink) ที่แนะนำต่อวันจะไม่ส่งผลเสียใด ๆ ต่อสุขภาพ แต่ความจริงแล้ว การดื่มปริมาณน้อยก็อาจเกิดโทษต่อสุขภาพได้ นอกจากนั้น หากยิ่งดื่มปริมาณมากและดื่มเป็นประจำก็จะยิ่งมีผลเสียต่อสุขภาพเร็วขึ้น และมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังและการเสียชีวิตได้
รู้ทันโทษของสุรา
โทษของสุราต่อร่างกายมีหลายด้าน ดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์และพฤติกรรม
โทษของสุราประเภทนี้จะเกิดขึ้นภายในเวลาไม่นานหลังดื่ม ในระยะแรกที่เริ่มดื่ม มักจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย มีความสุข บางคนอาจมีอารมณ์แปรปรวน เช่น เศร้าเสียใจ หงุดหงิดง่าย ตัดสินใจโดยไม่ยั้งคิด หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น
- พูดยานคาง คุยเก่งกว่าปกติ พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง หรือส่งเสียงโวยวาย
- การรับรู้ลดลง ตาพร่า ได้ยินเสียงรอบข้างไม่ชัดเจน
- ทรงตัวไม่อยู่ เดินเซ มักจะหกล้มหากไม่มีคนประคอง
- ง่วงนอน หลับโดยไม่รู้ตัว มักจะจำเรื่องราวหลังตื่นไม่ได้เลยหรือจำได้ไม่ชัดเจน
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมเหล่านี้ อาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง การทะเลาะวิวาทกับคนรอบข้าง และอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งทำให้ตัวเองและผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
บางคนอาจมีอาการเมาค้าง (Hangover) ซึ่งมักเกิดขึ้นตอนเช้าหลังการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากคืนก่อนหน้า เช่น ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเร็วและดีขึ้นได้เองเมื่อเวลาผ่านไป
2. โรคตับ
โทษของสุราต่อตับในระยะแรกคือทำให้ตับสลายไขมันได้น้อยลง ไขมันจึงสะสมในตับ นำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งช่วงแรกอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่หากดื่มสุราปริมาณมากเป็นประจำจะทำให้ตับโต และเกิดการอักเสบ
หากยังดื่มสุราอย่างต่อเนื่องและไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดการสะสมของพังผืดในตับ ทำให้เกิดภาวะตับแข็งที่ทำให้ตับเสียหายถาวร ซึ่งอาจทำให้ตับวาย และนำไปสู่มะเร็งตับได้
3. โรคอ้วนลงพุง
น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเป็นโทษของสุราอีกข้อหนึ่งที่เกิดจากหลายปัจจัย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากอาจทำให้ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกายสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของระบบเผาผลาญ และทำให้รู้สึกหิวง่าย และอยากรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังทำให้ตับลดการเผาผลาญไขมันลง เพื่อไปกำจัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายแทน จึงอาจทำให้เกิดไขมันสะสมที่หน้าท้องมากขึ้น และนำไปสู่ภาวะอ้วนลงพุง นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ 1 กรัม จะให้พลังงาน 7 แคลอรี หากดื่มสุราที่ผสมน้ำเชื่อมหรือน้ำผลไม้ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วนมากขึ้น
4. โรคเกี่ยวกับตับอ่อน
โทษของสุราส่งผลโดยตรงต่อตับอ่อน โดยสารที่เกิดระหว่างกระบวนการย่อยสลายแอลกอฮอล์จะมีพิษต่อตับอ่อน ทำให้เซลล์ของตับอ่อนถูกทำลาย จึงเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ ซึ่งหากดื่มสุราอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง และอาจนำไปสู่โรคมะเร็งตับอ่อนได้
5. ปัญหาระบบการย่อยอาหาร
การดื่มสุราปริมาณมากอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบย่อยอาหาร เช่น ท้องอืด แน่นท้อง มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก ท้องเสีย ท้องผูก ซึ่งอาจนำไปสู่โรคริดสีดวงทวาร และแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic Ulcer)
นอกจากนี้ การดื่มสุรายังไปขัดขวางการย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ในลำไส้ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหาร หากดื่มสุราอย่างหนักเป็นเวลานานและไม่ได้รับการรักษา
6. โรคเบาหวาน
ตับอ่อนทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินที่ช่วยควบคุมกระบวนการทำงานของน้ำตาลในร่างกาย โทษของสุราอาจทำให้ตับอ่อนอักเสบเรื้อรังและเกิดความเสียหายจนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานตามมา
7. โรคหัวใจและหลอดเลือด
การดื่มสุราเป็นประจำจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำได้ยากขึ้น นำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือด หัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ
นอกจากนี้ โทษของสุราอาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย และภาวะโลหิตจางเนื่องจากการดื่มสุราจะทำให้การดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ จากอาหารที่เรารับประทานน้อยลง
8. ปัญหาการนอนหลับ สมอง และสุขภาพจิต
การดื่มสุราส่งผลเสียต่อคุณภาพของการนอนหลับในระยะยาว และทำให้ความสามารถเกี่ยวกับความคิด การตัดสินใจ และความจำแย่ลง และอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคทางสมอง เช่น ความจำเสื่อม
นอกจากนี้ คนที่มีโรคจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคไบโพลาร์ และกลุ่มอาการผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับที่ดื่มสุราเป็นประจำ อาจทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่แย่ลงได้
9. ปัญหาระบบสืบพันธุ์ และอันตรายต่อทารก
โทษของสุราส่งผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์หลายด้าน เช่น การผลิตฮอร์โมนเพศผิดปกติ รอบเดือนผิดปกติ ความต้องการทางเพศลดลง เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะมีบุตรยากได้
การดื่มสุราขณะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อตัวผู้ดื่ม แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการแท้ง คลอดก่อนกำหนด ภาวะตายคลอด (Stillbirth) และความผิดปกติทางสติปัญญา พัฒนาการ และการเรียนรู้ของทารกหลังคลอด
10. ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง
โทษของสุราส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยผู้ที่ดื่มสุราอย่างหนักเป็นประจำจะมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อและเกิดอาการเจ็บป่วยง่ายขึ้น เช่น ปอดบวม และวัณโรค มากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม
นอกจากนี้ โทษของสุรายังอาจทำให้เกิดมะเร็งชนิดอื่น ๆ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งช่องปาก ลำคอ และหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่
11. พิษสุราเรื้อรัง และภาวะถอนพิษสุรา
โทษของสุราข้อนี้อาจเกิดกับผู้ที่ดื่มสุราปริมาณมากเป็นประจำจนร่างกายเคยชินกับปริมาณแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจทำให้เกิดความอยากดื่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และนำไปสู่ภาวะติดสุราได้
หากยังดื่มสุราปริมาณมากอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถเลิกดื่มได้ อาจก่อให้เกิดภาวะพิษสุราเรื้อรัง หากเลิกดื่มอย่างกะทันหันอาจอาการถอนพิษสุรา (Alcohol Withdrawal) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ทั้งนี้ วิธีการลดความเสี่ยงของการเกิดโทษของสุรา คือหลีกเลี่ยงการดื่มสุราตอนท้องว่าง ค่อย ๆ ดื่มทีละน้อย โดยไม่ดื่มกับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือยา และดื่มน้ำเปล่าตามมาก ๆ รวมทั้งไม่ขับขี่ยานพาหนะหลังดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดผลเสียต่อสุขภาพและอุบัติเหตุหลังการดื่มสุรา
หากต้องการเลิกเหล้า หรือมีอาการติดสุรา ควรปรึกษาแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อหรือหน่วยงานที่ช่วยแนะนำวิธีเลิกดื่มสุราอย่างเหมาะสม เช่น สายด่วน 1413 ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด