ไข้ในเด็กเป็นอาการป่วยที่พบได้บ่อย โดยเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงกว่าปกติชั่วคราว ซึ่งไข้ในเด็กมักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย รวมถึงอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ เช่น ทอนซิลอักเสบ อีสุกอีใส และผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน
โดยทั่วไป อุณหภูมิร่างกายปกติจะอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส โดยอาจสูงหรือต่ำกว่าเล็กน้อย เมื่อมีไข้จะทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัว หนาวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว เหงื่อออกมาก ร้องไห้งอแง อาเจียน และนอนมากกว่าปกติ แม้ไข้ในเด็กมักดีขึ้นได้เอง แต่ผู้ปกครองควรสังเกตอาการและรู้วิธีรับมือเมื่อลูกมีไข้อย่างเหมาะสม
สังเกตอาการไข้ในเด็ก
นอกจากการสังเกตอาการผิดปกติของเด็ก การใช้มือแตะที่หน้าผากก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้รู้ในเบื้องต้นว่าเด็กมีไข้ และควรใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิร่างกายของเด็ก ซึ่งเทอร์โมมิเตอร์ที่ใช้วัดไข้จะมีหลายรูปแบบด้วยกัน
โดยแนะนำให้ผู้ปกครองใช้เทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิทัลเพราะใช้งานง่าย เมื่อวัดไข้เสร็จจะมีเสียงเตือนและสามารถอ่านค่าอุณหภูมิได้ละเอียดกว่าการใช้ปรอทวัดไข้ธรรมดา ซึ่งก่อนใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ให้เด็กควรทำความสะอาดฆ่าเชื้อก่อนเสมอ
สำหรับการวัดไข้ให้เด็กจะมี 3 วิธี ดังนี้
- การวัดไข้ทางทวารหนัก เหมาะกับเด็กอายุไม่เกิน 3 เดือน เริ่มจากทาสารหล่อลื่น เช่น ปิโตรเลียมเจลลี่ที่เทอร์โมมิเตอร์ ให้เด็กนอนคว่ำลงบนตักและสอดเทอร์โมมิเตอร์เข้าไปในก้นเด็ก ลึกประมาณ 0.5–1 นิ้ว วิธีนี้ควรทำอย่างระมัดระวัง หากสอดเทอร์โมมิเตอร์ลึกเกินไปอาจทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บ
- การวัดไข้ทางรักแร้ เหมาะกับเด็กที่อายุ 3 เดือนขึ้นไป โดยสอดเทอร์โมมิเตอร์ไว้ใต้รักแร้เด็ก ระวังไม่ให้ปลายปรอทวัดไข้โผล่พ้นรักแร้ด้านหลัง เพราะอาจได้ค่าอุณหภูมิไม่ถูกต้อง จับแขนเด็กลงให้หนีบเทอร์โมมิเตอร์ไว้ รอสักครู่แล้วจึงอ่านค่าที่ได้
- การวัดไข้ทางหู เหมาะกับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป การใช้เทอร์โมมิเตอร์ชนิดวัดไข้ทางหูโดยเฉพาะเป็นวิธีที่สะดวกและวัดผลได้แม่นยำ สามารถวัดไข้ได้ขณะเด็กนอนหลับ โดยสอดเทอร์โมมิเตอร์ในรูหูของเด็ก รอสักครู่แล้วจึงอ่านค่าที่ได้
- การวัดไข้ทางปาก เหมาะสำหรับเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป โดยให้วางปรอทไว้ใต้ลิ้นประมาณ 1 นาที จากนั้นจึงอ่านค่าอุณหภูมิที่ได้
ตำแหน่งในการวัดไข้แต่ละจุดอาจมีค่าอุณหภูมิต่างกัน เช่น การวัดทางทวารหนักจะมีอุณหภูมิสูงกว่าการวัดทางปากและรักแร้ อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีอายุต่ำกว่า 3 เดือน และมีอุณหภูมิสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส และเด็กโตที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
นอกจากนี้ หากเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีมีไข้เกิน 24 ชั่วโมง หรือเด็กอายุมากกว่า 2 ปีมีไข้เกิน 72 ชั่วโมง และเกิดอาการผิดปกติ เช่น ไม่ยอมดื่มน้ำ ท้องเสียและอาเจียนต่อเนื่อง เจ็บคอ มีผื่น ปัสสาวะน้อยและรู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ มีไข้บ่อย แม้แต่ละครั้งจะเป็นเวลาไม่นาน
รวมทั้งเด็กที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) และโรคหัวใจ ควรพาไปพบแพทย์เช่นกัน
รับมือไข้ในเด็กอย่างไรดี
ไข้ในเด็กอาจหายได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา หากเด็กยังสามารถรับประทานอาหารและเล่นได้ตามปกติ โดยผู้ปกครองอาจช่วยบรรเทาอาการไข้ให้เด็กด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- ให้เด็กจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนที่ดื่มนมแม่ ควรเสริมนมแม่ให้มากขึ้นกว่าปริมาณปกติ ส่วนเด็กที่ดื่มนมผงไม่ต้องให้นมเสริม เด็กที่ดื่มน้ำเพียงพอแต่ไม่อยากรับประทานอาหารถือเป็นเรื่องปกติ ไม่จำเป็นต้องบังคับให้เด็กรับประทานอาหารแต่อย่างใด
- เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ไม่ควรให้เด็กอาบน้ำเย็นหรือเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น โดยเช็ดจากศีรษะไล่ลงไป โดยเฉพาะซอกคอ รักแร้ และขาหนีบที่เป็นจุดรวมความร้อน และเปลี่ยนผ้าเมื่อรู้สึกว่าผ้าเริ่มอุ่นหรือน้ำเริ่มแห้ง ผู้ปกครองอาจใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาด ๆ สอดไว้ที่รักแร้หรือซอกขาหนีบ เพื่อช่วยระบายความร้อนจากร่างกายอีกทางหนึ่ง
- ให้เด็กสวมชุดที่ใส่สบายและระบายความร้อนในร่างกายได้ดี ห่มผ้าห่มที่ไม่หนามาก ห้องนอนไม่ควรร้อนหรือหนาวเกินไป หากอากาศร้อนอาจเปิดพัดลมเป่าระบายอากาศได้ แต่ไม่ควรหันมาให้โดนตัวเด็กโดยตรง
- ให้เด็กพักผ่อนและเดินเล่นอยู่ในบ้าน ไม่ควรออกไปวิ่งเล่นกลางแจ้งเพราะอาจทำให้ไข้หายช้าลง
- หากเด็กมีไข้จากโรคที่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่และอีสุกอีใส ควรแยกเด็กที่มีไข้จากเด็กคนอื่น ๆ รวมทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น มะเร็ง
- หากเด็กมีอาการท้องเสียหรืออาเจียน ควรสอบถามแพทย์เกี่ยวกับการใช้เกลือแร่สำหรับเด็กโดยเฉพาะ ไม่ควรให้เด็กดื่มเกลือแร่ที่ใช้ทดแทนการเสียเหงื่อจากการสำหรับออกกำลังกาย (Sport Drink)
ยาลดไข้สำหรับเด็กอย่างพาราเซตามอล มีทั้งยาหยด ยาน้ำเชื่อม ยาเม็ด และยาเหน็บทวารหนัก ซึ่งจะคำนวณปริมาณยาตามน้ำหนักตัวของเด็ก ผู้ปกครองจึงควรให้ยาตามฉลากยาหรือตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร โดยห้ามให้ยาลดไข้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีโดยไม่ปรึกษาแพทย์ สำหรับเด็กที่มีไข้ไม่สูงและไม่มีอาการกระวนกระวายหรือไม่สบายตัวอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาลดไข้ก็ได้
เด็กบางคนอาจมีอาการชักจากการมีไข้สูง (Febrile Seizures) ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย หากเด็กมีอาการชักให้ผู้ปกครองค่อย ๆ พลิกตัวเด็กให้นอนตะแคง ห้ามนำสิ่งของใด ๆ เข้าปากเด็ก และหากมีอาการชักเกิน 5 นาทีให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที
ไข้ในเด็กมักเป็นอาการที่ไม่รุนแรงและดีขึ้นได้เองภายในเวลาสั้น ๆ ผู้ปกครองจึงไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีลดไข้หรือการใช้ยาลดไข้ ควรปรึกษาแพทย์
ทั้งนี้ หากไข้ไม่ลดลงแม้จะเช็ดตัวหรือรับประทานยาแล้ว และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 วัน หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ร้องไห้ไม่หยุด มีผื่นสีม่วงแดง ผิวหนัง ริมฝีปาก เล็บ หรือลิ้นเป็นสีเขียวคล้ำ คอแข็ง และปวดหัวอย่างรุนแรง ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที