การเลือกบริโภคผลไม้บำรุงตับเป็นการดูแลสุขภาพจากภายในอีกวิธีหนึ่ง เพราะตับถือเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและระบบการเผาผลาญ หากตับสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม และสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยหรือการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้ด้วย
ผลไม้ส่วนใหญ่มีใยอาหารในปริมาณมาก ซึ่งใยอาหารมีส่วนสำคัญในการช่วยลดการสะสมไขมันในตับ อีกทั้งผลไม้หลายชนิดยังเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) หรือโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่อาจมีคุณสมบัติช่วยป้องกันการอักเสบเสียหายของตับได้ ดังนั้น การบริโภคผลไม้จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับตับ เช่น โรคไขมันพอกตับ หรือโรคมะเร็งตับได้
ผลไม้บำรุงตับที่ควรรับประทาน
ผลไม้ที่อาจมีประสิทธิภาพในการช่วยเสริมการทำงานของตับมีดังนี้
1. แอปเปิ้ล
แอปเปิ้ลเป็นผลไม้ที่มีใยอาหารสูง และยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอล ซึ่งใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระนี้มีอาจสามารถป้องกันหรือรักษาโรคไขมันพอกตับได้ โดยแอปเปิ้ลขนาดกลาง 1 ผลมีใยอาหารประมาณ 4 กรัม และส่วนที่มีใยอาหารมากที่สุดคือบริเวณเปลือก ดังนั้น จึงควรรับประทานแอปเปิ้ลทั้งเปลือกเพื่อให้ได้รับใยอาหารอย่างเต็มที่และเกิดประโยชน์สุขภาพมากที่สุด
2. มะม่วง
มะม่วงอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มแคโรทีนอยด์อย่างเบต้าแคโรทีน และสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มโพลีฟีนอลอย่างแมงจิเฟอริน (Mangiferin) กรดแกลลิก (Gallic Acid) และแอนโทไซยานิน ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้จะช่วยปกป้องเซลล์ไม่ให้เกิดการอักเสบเสียหายจากปฏิกิริยาของสารอนุมูลอิสระภายในร่างกาย อีกทั้งยังช่วยบำรุงตับให้มีสุขภาพดีด้วย
3. ส้ม
ส้มเป็นผลไม้ที่มีใยอาหารสูงอีกชนิดหนึ่ง โดยส้ม 1 ผลมีใยอาหารประมาณ 2 กรัม หรือคิดเป็น 10% ของปริมาณใยอาหารที่ร่างกายควรได้รับใน 1 วัน อีกทั้งผลไม้รสเปรี้ยวอย่างส้มยังมีสารต้านอนุมูลอิสระแคโรทีนอยด์ที่มีสรรพคุณช่วยป้องกันการอักเสบของตับด้วย ส้มถือว่าเป็นผลไม้บำรุงตับที่หารับประทานได้ง่ายและมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการเลยทีเดียว
4. องุ่น
องุ่นโดยเฉพาะองุ่นที่มีสีแดงและสีม่วงจะเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแอนโทไซยานิน เรสเวอราทรอล (Resveratrol) และเควอซิทิน ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้อาจมีคุณสมบัติในการช่วยลดหรือป้องกันการอักเสบเสียหายของเซลล์ในร่างกาย จึงอาจช่วยลดโรคหรือปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับตับได้
นอกจากนี้ งานวิจัยในสัตว์ทดลองยังพบอีกว่าสารต้านอนุมูลอิสระแอนโทไซยานินอาจมีประสิทธิภาพในการช่วยลดปริมาณไขมันในตับได้ด้วย แต่งานวิจัยนี้ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์อีกมาก
5. เกรปฟรุต
เกรปฟรุต (Grapefruit) อาจเป็นผลไม้บำรุงตับที่หลายคนไม่รู้จักหรือนึกไม่ถึง แต่เกรปฟรุตเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ 2 ชนิด คือนารินเจนิน (Naringenin) และนารินจิน (Naringin) ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระ 2 ชนิดนี้มีสรรพคุณในการช่วยลดการเกิดผังผืดในตับที่อาจมีสาเหตุมาจากการอักเสบเรื้องบริเวณตับ ซึ่งภาวะนี้มีความอันตรายและอาจนำไปสู่การเกิดโรคเกี่ยวกับตับต่าง ๆ ได้เลยทีเดียว
6. แตงโม
แตงโมอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น ไลโคปีน แคโรทีนอยด์ และวิตามินซี ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้มีประโยชน์ในการบำรุงตับให้มีสุขภาพดี และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ด้วย แตงโมจึงเป็นผลไม้บำรุงตับที่มีรสชาติหวานอร่อย ให้ความสดชื่น ช่วยเติมน้ำให้แก่ร่างกาย และยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกหลายประการเลยทีเดียว
7. มะเขือเทศ
มะเขือเทศสุกที่มีสีแดงสดจะอุดมไปด้วยไลโคปีนและเบต้าแคโรทีน ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยปกป้องเซลล์ไม่ให้อักเสบเสียหาย และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ ทั้งนี้ ควรเลือกรับประทานมะเขือเทศผลสดทั้งเปลือกมากกว่าการรับประทานมะเขือเทศแปรรูปหรือน้ำมะเขือเทศ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อการบำรุงตับอย่างครบถ้วน
8. อะโวคาโด
อะโวคาโดอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นไขมันดีที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไขมันพอกตับชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้ อีกทั้ง งานวิจัยยังพบอีกว่าหากผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้วรับประทานอะโวคาโด ก็อาจช่วยลดความเสียหายของตับที่เป็นผลกระทบหนึ่งของโรคนี้ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมอีกมากเช่นกัน
9. บลูเบอร์รี่
บลูเบอร์รี่เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ชนิดหนึ่งซึ่งอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลายชนิด เช่น แอนโทไซยานินในกลุ่มโพลีฟีนอล ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้อาจสามารถช่วยบำรุงสุขภาพของตับ ไม่ให้เกิดการอักเสบเสียหายจากปฏิกิริยาของอนุมูลอิสระภายในร่างกาย อีกทั้งยังอาจช่วยยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งที่ตับได้ด้วย
10. แครนเบอร์รี่
แครนเบอร์รี่เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่เช่นเดียวกัน แครนเบอร์รี่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีสรรพคุณในการต้านการอักเสบของเซลล์ภายในร่างกาย รวมถึงช่วยบำรุงตับให้มีสุขภาพดี เช่น สารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มโพลีฟีนอลอย่างเควอซิทิน (Quercetin) ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้จะพบมากในเปลือกของผลแครนเบอร์รี่ จึงควรรับประทานทั้งเปลือกเพื่อให้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ สำหรับผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic fatty liver disease: NAFLD) มีงานวิจัยพบว่าการรับประทานแครนเบอร์รี่เสริมต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน อาจช่วยให้อาการไขมันพอกตับดีขึ้นได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับประทานด้วย
อย่างไรก็ตาม คุณควรเลือกรับประทานผลไม้สดทั้งผลแทนการดื่มน้ำผลไม้หรืออาหารเสริมที่สกัดมาจากผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้รับใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วน และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพจากปริมาณน้ำตาลที่อยู่ในน้ำผลไม้ และผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการรับประทานอาหารเสริมด้วย