วิธีแก้อาการบ้านหมุนเบื้องต้นที่สามารถทำได้เองที่บ้านมีหลายวิธี เช่น การนั่งพัก การใช้ท่าบริหารร่างกาย และการปรับพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการ อาการบ้านหมุนที่ไม่รุนแรงอาจดีขึ้นหลังจากดูแลตัวเอง แต่หากอาการไม่ดีขึ้น มีอาการบ้านหมุนบ่อย หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาเพิ่มเติม
บ้านหมุนเป็นอาการที่ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนตัวเองหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนทั้งที่ตัวเองไม่ได้เคลื่อนไหว ซึ่งทำให้เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และเสียการทรงตัว อาการบ้านหมุนมักเกิดจากความผิดปกติของหู ระบบประสาท และโรคอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำตามวิธีแก้อาการบ้านหมุนเบื้องต้นอาจช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้
วิธีแก้อาการบ้านหมุนเบื้องต้น
วิธีแก้อาการบ้านหมุนเบื้องต้นที่สามารถทำได้เองที่บ้าน มีดังนี้
1. หยุดอยู่กับที่
วิธีแก้อาการบ้านหมุนเบื้องต้นคือการหยุดนิ่งอยู่กับที่ โดยนั่งหรือนอนพักทันทีเมื่อเริ่มรู้สึกเวียนศีรษะ หากเวียนศีรษะขณะกำลังขับรถ ควรหยุดรถข้างทาง หรือหยุดการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
ควรนอนพักผ่อนในห้องที่เงียบและมืดสนิท ขณะที่นอนพักควรใช้หมอนหนุน 2 ใบ เพื่อยกศีรษะให้สูง ซึ่งจะช่วยให้อาการเวียนศีรษะดีขึ้น
2. กายบริหารด้วยวิธี Epley Maneuver
Epley Maneuver เป็นวิธีบริหารร่างกายที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ที่บ้าน ประกอบด้วยท่าบริหารที่เคลื่อนศีรษะไป 4 ทิศทาง ซึ่งช่วยบรรเทาอาการบ้านหมุนจากโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo) โดยมีขั้นตอนดังนี้
- เตรียมหมอนวางไว้บนเตียง กะระยะให้หมอนรองบริเวณระหว่างไหล่ได้พอดีเมื่อนอนลง
- นั่งลงตามแนวยาวของเตียง หันศีรษะไปด้านข้างที่มีอาการ เช่น หากอาการบ้านหมุนเกิดจากหูซ้าย ให้หันหน้าไปทางซ้าย 45 องศา
- นอนหงายลงอย่างรวดเร็ว โดยให้ไหล่วางบนหมอนที่เตรียมไว้ ค้างอยู่ในท่าเอียงศีรษะเช่นเดิมค้างไว้ 30 วินาที
- หันหน้าไปทางขวา 45 องศา หรือเท่ากับหันจากตำแหน่งเดิม 90 องศา ทำค้างไว้อีก 30 วินาทีโดยยังไม่ยกศีรษะขึ้น
- เปลี่ยนท่าเป็นนอนตะแคงขวา โดยพลิกลำตัวด้านขวาลงที่เตียงขณะที่ค้างศีรษะไว้ในท่าเดิม นอนนิ่ง ๆ 30 วินาที
- ค่อย ๆ ลุกขึ้นนั่งข้างเตียง กลับมาอยู่ในท่าศีรษะตรง
3. กายบริหารด้วยวิธี Semont Maneuver
Semont-Toupet Maneuver เป็นวิธีแก้อาการบ้านหมุนเบื้องต้นที่ประกอบด้วยท่าทางคล้ายกายบริหารด้วยวิธี Epley Maneuver แต่จะใช้การพลิกตัวตะแคงซ้ายและขวาอย่างรวดเร็ว โดยใช้การหันศีรษะน้อยกว่า หากอาการบ้านหมุนเกิดจากหูซ้าย มีขั้นตอนการกายบริหาร ดังนี้
- นั่งลงที่ขอบเตียง ศีรษะหันไปด้านขวา 45 องศา
- ค้างศีรษะไว้พร้อมกับเอียงตัวตะแคงซ้ายลงบนเตียงอย่างรวดเร็ว อยู่ในท่านี้ประมาณ 1 นาที
- เปลี่ยนท่าเป็นนอนตะแคงขวาอย่างรวดเร็ว โดยที่ยังค้างศีรษะไว้ในท่าเดิม เท่ากับว่า ณ ขณะนี้ใบหน้าจะเหลียวมองลงที่พื้น นอนนิ่ง ๆ ค้างไว้ 1 นาที
- ค่อย ๆ ลุกขึ้นนั่งกลับมาอยู่ในท่าปกติ
- ทำซ้ำขั้นตอนข้างต้นกับหูด้านขวาที่ไม่มีอาการ
4. กายบริหารด้วยวิธี Brandt-Daroff
Brandt-Daroff เป็นวิธีแก้อาการบ้านหมุนเบื้องต้นที่ทำได้ง่ายที่บ้าน หากอาการบ้านหมุนเกิดจากหูซ้าย มีขั้นตอนการกายบริหาร ดังนี้
- นั่งบนเตียง ยืดหลังให้ตรง ห้อยขาลงกับพื้น
- หันศีรษะไปทางขวา 45 องศา เอนตัวลงนอนโดยให้ลำตัวด้านซ้ายลงกับเตียง และยังห้อยขากับพื้นเช่นเดิม ทำค้างไว้ 30 วินาที หรือจนกว่าอาการบ้านหมุนจะดีขึ้น
- ค่อย ๆ ลุกขึ้นนั่งในท่าเริ่มต้น
- ทำซ้ำขั้นตอนข้างต้นกับหูด้านขวาที่ไม่มีอาการ
ในระหว่างการทำกายบริหารอาจมีอาการมึนงงและเวียนศีรษะเล็กน้อย จึงควรทำขณะอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย เช่น บนเตียงหรือโซฟา ไม่ควรทำขณะขับรถ เพราะอาจเป็นอันตรายได้
5. ระมัดระวังการขยับตัว
วิธีแก้อาการบ้านหมุนเบื้องต้นที่ผู้ป่วยควรรู้คือการเคลื่อนไหวร่างกายด้วยความระมัดระวัง เช่น หากตื่นกลางดึก ควรเปิดไฟให้มีแสงสว่างเพียงพอสำหรับการเดิน หลังตื่นนอนควรลุกจากเตียงช้า ๆ หลีกเลี่ยงการก้มตัวเพื่อยกของ เพื่อป้องกันการหกล้มจากอาการบ้านหมุน
นอกจากนี้ ไม่ควรออกกำลังกายที่ใช้การหันศีรษะมาก เช่น การว่ายน้ำ และกรณีที่ผู้ป่วยทรงตัวไม่ดีและมีความเสี่ยงที่จะหกล้มสูง ควรใช้ไม้เท้าช่วยเดิน
6. ออกกำลังกายเพิ่มความยืดหยุ่น
การเล่นโยคะ และไทเก๊ก (Tai Chi) เป็นการออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ร่างกาย และช่วยเสริมความแข็งแรงในการทรงตัว จึงเป็นวิธีแก้อาการบ้านหมุนเบื้องต้นได้ ผู้ป่วยควรเริ่มจากท่าที่ทำได้ง่ายและไม่หันศีรษะหรือก้ม ๆ เงย ๆ ซึ่งอาจทำให้เวียนศีรษะมากขึ้น เช่น
- ท่าศพ (Corpse Pose) โดยนอนหงาย ฝ่ามือหงายขึ้นและวางแขนราบไปกับลำตัว แยกขาออกสบาย ๆ หลับตาลง หายใจเข้าออกช้า ๆ พร้อมกับผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้าและลำตัวทีละส่วน
- ท่าเด็ก (Child’s Pose) โดยนั่งบนส้นเท้า ยื่นแขนทั้งสองไปข้างหน้า ค่อย ๆ โน้มตัวลงให้หน้าผากแตะพื้น วางอกให้ชิดหัวเข่าเท่าที่จะทำได้ หายใจเข้าออกช้า ๆ
7. ผ่อนคลายความเครียด
การรับมือกับความเครียดเป็นวิธีแก้อาการบ้านหมุนเบื้องต้นที่ได้ผลดี เพราะความเครียดอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุน เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere's Disease) ผู้ป่วยควรผ่อนคลายความเครียดด้วยการนั่งสมาธิ ฝึกลมหายใจ ออกกำลังกายเบา ๆ และสูดดมกลิ่นหรือนวดตัวด้วยน้ำมันหอมระเหย เช่น น้ำมันเปปเปอร์มินต์ ลาเวนเดอร์ เลมอน และขิง ซึ่งช่วยให้ผ่อนคลายและบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ
8. ใส่ใจการรับประทานอาหาร
อาหารบางอย่างอาจกระตุ้นให้เกิดอาการบ้านหมุนได้ ผู้ป่วยควรจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและโซเดียมสูง หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ และดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำที่อาจทำให้เกิดภาวะบ้านหมุนตามมา
ผู้ป่วยบ้านหมุนที่เกิดจากโรคไมเกรนควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารไทรามีน (Tyramine) เช่น ไส้กรอก เบคอน ชีส โยเกิร์ต ผักดอง กล้วยหอม ส้ม และสับปะรด และช็อกโกแลต เนื่องจากสารไทรามีนอาจกระตุ้นให้เกิดบ้านหมุนจากไมเกรนได้
9. พักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนไม่พออาจทำให้มีอาการอ่อนเพลียและอาการวิงเวียนศีรษะ การนอนหลับให้เพียงพอจึงเป็นวิธีแก้อาการบ้านหมุนเบื้องต้นที่มีประสิทธิภาพ โดยทั่วไป ผู้ใหญ่ควรนอนหลับให้ได้ 7–9 ชั่วโมงต่อวัน หากรู้สึกอ่อนเพลียหรือเวียนศีรษะในระหว่างวัน ควรหยุดกิจกรรมที่กำลังทำอยู่และงีบหลับในช่วงสั้น ๆ อาจช่วยให้อาการบ้านหมุนดีขึ้น
10. รับประทานอาหารเสริม
การรับประทานวิตามินเสริมและสมุนไพรบางชนิดอาจเป็นวิธีแก้อาการบ้านหมุนเบื้องต้นได้ เช่น ขิง ซึ่งมีคุณสมบัติบรรเทาอาการเวียนศีรษะ แปะก๊วย (Ginkgo Biloba) ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ตามปกติและบรรเทาอาการบ้านหมุน แคลเซียมและวิตามินดีที่ช่วยป้องกันการเกิดอาการบ้านหมุนซ้ำ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานสมุนไพรและอาหารเสริมทุกชนิด โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาชนิดใดอยู่ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
หลายคนปฏิบัติตามวิธีแก้อาการบ้านหมุนเบื้องต้นแล้วอาจมีอาการดีขึ้น แต่กรณีที่มีอาการบ้านหมุนบ่อย เวียนศีรษะแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด เนื่องจากอาการบ้านหมุนเกิดได้จากหลายสาเหตุและมีวิธีรักษาที่แตกต่างกัน เช่น การใช้ยา กายภาพบำบัด และการผ่าตัด